“สมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทย” ยื่น “นายกฯ-ปธ.กมธ.การศึกษา สภา” ค้านสถาบันคุรุศึกษา รอฟังคำตอบ 15 ต.ค.นี้ หากไม่เป็นผลเตรียมระดมพลเคลื่อนไหว ฝั่ง “สมพงษ์ จิตระดับ” ชี้ นายกฯ ควรเปิดกว้างฟังความเห็นองค์กรครู บ้าง ไม่ใช่เชื่อแต่ “วิจิตร-สมหวัง” ระบุ ปฏิรูปรอบ 2 ไม่ใช่ตั้งองค์กรมหาชน มาผลาญงบเล่น เปรียบจะกลายเป็นสุสานคนเกษียณอายุราชการ คนหลุดตำแหน่งใหญ่ กลุ่มผูกขาดอำนาจการศึกษา ครู นักเรียนไม่ได้ประโยชน์
วันนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น.ที่รัฐสภา นายสนอง ทาหอม ประธานสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย พร้อมแกนนำองค์กรครู ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนรับ พร้อมทั้งมอบหนังสือคัดค้านดังกล่าว ต่อ ดร.อภิชาต การิกาญจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดย นายสนอง กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือ ว่า นายถาวร และ ดร.อภิชาต บอกว่า ยินดีรับฟังความเห็นและจะใช้พิจารณาในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ซึ่งองค์กรครูจะกลับมาทวงถามคำตอบในวันที่ 15 ต.ค.นี้ และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะทำการเคลื่อนไหวต่อไป
ด้านรศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนอยากให้นายกรัฐมนตรี เปิดใจรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาจากองค์กรเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติและอยู่กับปัญหาโดยตรง ไม่ใช่รับฟังแต่กลุ่มผูกขาดการปฏิรูปการศึกษา เช่น ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นต้น
ทั้งนี้ การปฎิรูปการศึกษารอบ 2 ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าครูเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ แต่ไม่ใช่การจัดการโดยตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมาใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแล้ว สถาบันคุรุศึกษา แห่งนี้ ยังจะกลายเป็นสุสานที่รวมตัวของผู้ที่หลุดจากตำแหน่งใหญ่ๆ และอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการมาจากคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากต่อวงการศึกษา เพราะจะมีการผูกขาดแนวคิดและอำนาจในการผลิตครูทั้งระบบไว้ในที่แห่งเดียว ที่แทบจะไม่มีประโยชน์ต่อครูและนักเรียนเลย
“เงินงบประมาณปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงเป็นเงินเดือนของอธิการบดีสถาบันคุรุศึกษา อีกว่า 100,000-300,000 บาทต่อเดือน และยังมีเบี้ยประชุมครั้งละ 10,000 กว่าบาท เป็นจุดดึงดูดให้คนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันขึ้น เพื่อจะได้เข้ามานั่งเก้าอี้อธิการบดีของสถาบันคุรุศึกษาฯ ที่มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ซึ่งคิดว่าหากรัฐบาลมีเงินมากพอที่จะนำมาจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นใหม่ ควรนำเงินดังกล่าวไปพัฒนานักเรียน ครู ในโรงเรียน 32,000 แห่งทั่วประเทศ โดยลดภาระงานด้านเอกสาร และธุรการของครูลง เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนได้อย่างเต็มที่จะดีกว่า” รศ.สมพงษ์กล่าว