เชียงราย-ชายแดนเชียงของการค้าคึกคัก หลังเส้นทาง R3a เปิดใช้ ทำยอดนำเข้า-ส่งออก พุ่งทะลุพันล้านต่อปี จากเดิมที่มีมูลค่าการค้าอยู่ในหลักไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น ผักจีนทะลักเกิน100% คาดหลังสะพานข้ามน้ำโขงเชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย เสร็จ เศรษฐกิจชายแดนโตกว่านี้อีกหลายเท่าแน่ เตือนรัฐ-เอกชนไทย เตรียมรับมือก่อนกลายเป็นทางผ่านเท่านั้น
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าหลังจากรัฐบาลไทย-สปป.ลาว-จีน ได้มีข้อตกลงในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเชื่อมกับถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีน ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จนถึงขั้นจัดหาบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2553 ภายใต้งบประมาณรวม 3 ประเทศประมาณ 1,400 บาท ทำให้ธุรกิจแขนงต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าชายแดนระหว่าง 3 ประเทศมีความคึกคักขึ้นทันตาเห็น รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชียงของ ก็เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่เป็นเพียงการค้าชายแดนเพียงเล็กน้อย กลายเป็นการค้ามูลค่านับพันล้านบาทต่อปีแล้ว
นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจที่อ.เชียงของ เปิดเผย ว่า หลังมีการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมที่ชายแดน อ.เชียงของ ครั้งใหญ่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่าเรือในแม่น้ำโขง การสร้างถนน R3a และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชายแดนด้านนี้คึกคักขึ้นอย่างมาก โดยพบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ผ่านด่านศุลกากรเชียงของมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ชนิดสินค้าใหม่ๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น รวมทั้งมีการวางแผนของเอกชนรายต่างๆ ในการรองรับการสร้างสะพานในอนาคตด้วย
นายสงวน กล่าวว่า ในปัจจุบันเริ่มมีเอกชนที่ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทั้งไทยและจีนหันไปใช้ประโยชน์จาก R3a เพิ่มมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่มีการขนส่งเฉพาะทางเรือในแม่น้ำโขงอย่างเดียว โดยรถบรรทุกขนสินค้าจากจีนจะผ่านด่านจีน-สปป.ลาว ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เข้ามาถึงเมืองห้วยทรายเพื่อขนสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ใน สปป.ลาว ตามปกติแล้ว ยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขนส่งกันอย่างเป็นล่ำ เป็นสัน และผลไม้ประเภทมังคุด เงาะ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในจีนตอนใต้ก็เริ่มมีการขนส่งกันมากขึ้น จากที่ในอดีตไม่เคยมีการขนส่งสินค้าเหล่านี้มาก่อน
นักธุรกิจรายใหญ่ที่ อ.เชียงของ รายนี้กล่าวอีกว่า ส่วนสินค้าที่มาจากด่านบ่อหาน-บ่อเต็น ชายแดนจีน-สปป.ลาว ผ่านเข้ามาทางถนน R3A เพื่อส่งเข้าไทยที่ อ.เชียงของ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทพืชผัก โดยพบว่าในรอบ 1-2 ปีที่มีการใช้ถนน R3A โดยเฉพาะในปี 2552 มีรถบรรทุกพืชผักนำมาส่งที่เมืองห้วยทราย และมีรถยนต์บรรทุกสินค้าจากฝั่งประเทศไทย ใช้แพขนานยนต์ข้ามไปบรรทุกสินค้าส่งเข้าไทยต่อไป
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นนี้มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก พ่อค้าทั้งสองประเทศก็มีความมั่นใจในการใช้ถนน R3a มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากในบางครั้งมีการนำรถบรรทุกเปล่าที่ไม่มีสินค้าใดเลยมาจากจีนตอนใต้ เพื่อมาขนสินค้าไทยจากเมืองห้วยทรายขึ้นไปยังประเทศจีน ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการที่มักมีการขนสินค้าทั้งขาขึ้น-ล่อง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสูงสุด" นายสงวน กล่าว
นายสงวน กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าความตื่นตัวในการค้าขายของภาคธุรกิจดังกล่าวเป็นความพยายามในการสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่และเส้นทางรถไฟไทย-สปป.ลาว-จีน ขนานไปกับถนน R3A ในอนาคต แต่หากภาครัฐและเอกชนไทยไม่เตรียมรองรับการเติบโตให้ดีแล้วเมื่อมีการสร้างสะพานแล้วเสร็จ สินค้าก็จะผ่านไปมาโดยที่คนในพื้นที่จะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงของแจ้งว่ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าชายแดนที่ อ.เชียงของ มากขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2546 มีการนำเข้าสินค้ามูลค่า 184.55 ล้านบาท ปี 2547 มีมูลค่า 270.14 ล้านบาท ปี 2548 มีมูลค่า 413.59 ล้านบาท ปี 2549 มีมูลค่า 587.51 ล้านบาท ปี 2550 มีมูลค่า 783.82 ล้านบาท และปี 2552 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551-พฤษภาคม 2552 มีมูลค่ารวมแล้วกว่า 533.17 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขทั้งปีคาดว่าจะมากกว่าปี 2551 แน่นอน
ส่วนการส่งออกพบว่าปี 2546 มีมูลค่า 532.20 ล้านบาท ปี 2547 มีมูลค่า 533.34 ล้านบาท ปี 2548 มีมูลค่า 901.96 ล้านบาท ปี 2549 มีมูลค่า 1,125.45 ล้านบาท ปี 2550 มีมูลค่า 837.94 ล้านบาท ปี 2551 มีมูลค่า 1,316.94 ล้านบาท และปี 2552 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551-พฤษภาคม 2552 มีมูลค่าแล้วกว่า 1,148.63 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีจะมีมูลค่ามากกว่าปีก่อนเช่นกัน
สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นพืชผัก ดอกไม้สด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดอกหญ้า (ก๋ง) ลูกเดือย ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางพารา ผลไม้ ซากกล้วยไม้ ดอกกล้วยไม้ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งพบว่าสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งเดิมมีการนำเข้าและส่งออกน้อยมาก หรือมีการค้าระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับจีนตอนใต้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบว่าสินค้าเหล่านี้เป็นการขนส่งผ่าน R3a มากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาสินค้านำเข้าที่ อ.เชียงของ ส่วนใหญ่จะเป็นถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งเอกชนไทยเข้าไปขุดใน สปป.ลาว มานานแล้ว และไม้แปรรูป เครื่องจักร ฯลฯ และในปี 2550 สินค้าพืชผักจากจีนยังไม่ติด 1 ใน 10 สินค้านำเข้า แต่ปรากฏว่าในปี 2551 เริ่มขยับขึ้นมาเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 8 โดยมีมูลค่ากว่า 23,816,016.47 บาท น้ำหนักกว่า และในปี 2552 นี้กลายเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 2 มูลค่ากว่า 76,191,494.87 บาท
ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยเดิมเคยมีวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ แต่ปัจจุบันหลังจากจีนตอนใต้มีการส่งสินค้าเข้าไปใน สปป.ลาว มีการตั้งฐานการผลิตที่แขวงหลวงน้ำทาชายแดนจีน-สปป.ลาว ได้ทำให้สินค้านี้มีมูลค่าการส่งออกลดลง ทำให้สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทยที่ อ.เชียงของ ยังคงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและเบนซิน