เชียงราย - ธุรกรรมการขนส่งตามแนวเส้นทาง “คุน-มั่ง กงลู่” ผ่าน R3a คึกคัก ยอดส่งออกผ่านด่านฯเชียงของ-ลาว เข้าจีน แค่ครึ่งปีแรกทำยอดมากกว่าปี 51 ตลอดทั้งปีแล้ว ชี้นำมันไทยทะลักเข้าจีนเพียบ เชื่อหลังสะพานข้ามโขง 4 เสร็จ มีคอนเทนเนอร์เข้าออกมากกว่า 200 เที่ยว/วันแน่ แต่ล่าสุดสภาพถนนในลาวเริ่มมีปัญหา ผิวถนนลอก-พื้นทรุดตลอดแนวเส้นทาง
หลังเส้นทาง R3a ที่เป็นส่วนหนึ่งของถนน “คุน-มั่ง กงลู่” เชื่อมคุนหมิง-กรุงเทพฯ เปิดใช้มาได้ 2-3 ปีแล้ว ล่าสุดพบว่า ปริมาณการขนส่งด้วยรถบรรทุกผ่านถนน R3a มีความคึกคักขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งดีเซลหมุนเร็ว-เบนซิน จากไทย ส่งเข้าตลาดจีนตอนใต้คึกคักมากกว่าสินค้าอื่นๆ จนทำให้ท่าเรือเชียงของแออัดขึ้นอย่างถนัดตา
ธุรกรรมการขนส่งที่คึกคักขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถนน R3a เกิดสภาพชำรุดเสียหายอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ โดยเฉพาะในส่วนที่ใกล้กับชายแดนไทย-สปป.ลาว ต้องมีการรื้อและซ่อมแซมใหม่อยู่ตลอด
นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า จุดที่ถนน R3a เสียหายห่างจากเมืองห้วยทรายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร สาเหตุเกิดจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง เมื่อมีฝนตกหนักทำให้เกิดการกัดเซาะได้ง่าย ซึ่งเป็นข้อด้อยของการก่อสร้างถนนในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ มีการขนส่งสินค้าหนาแน่นขึ้นอย่างผิดหูผิดตา โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากเชียงของขึ้นไปยังมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ติดชายแดนจีน-สปป.ลาว และสินค้าอื่นๆ ซึ่งใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถขนน้ำมัน รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และรถบรรทุกทำความเย็น
เขาบอกว่า ตอนนี้มีจุดเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ใน สปป.ลาวแล้ว เพราะคอนเทนเนอร์ของไทยและจีนมีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อมีการขนส่งผ่านแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ รถก็แล่นไปเปลี่ยนถ่ายคอนเทนเนอร์กันที่แขวงบ่อแก้ว 1 จุด และที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดบ่อหาน ประเทศจีน อีก 1 จุด ส่งผลทำให้แต่เดิมมีแพรถบรรทุกที่เชียงของวันละไม่กี่ลำ ก็กลายเป็นวันละหลายสิบลำ คิดว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย แล้วเสร็จในปี 2555 จะทำให้มีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์มากถึงวันละกว่า 200 คันแน่นอน
“ยังนึกไม่ออกว่าถนน R3 a จะรองรับการบรรทุกที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะลำพังแค่ในปัจจุบันก็พังกันแล้ว”
นายสงวนบอกอีกว่า สภาพถนน R3 a เช่นนี้ไม่ได้มีแค่ส่วนที่เอกชนไทยก่อสร้างเท่านั้น แต่ส่วนของ สปป.ลาว คือตอนกลาง และตอนเหนือ ซึ่งเอกชนจีนรับผิดชอบก่อสร้างก็เริ่มชำรุดเสียหายเช่นกัน สาเหตุเพราะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานในการก่อสร้างและปัญหาน้ำกัดเซาะ ฝนตกหนักและอุทกภัยใน สปป.ลาว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แตกต่างจากในอดีต เชื่อว่าต่อไปก็คงจะใช้และซ่อมถนนไปพร้อมๆ กันไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าซ่อมเสร็จจุดนี้แล้วจะเสียหายจุดใดอีก โดยช่วงต้นอาจจะอาศัยการรับประกันจากเอกชนในการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดไปก่อน แต่ในอนาคตเชื่อว่าทั้ง 3 ชาติที่ร่วมกันก่อสร้างถนน R3a คือไทย สปป.ลาว และจีน คงจะมีการหารือกันเพื่อหาวิธียกมาตรฐานการก่อสร้าง
ส่วนในมุมมองของเอกชน ตนเห็นว่าควรจะมีการประเมินความคุ้มค่าในการขนส่งด้วย เพราะสภาพปัจจุบันคือนอกจากสภาพถนนจะเริ่มชำรุดยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันเรื่องการอำนวยความสะดวกระหว่างถนน R3a ทางเรือในแม่น้ำโขง และทางถนน R3 b (ไทย-พม่า-จีนตอนใต้) ผ่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จะได้ตัดสินใจว่าจะซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่อย่างไรดี
เขาบอกอีกว่า ที่จริงเขาอยากให้สร้างเหมือนถนนจากเมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ถึงชายแดน สปป.ลาว คือเมื่อถึงภูเขาก็เจาะอุโมงค์และเมื่อถึงหน้าผาก็สร้างสะพานข้ามไปเลย แต่ก็ต้องประเมินความคุ้มค่าควบคู่กับการอำนวยความสะดวกกันใหม่ด้วย และในการหารือกันในอนาคตก็ควรพึ่งเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนน R3a บ่อยครั้งมากเพราะรถบรรทุกไม่ชำนาญเส้นทาง การไม่จำกัดโควตาสินค้าพืชเกษตรในมณฑลตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะตามข้อตกลงการค้าปลอดภาษีหรือ FTA ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เป็นต้น
นายประสาธน์ กิตตินา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สภาพถนน R3 a ระหว่างเมืองห้วยทรายตรงกันข้าม อ.เชียงของ-เมืองเวียงภูคา ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ขณะนี้เสียหายหนัก โดยผิวถนนลอกและใต้ผิวทรุดจนทำให้เป็นหลุม-บ่อ จนเอกชนไทยที่เข้าไปสัมปทานก่อสร้างต้องทำการซ่อมแซมกันอย่างขนานใหญ่
สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเปิดใช้ถนน และบรรดารถบรรทุกต่างพากันไปใช้เพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างไทย-จีน ที่คึกคักขึ้นมาก น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ถนนชำรุดเสียหาย และอีกเหตุผลหนึ่งคือมาตรฐานการก่อสร้างของไทยต่างจากของเอกชนจีนซึ่งก่อสร้างถนนสายเดียวกัน แต่อยู่ทางตอนเหนือติดชายแดนจีน-สปป.ลาว โดยเอกชนจีนมีการทำขอบถนนก่อนจากนั้นจึงเทแอสฟัลต์ลงไปขณะที่ของเอกชนไทยทำแบบถนนหลังเต่า
นายประสาธน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเกิดจากภูมิประเทศระหว่างห้วยทราย-เวียงภูคา เป็นภูเขาสูงและคดเคี้ยว ทำให้ไหล่ทางซึ่งเป็นภูเขาหินตกลงมาใส่ถนน ประกอบกับมีฝนตกหนักและน้ำเซาะถนนอย่างหนัก รวมทั้งสภาพถนนก็ต่างจากพื้นที่ที่ประเทศจีน และ สปป.ลาว รับผิดชอบซึ่งเป็นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ แต่บางส่วนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานในการก่อสร้างด้วย
ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก เพราะปัจจุบันเพิ่งมีการใช้รถบรรทุกแบบธรรมดาทั่วไปเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นบรรทุก 18 ล้อก็ยังเสียหายมากขนาดนี้ หากใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นอาจจะมีปัญหาในอนาคตได้
รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงของแจ้งว่าตลอดปี 2551 มีการส่งออกสินค้าผ่านเชียงของเข้าไปใน สปป.ลาว จำนวน 1,316.97 ล้านบาท นำเข้าจำนวน 956.70 ล้านบาท แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2552 พบว่ามีการส่งออกแล้วจำนวน 1,608.22 ล้านบาท มากกว่าปี 2551 ตลอดทั้งปีเสียอีก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 745.07 ล้านบาท
สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณกว่า 29.4 ล้านลิตร มูลค่า 453.16 ล้านบาท น้ำมันเบนซิน จำนวน 20.18 ล้านลิตร มูลค่า 319.54 ล้านบาท วัสดุก่อสร่าง มูลค่า 155.20 ล้านบาท ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นถ่านหินลิกไนต์ มูลค่า 249.77 ล้านบาท พืชผักจากจีน มูลค่า 130.19 ล้านบาท ดอกไม้จีน มูลค่า 96.67 ล้านบาท ฯลฯ