xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “มาร์ค”ปั้นเชียงรายTrade Center น้ำโขง ตั้งศูนย์กระจายสินค้า-ทำรถไฟเด่นชัยเชื่อมจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
เชียงราย – “หม่อมอุ๋ย” ออกโรงจี้รัฐตั้งศูนย์กระจายสินค้า-ทำรถไฟเด่นชัย เชื่อม จีน ปลุกปั้นเมืองพ่อขุนฯเป็น “Trade Center” พร้อมเตือนทุนไทยอย่าทิ้งโอกาสใน สปป.ลาว ที่ยังเปิดรับทุนเทศลงทุนทั้งด้านเกษตรส่งออก – ท่องเที่ยว ชี้ที่ผ่านมาเอกชนไทยมองข้าม “แลนด์ล็อก” ขณะที่นักลงทุนจากชาติอื่นเดินหน้าลงทุนเต็มที่ ล่าสุดเตรียมเปิดเรือนำเที่ยว 6 ดาวจากเชียงของ-หลวงพระบางแล้ว แนะภาคเอกชนไทยจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ 3 ชาติ “ไทย-ลาว-จีน” รับอนาคต ดึงแบงก์จีน-ไทย เจรจาเปิดท่อแลกเปลี่ยนเฉพาะหน้าหนุนการค้า

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “โอกาสและศักยภาพการลงทุนใน สปป.ลาว” ที่โรงแรมเดอะริเวอร์เฮ้าส์ อ.เมือง จ.เชียงราย ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระบุว่า พื้นฐานของไทยในการเข้าไปลงทุนใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว) คือเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับพลังงาน รับลงทุนและจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้ ดำเนินอุตสาหกรรมการเกษตร - หาตลาดร่วม และสุดท้ายคือเชื่อมโยงโครงข่ายการท่องเที่ยว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บรรยายอีกว่า สปป.ลาว มีความสำคัญเพราะเป็นเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ใหม่ต่อการลงทุน รวมทั้งเป็นแลนด์ล็อกที่ต้องอาศัยประเทศไทย แต่การจะเข้าไปลงทุนก็ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ โดยด้านการเกษตรนั้นแตกต่างออกไปจากเดิม พบว่า สปป.ลาว ต้องการให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนด้วยการแปรรูปเพื่อส่งออกแล้วเสร็จใน สปป.ลาว ไม่ใช่การนำวัตถุดิบใน สปป.ลาว มาแปรรูปในไทยเหมือนในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็พบว่ามีเอกชนไทยจำนวนมากเข้าใจและยินดีเข้าไปลงทุนด้านนี้มากขึ้นแล้ว

สำหรับด้านการท่องเที่ยว ไทยมีความถนัดและทำได้ดีอย่างแน่นอน โดยในเรื่องสายการบินเชื่อมไทย-สปป.ลาว ถือว่าน่าสนใจที่สุดโดยเฉพาะเชียงราย มีศักยภาพดีกว่าเชียงใหม่ ที่ถูกผลักดันให้เป็นศูนย์กลางหรือฮับทางการบิน ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงให้เฉพาะเชียงใหม่ทั้งๆ ที่เชียงราย มีความพร้อม เพราะสามารถเชื่อมไปยังเมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เขตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ หรือหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกใน สปป.ลาว ได้ หากมีการเชื่อมโยงการบินเชียงราย-สิบสองปันนา-หลวงพระบาง หรืออื่นๆ ก็จะทำให้เกิดแพกเกจด้านการท่องเที่ยวที่ดีมาก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า ด้านการท่องเที่ยวทางเรือนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการโดยสารที่ดีพอ โดยเฉพาะ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังหลวงพระบาง แต่ทุนไทยไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจังนั้น ปรากฏว่าได้มีกลุ่มทุนอื่นที่กำลังจะเข้าไปลงทุนใหญ่แล้ว โดยตั้งเป้าจะให้ได้เรือโดยสารขนาด 6 ดาว ให้ผู้โดยสารค้างแรมที่เชียงของ 1 คืนก่อนไปหลวงพระบาง ซึ่งตนเห็นว่าธุรกิจด้านนี้น่าลงทุน เพราะกลุ่มเป้าหมายคือคนต่างชาติที่พร้อมจะจ่ายเพื่อความสะดวกสบายอยู่แล้ว

