xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนฟื้นฟูร.ฟ.ท. เปิดช่องเอกชนฮุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การอ้างเหตุผลว่าการรถไฟฯ ขาดทุน มีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน ต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ หรือ “แปรรูป” แบบซ่อนรูป ของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นข้ออ้างที่ไม่ได้ศึกษาถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น การขาดทุนของการรถไฟฯ เกิดขึ้นเพราะนโยบายของรัฐบาล และการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น การถ่ายโอนกิจการรถไฟฯ ไปสู่มือเอกชน ยังหมายถึงการเอาธุรกิจลอจิสติกส์ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์มหาศาลใส่พานให้เอกชนเข้ามาตักตวงแทนที่ผลประโยชน์นั้นจะเข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ค่าโดยสารจะถูกปรับขึ้นปีละ 10%
‘ASTV ผู้จัดการ’ สัมภาษณ์ ‘สาวิทย์ แก้วหวาน’ ประธาน สร.ร.ฟ.ท. ซึ่งได้อธิบายถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการขาดทุนของการรถไฟฯ การส่อแสดงถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงความไม่ชอบมาพากลของแผนปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟฯ ที่ยกธุรกิจซึ่งเป็นขุมทรัพย์มหาศาลให้เอกชน

อ้างไร้ประสิทธิภาพ ทั้งที่ขาดทุนเพราะทุจริต
กระทรวงคมนาคม พูดแต่ว่าการรถไฟฯขาดทุน แต่ไม่เคยแจกแจงให้ประชาชนรู้ว่าสาเหตุที่การรถไฟฯขาดทุนนั้นเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ เพราะนโยบายของกระทรวงระบุไว้ชัดว่าเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟในราคาถูก จึงให้ ร.ฟ.ท.จัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
นั่นคือ ปัจจุบันต้นทุนต่อประชาชน 1 คน ที่เดินทางในระยะทาง 1 กิโลเมตร อยู่ที่ 1.60 บาท แต่การรถไฟเก็บค่าโดยสารแค่ 24 สตางค์ต่อกิโลเมตร สำหรับส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายชดเชยให้ ร.ฟ.ท. แต่ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้เลย และจนถึงปัจจุบันเงินชดเชยค้างจ่ายดังกล่าวมียอดรวมสูงถึง 26,000 กว่าล้านบาทแล้ว ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้การรถไฟฯมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ที่ดินทำเลทองผืนงาม แต่เก็บค่าเช่าได้ต่ำสุดๆ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรถไฟจะเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง แต่หากที่ผ่านมามีการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รายได้ส่วนนี้ก็น่าจะเพียงพอที่อุดช่องว่างตรงนี้ได้ แต่ที่ผ่านมา อัตราค่าเช่าที่มีการเรียกเก็บจากเอกชนนั้นต่ำมากอย่างไม่น่าเป็นไปได้
ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินย่านพลโยธินที่ห้างเซ็นทรัลเช่าการรถไฟอยู่นั้น มีพื้นที่ถึง 47 ไร่ สัญญาเช่า 20 ปี ค่าเช่าอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ย่านปทุวัน ซึ่งห้างมาบุญครองเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อที่แค่ 23 ไร่ สัญญาเช่า 20 ปีเหมือนกัน แต่จุฬาฯได้ค่าเช่าถึง 23,000 ล้านบาท
การรถไฟฯมีที่ดินอยู่ทั่วประเทศ อย่างที่ดินของการรถไฟฯในเขตกรุงเทพฯ เช่น ย่านพลโยธิน รัชดาฯ มักกะสัน ล้วนแต่เป็นทำเลทอง ที่ดินมีราคาสูงมาก แต่ที่ผ่านมาการรถไฟฯ มีรายได้จากค่าเช่าที่ดินทั้งหมดเพียงปีละประมาณ 1,000 ล้านเท่านั้น
คำถามจากสหภาพฯ ถึงผู้บริหารการรถไฟฯ คือ การเจรจาต่อรองในการเรียกเก็บค่าเช่าของการรถไฟฯเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ มีนอกมีในหรือเปล่า ?
ที่ผ่านมา การให้เช่าที่ดินในหลายพื้นที่ทางสหภาพฯ ก็เข้าไปตรวจสอบและสามารถดำเนินการให้มีการจัดเก็บค่าในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งทำให้การรถไฟมีรายได้จากส่วนนี้มากขึ้นถึงปีละ 40-50 ล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเมืองก็ผลต่อการดำเนินการตรงนี้
“กรณีตัวอย่างที่ดินของการรถไฟฯที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เข้าถือครองโดยมิชอบนั้น ทางสหภาพการรถไฟฯได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่กลับไม่มีความคืบหน้า พื้นที่แค่ 37 ไร่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกันไม่เสร็จสักที” ประธานสหภาพการรถไฟฯ บอกเล่าถึงสาเหตุต่างๆที่ทำให้การรถไฟประสบปัญหาขาดทุน

