พิษณุโลก – กรมทางหลวงล้มโต๊ะขอเงินกู้ ADB ทำถนนสี่เลนเชื่อมแม่สอด-มุกดาหาร ช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก อ้างรับเงื่อนไขการกู้ไม่ได้ แต่หันมาใช้วิธีเจียดงบแต่ละปีลงแทน งวดแรกใช้งบ 53 ร่วม 900 ล้านทำก่อน 30 กม. ที่เหลือรอหางบปีต่อไป ขณะที่แผนพัฒนาสี่แยกอินโดจีนชะงัก
นายณัฐวุฒิ คงเวชกุล ผู้อำนวยการแขวงการทางพิษณุโลก เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East – West Economic Corridor /EWEC) ว่า โครงการขยายถนนสี่เลน ตามโครงการEWEC ช่วงถนนเอเชียหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทาง 105 กิโลเมตร(กม.) มูลค่า 3,500 ล้านบาท ที่กำลังศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบการขยายถนนโดยบางช่วงที่กินเข้าไปในเขตอุทยานทุ่งแสลงหลวงว่า ที่ผ่านมาหวังจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ กรมทางหลวงตอบว่า ไม่สามารถรับเงื่อนไขรายละเอียดการขอกู้เงินได้ ส่งผลให้โครงการนี้ต้องสะดุดลง
“ถนนสาย 12 หรือ พิษณุโลก – หล่มสัก ที่เชื่อมต่อไปภาคอีสาน ไม่ใช่ปัญหาของ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านหรือไม่ผ่าน เนื่องจากเส้นทางบางตอนผ่านในเขตอุทยานทุ่งแสลวงหลวง เพราะตามมติครม.เดิมในชุดของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีสั่งห้ามขยายถนนเข้าไปในเขตอุทยานฯ แต่เชื่อว่า สามารถแก้ไขได้โดยทำทางลอดให้สัตว์ผ่านได้ แต่บังเอิญว่า กรมทางหลวงไม่รับข้อเสนอจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ทำให้ ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท”
อย่างไรก็ตามล่าสุดกรมทางหลวงแก้ปัญหา โดยการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปี 2553 จำนวน 900 ล้านบาท มาดำเนินก่อสร้างถนนสายพิษณุโลก-หล่มสักในช่วงแรกไปก่อน โดยจะสร้างจากอำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก ระยะทาง 20 กม. และ จาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 10 กม.ซึ่งเป็นถนนช่วงหัว – ท้าย ของโครงการช่วงนี้ ที่ออกแบบเรียบร้อยแล้ว และสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาต้นปีหน้า ส่วนถนนในช่วงตอนกลางๆ จะต้องรองบประมาณในปีต่อๆไป
สำหรับโครงการ East-west Economic Corridor ช่วงจากอ.แม่สอด จ.ตาก ถึงจ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 323 กม. จนถึงขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเป็นถนนสี่เลนแล้ว 148 กม.และยังคงเป็นถนนสองเลนแบบเดิมที่รอการพัฒนาอีกระยะ 175 กม.
ทั้งนี้ถนนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในกรอบการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ที่ ครม.มีมติเมื่อ 29 กรกฎาคม 2540 เห็นชอบในหลักการพัฒนาพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง คือ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่พัฒนา “สี่แยกอินโดจีน”มีพิษณุโลกเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากโดยภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่างที่เชื่อมโยงกับภาคเหนือตอนบน ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นที่ตั้งบนจุดตัด ของเส้นทางจากเหนือสู่ใต้ และจากตะวันออกสู่ตะวันตก ของอินโดจีน โดยมีแนวทางการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ดังนี้
1.ถนนจากพิษณุโลก-นครสวรรค์ เชื่อมผ่านอุตรดิตถ์ ไปเชียงราย เพื่อเชื่อมกับพม่า
2.ถนนจาก พิษณุโลก -สุโขทัย -ตาก อ.แม่สอด
3.ถนนจาก พิษณุโลก -เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ -มุกดาหาร
4.ถนนได้เชื่อมโยงตามแนวเส้นทางที่เรียกว่า East -West Economic Corridor ที่จะสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า-ไทย - ลาว – เวียดนาม
จังหวัดได้เตรียมโครงการรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ดังนี้ จัดตั้งจุดพักครึ่งทาง (Truck Terminal)เพื่อเป็นศูนย์กลาง ขนส่ง-ขนถ่าย สินค้า แล ผู้โดยสารของจังหวัด พิษณุโลก,จัดตั้งศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อรองรับการประชุมระดับ ภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างมุ่งหวังว่า ในอนาคตพิษณุโลกจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า การบริการ และเชื่อมโยง ทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตพิษณุโลกปัจจุบัน จึงมีความเป็นสี่แยกของคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบก ระหว่างประเทศ ในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือเอเชียอาคเนย์ ที่สำคัญ 2 เส้นทาง คือ
1.เส้นทาง จากคุณหมิง (จีน) -เชียงรุ้ง(จีน)-เชียงตุง(พม่า)เชียงตุง(พม่า) –เชียงราย /เชียงราย-แพร่-พิษณุโลก-นครสวรรค์-กรุงเทพฯมุ่งสู่ภาคใต้ ของไทย -ไป มาเลเซีย และสิงคโปร์
