xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:สนข.ปลุกกระแสท่องเที่ยวเส้นทางน่าน-หลวงพระบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่านแนว North-South Economic Corridor ชูเส้นทาง น่าน-หลวงพระบาง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมบ้านพี่-เมืองน้อง ระหว่างไทยและลาว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน  นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า แนว North-South Economic Corridor ที่ จ.น่าน จะมีจุดผ่านแดนถาวรที่ด่านบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ติดต่อกับบ้านน้ำเงิน เมืองเงิน

แขวงไชยะบุรี ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเส้นทางฝั่งไทยยังมีปัญหาผิวทางประมาณ 6 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านผ่านแดน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น อาจจะต้องโอนกลับให้กรมทางหลวงเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเส้นทางในฝั่งประเทศลาวที่กำลังปรับปรุง

“สนข.เห็นว่า เส้นทางดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว โดยการเดินทางจากด่านบ้านห้วยโก๋นมาลงเรือที่ท่าเรือปากห้วยแคน ล่องตามแม่น้ำโขง ประมาณ 5 ชั่วโมงก็ถึงท่าเรือหลวงพระบาง ซึ่งสนข.จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อประสานไปยังกรมทางหลวงให้เข้ามาดูแลเส้นทางฝั่งประเทศไทยช่วงที่ยังมีปัญหาอยู่”นางสร้อยทิพย์กล่าว

โดยการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้มีความสะดวกมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.น่าน ได้เป็นอย่างเดียว เพราะจะเกิดการเติบโตทั้งด้านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ซึ่งมีบริษัทไทยได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าที่ลาว “หงสาลิกไนต์”จะเริ่มก่อสร้างในปี 2553 ซึ่งจะมีทั้งแรงงานและการขนส่งวัสดุก่อสร้าง ผ่านเข้าออกด่านห้วยโก๋น และในคณะกรรมาธิการร่วมไทย-ลาว

ทางลาวได้เสนอขอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ ปากแบง-อุดมไชยให้ ซึ่ง แขวงอุดมไชย เป็นจุดที่สามารถเชื่อมไปยังหลวงพระบาง และเมืองเดียนเบียนฟู ของเวียดนาม และอีกเส้นทางเชื่อมไปที่เมืองบ่อเต็น-บ่อหาน –เชียงรุ่ง –คุนหมิง ของจีนได้ “ดังนั้น จ. น่านของไทยจะเป็นอีกประตูหนึ่งที่เชื่อมสู่ลาว,เวียดนามและจีน “

สำหรับการพัฒนาทางหลวงเชื่อมระหว่างไทย-ลาวที่อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างถนนสายห้วยโก๋น-ปากแบ่ง ระยะทาง 49.2 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 840 ล้านบาทนั้น ครม.มีมติเมื่อ 1 ก.ค. 2546 ให้ความช่วยเหลือลาวแบบให้เปล่า 30% แบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน70% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชียงของ-ห้วยทราย ระยะทาง 11 กิโลเมตรค่าก่อสร้าง 1,400 ล้านบาท ก่อสร้างปี 2552-2554

3.โครงการปรับปรุงถนนในหลวงพระบาง สามแยกถนน 13เหนือ-ถนนสังคโลก ระยะทาง 1,418 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 17.985 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ 4. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่นครพนม ค่าก่อสร้าง 1,347 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกวดราคา

ทั้งนี้เส้นทางในส่วนของไทยทั้งภายในจังหวัดน่านและจากจังหวัดอื่นๆ เชื่อมเข้าจังหวัดน่านนั้น กรมทางหลวง อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงทางหลวงสายหลักเป็น 4 ช่องจราจรเพื่อให้เกิดความสะดวกในหลายเส้นทาง เช่น เวียงสา-น่าน ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 600 ล้านบาท ออกแบบเสร็จแล้ว และขอใช้งบไทยเข้มแข็ง, ทางหลวงหมายเลข 103 ตอนอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ – อำเภองาว จังหวัดลำปาง ระยะทาง 65 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 1,600 ล้านบาท เป็น 4 ช่องจราจร  ซึ่งศึกษาความเหมาะสมแล้ว, ช่วงอุตรดิตถ์-เด่นชัย ระยะทาง 27 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 845 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

สำหรับการค้าชายแดนไทย-ลาวที่ผ่านทางด่านบ้านห้วยโก๋นและด่านบ้านน้ำเงินของลาว มีค่ารวมทั้งสิ้น 135.85 ล้านบาท ส่งออกมูลค่า 50.28 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 85.57 ล้านบาท ซึ่งไทยขาดดุลรวม 35.29 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าไม้จากลาวผ่านทางน่านและพะเยา  ในขณะที่การค้าชายแดนระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดนตอนเหนือ (เชียงราย น่าน และอุตรดิตถ์) ในปี 2549 มีมูลค่า 2,411.01 ล้านบาทไทยส่งออกรวม 1,547.65 ล้านบาท นำเข้ารวม 863.36 ล้านบาท ไทยได้เปรียบลาวมูลค่า 684.29 ล้านบาท

นอกจากนี้ จังหวัดน่าน ยังมี สนามบินซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์สนามบินได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งล่าสุดเมื่อ 1 พ.ย. 2552  สายการบินพีบีแอร์ สายการบินพาณิชย์ที่ให้บริการที่สนามบินน่านเพียงรายเดียวได้หยุดทำการบินแบบไม่มีกำหนด เนื่องจาก มีผู้โดยสารน้อยทำให้ขาดทุน เหลือเพียงเครื่องบิน ทหาร และตำรวจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม  บริษัท สยาม เจเนอรัล เอวิเอชั่น จำกัด ผู้บริหารสายการบิน SGA Airline ได้ยื่นไปที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) เพื่อขอเปิดบินในเส้นทาง เชียงใหม่-น่านไป-กลับ 1 เที่ยวบินต่อวัน โดย SGA แจ้งพร้อมเริ่มเปิดบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2552 โดยจะใช้เครื่องบินแบบ เซสน่า 208บี แกรนด์ คาราแวน (12 ที่นั่ง) ให้บริการ นอกจากนี้ สนามบินน่าน

ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร เพื่อให้มีพื้นที่รองรับการใช้บริการมากขึ้น จากพื้นที่ปัจจุบันประมาณ 1,003 ตารางเมตร รันเวย์ยาว 2,000 เมตร กว้าง 45 เมตร รองรับเครื่องบินแบบโบอิ้ง แบบ 737 ได้ โดยในปี 2551 มีเครื่องบินพาณิชย์ขึ้นลงประจำ 203 เที่ยว มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 12,000 คนซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพของสนามบินน่านในการสนับสนุนจังหวัดน่านให้เป็นศูนย์การบินเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ และเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้กว่า 20% และเชื่อมไปยังเมืองหลวงพระบางของลาว และเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญของเวียดนามและจีน ซึ่ง น่านมีจุดเด่นในด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโบราณสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น