ด้านทางรถ ปัจจุบันมีถนนสายสิบสองปันนา-สปป.ลาว-เชียงของ หรือ R3a ก่อสร้างเสร็จแล้วเอกชนไทยควรหาช่องทางเข้าไปลงทุนด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับลาวหรือร่วมทุน 3 ชาติ ไทย สปป.ลาว จีน เพื่อให้เชื่อมเชียงของไปถึงสิบสองปันนาได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับธุรกิจด้านการโรงแรม ตนอยากเห็นเครือใหญ่ๆ เช่น ดุสิตธานี อิมพีเรียล ฯลฯ เข้าไปเปิดกิจการใน สปป.ลาว บ้างหลังจากกลุ่มทุนเล็กๆ เริ่มเข้าไปลงทุนแล้วเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

พื้นที่เชียงราย หรือภาคเหนือ ที่ติดกับ สปป.ลาว ถือว่าน่าสนใจมาก ยิ่งถ้าหากมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีน และถนน R3a ใช้คู่กันอย่างเป็นทางการแล้วสินค้าจากจีนก็จะทะลักลงมา โดยเริ่มแรกอาจจะเป็นผลไม้ก่อน แต่ก็ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่เรายังไม่ได้เห็นอีกมากมาย เพราะปัจจุบันมีเพียงการขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขงที่ขนกันอย่างคึกคัก ยังไม่ใช้ทางรถยนต์และรถไฟ

ทั้งนี้ มีกระแสว่า จีนจะเข้าไปลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟสายบ่อเต็น (ชายแดนจีน-สปป.ลาว) มาจนถึงห้วยทราย (ชายแดน สปป.ลาว-เชียงของ) แล้ว โดยขนานมากับถนน R3a ขณะที่ประเทศไทยเคยมีโครงการสร้างรถไฟสายเด่นชัย จ.แพร่-เชียงราย และสมัยรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเดินหน้าเชื่อมเส้นทางจากเด่นชัยมาจนถึง อ.เมือง จ.เชียงราย แล้วแต่รัฐบาลหมดอายุลงไปก่อนจึงหวังว่ารัฐบาลชุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จะสานต่อตามแผนเดิม และตนก็พร้อมจะร่วมผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่

“ถ้าดูตามเส้นทางคมนาคมแล้ว เชียงราย เหมาะที่จะเป็น Trade Center ที่สุดคล้ายๆ กับสิงคโปร์ที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ เลยแต่ก็นำสินค้ามาแปรรูปและส่งจำหน่ายได้ โดย Trade Center ดังกล่าวคือการมีศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าอย่างคึกคักในอนาคต และสินค้าก็ไม่ได้มีเฉพาะขาลงมาเท่านั้น เพราะเพื่อความคุ้มทุนในการขนส่งผู้ประกอบการก็ต้องขนส่งในขาขึ้นด้วย ตรงจุดนี้ตนขอให้เอกชนไทยเตรียมพร้อมรองรับสินค้าขาขึ้นด้วย”

เขาบอกว่า โดยเบื้องต้นสินค้าที่น่าสนใจก็มี เช่น กล้วยไม้ ซึ่งไม่มีในจีนตอนใต้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าเมื่อสินค้าแล้วเสร็จและมีศูนย์กระจายสินค้านักธุรกิจมีความชำนาญในการคิดหาสินค้าทั้งขาขึ้นและขาล่องอยู่แล้ว แต่ศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวจะช่วยในการแปรรูป - บรรจุหีบห่อ เพื่อการส่งต่อไปทั่วประเทศหรือส่งออกไปต่างประเทศได้

สำหรับปัญหาด้านการซื้อขายซึ่งยังไม่มีการแลกเปลี่ยนผ่านระบบธนาคารอย่างเป็นทางการนั้น ตนเห็นว่าเพียงแต่ผลักดันให้ธนาคารที่เชียงราย และที่จีนตอนใต้ ทำข้อตกลงเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อการค้าก็สามารถทำได้แล้ว โดยอาจจะซื้อขายด้วยการโอนเงินตามอัตราขึ้นลงของการแลกเปลี่ยนเงินเป็นรายวัน ซึ่งอาจจะยุ่งยาก หรือกำหนดสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อความสะดวก และหากทั้งสองฝ่ายโอนเงินกันแล้วได้เงินสกุลเงินบาทหรือเงินหยวนที่ไม่ต้องการใช้ อาจจะโอนไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อแลกเป็นสกุลดอลลาร์ก็ได้ เพียงแต่ว่าในปัจจุบันยังไม่มีการหารือกันของธนาคารในเรื่องนี้เท่านั้น

