“สถาบันคุรุศึกษา” เป็นหมัน! ที่ประชุม สกศ.ก้มหน้ารับหน้าที่ผลิตครูควรยกให้เป็นหน้าที่สถาบันการศึกษา พร้อมมีมติพับโครงการหันจัดตั้ง “คณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ” แทน “จุรินทร์” ระบุ บทบาทหน้าที่เน้นพัฒนาวิชาชีพครูเป็นหลัก เร่ง สกอ.จัดทำ TQF คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อกรอบมาตรฐานผลิตครู
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสภาการศึกษา(สกศ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมสภาการศึกษา ในประเด็นการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมในวันนี้ส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการจัดตั้งเป็นในรูปของคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ที่ให้เน้นการใช้ทรัพยากร นำมาบูรณาการใช้ประโยชน์ ให้มีความคุ้มค่า โดยภารกิจของคณะกรรมการคุรุศึกษาฯ ที่จะตั้งขึ้นนั้น จะดูในเรื่องของการพัฒนาวิชาชีพครูเป็นหลัก จะทำอย่างไรให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งความเห็นทั้งหมดได้มอบให้ สกศ. รวบรวมรายละเอียดพร้อมทั้งยกร่างสรุปกลับมานำเสนอที่ประชุมครั้งหน้าอีกครั้ง ทั้งในเรื่ององค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และส่วนอื่นๆ
“ที่ประชุมพูดกันพอสมควรว่าในการผลิตครูนั้นควรยกให้เป็นหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่วนของรายละเอียดขอให้ สกศ.ทำต้นเรื่องมาก่อน แล้วอาจมีการขอความเห็นในการจัดตั้งเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนความเห็นที่ประชุมส่วนใหญ่กว่า 90% ก็คล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันที่ต้องการเห็นการตั้งเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ ส่วนจะอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใดใน ศธ.ก็ต้องรอให้ สกศ.ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง” รมว.ศธ.กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ระหว่างนี้งานที่ดำเนินการอยู่ก็จะมีการเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะงานทางด้านนโยบายทั้งในส่วนของการผลิตและพัฒนาครู ที่มีความคืบหน้าหลายเรื่อง เช่น การเร่งรัดให้คณะกรรมการวางแผนการผลิตและพัฒนาและบุคลากรทางการศึกษา ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน โดยแจ้งให้ทราบว่าจะได้ข้อสรุป ในเรื่องของการวางแผนผลิตครู และครูของครูในอนาคต ว่าต้องผลิตเป็นจำนวนเท่าไร ภายในกรอบ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผลิตในสาขาวิชาใดเป็นจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ได้มีข้อตกลงกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ศึกษา 71 สถาบันทั่วประเทศ ว่าในข้อสรุปต่างๆ คณะจะต้องจะรับไปปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการควบคุมคุณภาพมาตรฐานผลิตครู และครูของครูนั้น จะใช้ TQF ของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในการควบคุมมาตรฐาน ทั้งนี้ได้เร่งให้ สกอ.จัดทำ TQF สำหรับสาขาวิชาคุรุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ ก่อนนำไปประกาศใช้เพื่อให้การผลิตบัณฑิตครูเป็นไปตามกรอบมาตรฐานตามที่ สกอ.กำหนด
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้เร่งให้คุรุสภา ดำเนินการตามหน้าให้ครบถ้วนตามกฎหมายให้อำนาจไว้ให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยที่ก่อนหน้านี้คุรุสภาจะเน้นไปในเรื่องของการออกใบอนุญาต แต่มี 2 เรื่องที่ยังขาดความเข้มข้นคือเรื่องจรรยาบรรณ และ การลงโทษ ครูที่ทำความผิด จึงต้องเน้นใน 2 เรื่องนี้เพื่มเติม สำหรับการผลิตครูพันธุ์ใหม่นั้นขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จแล้วเหลือเพียงแค่การรอเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าที่ประชุมยอมรับว่าการตั้งสถาบันคุรุศึกษามีความซ้ำซ้อนในภาระหน้าที่ของการผลิตครู นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่มีใครมีความเห็นว่าควรมีสภาบันอื่นขึ้นมาผลิตครูเพิ่ม ทั้งนี้ มีการนำความเห็นของหลายหน่วยงานมาประกอบการพิจารณา เช่นความเห็นของ สกศ. สกอ.และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.ม.ราชภัฏ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการพิจารณาด้วย
เมื่อถามว่าในเนื้องานหลายๆ อย่างมีเจ้าประจำรับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการคุรุศึกษาฯ ชุดนี้จะมีงานน้อยไปหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า สกศ.จะไปดูอีกครั้งว่ามีอำนาจ หน้าที่อย่างไร ซึ่งที่ประชุมจะให้ความเห็นอีกครั้ง แต่ไม่อยากให้สรุปว่างานเหลือน้อยเหลือมากอยากให้รอสรุปอีกครั้งหนึ่ง