xs
xsm
sm
md
lg

มอ.ผนึก กทช.ทุ่มงบ 74 ล้านพัฒนาระบบ E-learning เพิ่มโอกาสการศึกษานักเรียน 5 จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.สงขลานครินทร์ ผนึกกำลัง กทช.เดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ นร.ระดับ ม.ปลายใน 3 จชต.ทุ่มงบกว่า 74 ล้านพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบ E-learning เพิ่มประสิทธิภาพทั้งการส่งสัญญาณภาพและเสียงหลังจากดำเนินการมาแล้ว 2 ปี โดยเนื้อหาครอบคลุม 6 วิชาหลักผ่านการสอน 2 รูปแบบ การสอนแบบ Real time Interactive ที่มีโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ และวิทยาเขต มอ.ทั้ง 5 วิทยาเขต เป็นโรงเรียนต้นทางในการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังโรงเรียนปลายทางและวิทยาลัยชุมชนทั้ง 9 แห่งใน 5 จังหวัดใต้

จากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียนให้ตกต่ำ มีโอกาสสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่านักเรียนจังหวัดอื่นๆ ด้วยสาเหตุทั้งการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ขาดครูทีมีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา

ล่าสุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการดำเนินโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 74,497,600 ล้านบาท พัฒนาระบบการสอนทางไกลหรือ E-learning โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

รศ.ดร.ธวัช ชิตตระการ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มอ.ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมวิชาพื้นฐานสำหรับนักเรียนในพื้นที่จุดเสี่ยงภาคใต้ด้วยกระบวนการ E-learning มาเป็นเวลา 2 ปี แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งจากมหาวิทยาลัยไซเบอร์และจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ตรงกับความต้องการของนักเรียนในพื้นที่ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส

อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 มหาวิทยาลัย ได้มีแนวนโยบายที่จะดำเนินการให้ต่อเนื่อง เพราะจะเป็นการช่วยเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนในจุดเสี่ยง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังมีปัญหาความไม่สงบ ทำให้ครูที่มีความรู้และประสบการณ์ต้องออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้เรียนผ่านสื่อโดยผู้สอนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนักเรียนในพื้นที่อื่นๆ

รศ.ดร.ธวัช กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับการดำเนินการตามโครงการนี้ มอ.จะปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของระบบการส่งสัญญาณ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาและอุปสรรคด้านเทคนิค เช่น สัญญาณภาพที่ส่งไปยังปลายทางไม่คมชัดหรือสะดุด โดยมั่นใจว่างบประมาณที่จะได้รับการจัดสรรในครั้งนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพทั้งภาพและเสียงของการเรียนการสอน และมีระบบสำรองเพื่อให้ความมั่นใจว่าสัญญาณภาพที่ส่งไปยังปลายทางจะยังชัดเจนตลอดเวลา รวมถึงยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการถามคำถามของนักเรียนส่งกลับมายังผู้สอนให้ดีขึ้น และจะสร้างความพร้อมให้กับโรงเรียนปลายทาง พร้อมกับกระจายจุดให้การเรียนการสอนลงสู่ระดับที่ย่อยลงไป เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางมารวมศูนย์ที่จังหวัดเป็นครั้งคราวเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นจะมีการสร้างบรรยากาศของห้องเรียนปลายทางให้มีบรรยากาศของห้องเรียนจริงๆ โดยพัฒนาครูผู้สอนที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้เป็นระบบ สามารถจะตอบปัญหานักเรียนได้ทันทีนอกเหนือจากที่ได้รับจากวิทยากรหลักที่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย


“ในการดำเนินการครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะใช้ศักยภาพของคณาจารย์ทั้ง 5 วิทยาเขต และฝ่ายสนับสนุนคือศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อการเรียนรู้ โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการศึกษา และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรการเรียนรู้ เป็นผู้ดูแลสื่อและตารางเรียน ให้เป็นไปตามที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งโอกาสนี้ ต้องขอขอบคุณ กทช. ที่ให้การสนับสนุน และเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะของนักเรียนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมหาวิทยาลัยเชื่อว่า การศึกษาจะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในระยะยาว เพราะเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้เยาวชนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่าบุตรหลานจะได้มีโอกาสรับการศึกษาเท่าเทียมนักเรียนในพื้นที่อื่น” รศ.ดร.ธวัช กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อรัญญา เชาวลิต รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการศึกษา ม.อ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการเรียนการสอนภายใต้โครงการดังกล่าว มอ.จะให้การสนับสนุนในเรื่องของบุคลากรผู้สอนที่จะครอบคลุมเนื้อหา 6 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ผ่านการสอน 2 รูปแบบ ได้แก่

การสอนแบบ Real time Interactive ที่มีโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ และวิทยาเขต มอ.ทั้ง 5 วิทยาเขต เป็นโรงเรียนต้นทางในการถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังโรงเรียนปลายทางและวิทยาลัยชุมชนทั้ง 9 แห่งได้แก่ วิทยาลัยชุมชนยะลา, วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส, วิทยาลัยชุมชนปัตตานี, วิทยาลัยชุมชนสงขลา, วิทยาลัยชุมชนสตูล, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, โรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี และโรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน

ซึ่งห้องเรียนปลายทางส่วนใหญ่สามารถรองรับนักเรียนได้ประมาณ 200 คน ดังนั้น คาดว่าในปีแรกของการดำเนินโครงการจะมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน ส่วนปี 2554-2555 จะขยายห้องเรียนปลายทางเพิ่มอีกปีละ 5 โรงเรียน รวมทั้งเรียนปลายทาง 19 แห่ง ทั้งนี้ ห้องเรียนที่ มอ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยตรงสามารถเป็นทั้งห้องเรียนต้นทางและห้องเรียนปลายทางสำหรับนักเรียนใน จ.ปัตตานีได้อีก 1 แห่ง

ส่วนรูปแบบที่ 2 จะเป็นการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เป็นสื่ออิเล็คทรอนิกส์ที่มีภาพเคลื่อนไหวและเอกสารประกอบการสอนให้นักเรียนสามารถศึกษาด้วยตัวเอง โดยจะมีแบบทดสอบวัดความรู้ให้วัดผล ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับการเรียนการสอนให้แก่เด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น