ด้านนายเจริญชัย แย้มแขไข ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า สำหรับศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวอยู่ในแผนที่จะจัดตั้งของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยผ่านทาง 2 หน่วยงานหลักคือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งกำหนดพื้นที่จำนวน 16,000 ไร่ ที่ อ.เชียงของ ให้สร้างเป็นสถานีขนส่งและกระจายสินค้าก่อนบนเนื้อที่ 102.26 ไร่และพื้นที่อุตสาหกรรมและ Free Zone ประมาณ 2,000 ไร่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการเพราะติดพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการร่วมทุน เพราะการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( กนอ.)จะไม่ลงทุนเองแต่จะเชิญชวนเอกชนให้เข้าไปลงทุน ซึ่งหากมีความชัดเจนเรื่องถนน เส้นทางรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำโขงมากขึ้นก็คงจะมีการลงทุนแน่นอน อีกหน่วยงานคือกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งอยู่โดยยังไม่กำหนดสถานที่ชัดเจน

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย เข้ากับถนน R3a ปัจจุบันไทย-สปป.ลาว-จีน ได้กำหนดหาบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดหาบริษัทประมูลก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงภายใน 2 เดือนนี้ โดยเบื้องต้นมีการออกแบบให้มี 4 ช่องจราจรๆ ละ 7 เมตร และมีไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร และมีเกาะกลางถนนกว้าง 4.20 เมตร เพื่อใช้รองรับรางของรถไฟในอนาคต ใช้งบประมาณร่วมกันประมาณ 1,400 ล้านบาท ก่อสร้างภายในปี 2553 ส่วนเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย มีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2503 กระทั่งปี 2539-2541 ได้สำรวจออกแบบเส้นทางจากเด่นชัย-ลำปาง-พะเยา-อ.ปาแดด อ.เทิง อ.พาน อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 246 กิโลเมตร คำนวณราคาก่อสร้างทั้งหมดได้ 21,343 ล้านบาท และมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินไปแล้ว แต่โครงการหยุดชะงักเพราะมติคณะรัฐมนตรีปี 2544 ให้กลับไปศึกษาความคุ้มทุนใหม่

ต่อมาเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เปลี่ยนระบบรางรถไฟในประเทศไทยจากขนาด 1 เมตร เป็น 1.435 เมตร ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (กรฟ.) ต้องศึกษาอีกรอบและ กรฟ.ศึกษาว่านอกจากจะเปลี่ยนแปลงขนาดรางแล้ว ยังต้องศึกษาเพื่อการเชื่อมต่อกับถนน R3a และเชื่อมไปจนถึงสถานีภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจจะเป็นไปตามแนวเส้นทางเดิมคือสายเด่นชัย-อ.เมือง จ.เชียงราย และเฟสที่สองจาก อ.เมือง-เชียงแสน 62 กิโลเมตร และเฟส 3 สร้างทางแยกที่บ้านสันยาว อ.เชียงของ ไปเชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ติดกับถนน R3a ดังกล่าว แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของรัฐบาลเป็นสำคัญ
แนะ “มาร์ค” ปั้นเชียงราย Trade Center น้ำโขง ตั้งศูนย์กระจายสินค้า-ทำรถไฟเด่นชัยเชื่อมจีน
แนะ “มาร์ค” ปั้นเชียงราย Trade Center น้ำโขง ตั้งศูนย์กระจายสินค้า-ทำรถไฟเด่นชัยเชื่อมจีน
เชียงราย – “หม่อมอุ๋ย” ออกโรงจี้รัฐตั้งศูนย์กระจายสินค้า-ทำรถไฟเด่นชัย เชื่อม จีน ปลุกปั้นเมืองพ่อขุนฯเป็น “Trade Center” พร้อมเตือนทุนไทยอย่าทิ้งโอกาสใน สปป.ลาว ที่ยังเปิดรับทุนเทศลงทุนทั้งด้านเกษตรส่งออก – ท่องเที่ยว ชี้ที่ผ่านมาเอกชนไทยมองข้าม “แลนด์ล็อก” ขณะที่นักลงทุนจากชาติอื่นเดินหน้าลงทุนเต็มที่ ล่าสุดเตรียมเปิดเรือนำเที่ยว 6 ดาวจากเชียงของ-หลวงพระบางแล้ว แนะภาคเอกชนไทยจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ 3 ชาติ “ไทย-ลาว-จีน” รับอนาคต ดึงแบงก์จีน-ไทย เจรจาเปิดท่อแลกเปลี่ยนเฉพาะหน้าหนุนการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น