2.เส้นทางสะพานเศรษฐกิจที่เรียกว่า ASEAN Landbrigdeจากดานัง(ประเทศเวียดนาม) คือเส้นทาง-เว้ (เวียดนาม -สุวรรณเขต(ลาว) -มุกดาหาร -ขอนแก่น -พิษณุโลก-พิษณุโลก - สุโขทัย -แม่สอด-เมียวดี(พม่า)
โดยทั้ง 2 เส้นทาง มีจุดตัดกันที่จังหวัดพิษณุโลก จึงทำให้กลุ่มจังหวัดในแถบนี้มีสภาพเหมือนพื้นที่เป็นสี่แยกของคาบสมุทรอินโดจีนไปโดยปริยาย ทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสี่แยกดินโดจีน ตั้งอยู่บนจุดตัดโครงการ East-West /North-South Economic Corridor บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 และหมายเลข 11 ส่วน หรือ สี่แยกร้องโพธิ์ ที่เกิดขึ้นในสมัย นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พยายามผลักดันโครงการสี่แยกอินโดจีนเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะเป็นคนพิษณุโลก จึงผลักดันโครงการก่อสร้างปรับภูมิทัศน์บริเวณสี่แยกอินโดจีน เนื้อที่ 9 ไร่
ทั้งนี้ ได้ขอใช้ที่ดินจากกรมทางหลวง ลงทุนไปแล้วด้วยเงินงบประมาณ 10 ล้าน แบ่งเป็นค่าถมดิน 4 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 1 ล้านบาท ที่เหลือคือ ค่าก่อสร้างและตกแต่งอาคารศูนย์ข้อมูล ศูนย์วัฒนธรรม 5 ประเทศ (จีน เวียดนาม พม่า ลาว และมาเลเซีย ) ลานแสดงวัฒนธรรม สถานที่จำหน่ายอาหารและสินค้าโอทอป ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการรับมอบงาน เนื่องจากเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ คือ นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก คนปัจจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับโครงการ
ทำให้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสี่แยกอินโดจีน ไม่มีรูปธรรมหรือกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้น ตามที่วาดฝันว่า พิษณุโลก คือ ศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีนจะมีก็แต่เพียงอาคารว่างเปล่าของศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรม 5 ประเทศ ( จีน เวียดนาม พม่า ลาว และมาเลเซีย ) ไร้กิจกรรมแสดงวัฒนธรรม หรือสถานที่จำหน่ายอาหารและสินค้าโอทอปของทั้ง 5 ประเทศเครือข่าย และวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ยังจะต้องออกแบบแลนด์มาร์ค หลักหมุดบอกพิกัดละติจู-ลองจิจูด ตามแผนการของผู้ว่าราชการจังหวัด คนก่อน ซึ่งวางเป้าหมายว่า จะมีผู้เข้าชมและจอดพักผ่อนไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คน จนเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบริเวณสี่แยกอินโดจีนอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคพลังประชาชน ในฐานะ รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร และนายจุติ ไกรกฤษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาตรวจสอบและติดตาม แผนงานพัฒนาพื้นที่สี่แยกอินโดจีน บริเวณสี่แยกดินโดจีน ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก ได้นำเสนอคณะกรรมธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ถึงข้อมูลการจัดตั้ง ศูนย์กระจายสินค้าสี่แยกอินโดจีน ในปี 2548 ที่ได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยศึกษาและออกแบบระบบลอจิสติกส์ วงเงิน 3 ล้านบาท
ผลการศึกษา เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ Distribution Center ระยะที่ 1 ปี 2548 เป็นต้นไปให้ดำเนินจัดตั้งศูนย์ DC ระยะที่ 2 2550-2560 เป็นศูนย์กลางขนส่งต่อเนื่อง(Multiomodal transportation) ระยะที่ 3 ปี 2550-2560 ศูนย์กลางขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ระยะที่ 4 ศูนย์กลางขนส่งเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้วางแผนตั้งตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดพิษณุโลก และตั้งที่พักรถล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
ส่วนโครงการของ นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ที่บรรจุแผนโครงการศูนย์ลอจิสติกส์ ในแผน 3 ปีของอบจ.พิษณุโลกว่าด้วยการ ก่อสร้างศูนย์พักรถและกระจายสินค้า 4 จุดหรือ 4 มุมเมือง มูลค่าโครงการประมาณ 80 ล้านบาท ตามที่อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรออกแบบไว้แล้วนั้น ยังติดปัญหาหลายๆอย่าง ประเด็นสำคัญคือ การเปลี่ยนนายก อบจ ซึ่งปัจจุบันมีนายสุรินทร์ ฐิติปุญญา เป็น นายกอบจ.พิษณุโลกแทน
ทำเลจุดตัดโครงการ East-West /North-South Economic Corridor บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 และหมายเลข 11 ก็คงยังมีเพียงป้ายบอกทาง ให้คนแวะผ่าน จ.พิษณุโลก เห็นตามเดิม แต่ไร้การขับเคลื่อนตามแผนที่วางไว้