ฉกธุรกิจลอติสตกิส์จากมือ ร.ฟ.ท.
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่มีความพยายามและเร่งรีบที่จะแปรรูป ร.ฟ.ท.ในช่วงนี้นั้น เนื่องมาจากปัจจุบันได้มีการพัฒนาเส้นทางและเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรถไฟของประเทศต่างๆในภูมิภาคแถบนี้เข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม
อาทิ การสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่าง จ.หนองคาย ประเทศไทย กับท่านาแล้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือกรณีที่รัฐบาลจีนมีความสนใจจะสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากนครคุณหมิง ประเทศจีน - บ่อหาน สปป.ลาว - เชียงราย ประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับล่าสุดของมณฑลยูนนาน ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้ตั้งงบประมาณปี 2552 ในวงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษารายละเอียดในโครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศกับประเทศจีน
การเชื่อมโยงระบบขนส่งดังกล่าวจะส่งผลให้ธุรกิจลอจิสติกส์ในภูมิภาคแถบนี้เติบโตและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
อีกทั้งในส่วนของภาครัฐก็ให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศเช่นกัน โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาประเทศ ดังนั้นแน่นอนว่าธุรกิจลอจิสติกส์กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลในอนาคตอันใกล้นี้ และการที่เอกชนรายใดรายหนึ่งสามารถเข้ามาครอบครองกิจการเดินรถไฟได้ก็เท่ากับว่าได้เจอขุมทรัพย์มหาศาลนั่นเอง
“ หากการให้บริการของการรถไฟฯสามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆในภูมิภาคแถบนี้ได้ ผู้ประกอบการจะหันมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟกันมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการขนส่งถูกกว่าทางรถยนต์ อีกทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็จะส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าหรือลอจิสติกส์ ที่ใช้เส้นทางรถไฟในการลำเลียงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อนักการเมืองและนักธุรกิจเล็งเห็นผลประโยชน์ตรงนี้ เขาก็หาทางเข้ามาดำเนินกิจการการรถไฟเสียเอง เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับมันมหาศาลมาก” สาวิทย์ ตั้งข้อสังเกต

เป้าหมายเพื่อกำไร ผลักภาระให้ประชาชน
สิ่งที่สหภาพการรถไฟฯ วิตกที่สุด ก็คือ หลังจากที่มีการแปรรูปการรถไฟฯ ผ่านวิธีการที่เรียกว่าการปรับโครงเพื่อมีการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้กิจการการรถไฟซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของชาติถูกผ่องถ่ายไปอยู่ในมือเอกชน และผลที่ตามมาก็คือจะมีการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าภาระเหล่านี้จะต้องตกอยู่กับประชาชน
“ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าถ้าหากเป็นธุรกิจของเอกชน เป้าหมายในการทำธุรกิจของเขาก็อยู่ที่ผลกำไร เขาไม่มาคำนึงหรอกว่าประชาชนจะเดือดร้อนหรือเปล่า ยิ่งเป็นธุรกิจที่ผูกขาดได้โดยไม่มีคู่แข่งอย่างกิจการรถไฟ เขาก็สามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูนี้ระบุชัดว่าจะมีการขึ้นค่าโดยสารรถไฟปีละ 10% เพราะฉะนั้นชะตากรรมของการรถไฟฯก็จะไม่ต่างจาก ปตท. หลังแปรรูปก็มีการขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันจนประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ” สาวิทย์ กล่าวถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังการปรับโครงสร้างของการรถไฟฯ
ทั้งนี้ สิ่งที่สหภาพวิตกก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศที่กำลังกริ่งเกรงว่าหากทุกอย่างดำเนินไปตามแผนฟื้นฟูดังกล่าว ประเทศไทยของเราจะยังคงมีกิจการการรถไฟที่มุ่งให้บริการการคมนาคมขั้นพื้นฐานในราคาถูกแก่ประชาชนโดยไม่ยึดผลกำไรเป็นที่ตั้งเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
ผลกำไรต่างๆซึ่งควรตกเป็นของรัฐเพื่อจะได้นำมาใช้ในการบริหารประเทศก็คงจะถูกผ่องถ่ายไปอยู่ในมือเอกชนอย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งรัฐวิสาหกิจที่กลายสภาพไปเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุนก็จะไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้ เช่นเดียวกับกรณีของปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่สร้างความชอกช้ำใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น