xs
xsm
sm
md
lg

กพร.

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีข่าวว่าจะยุบสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) นัยว่าทำงานซ้ำซ้อนกับ ก.พ.

ที่จริง ก.พ.ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และระเบียนข้าราชการพลเรือน ส่วน กพร.นั้น ดูแลด้านการปรับโครงสร้างระบบราชการ

แต่เดิม กพร.คือ คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ต่อมาในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ และสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

กพร.เป็นด่านกลั่นกรองและพิจารณาคำขอของส่วนราชการที่ต้องการตั้งหน่วยงานระดับกอง และสำนักภายในกรม หน่วยงานต่างๆ ต้องการยกระดับกองขึ้นเป็นสำนัก เพราะหัวหน้าหรือผู้อำนวยการกองเป็นข้าราชการระดับ 8 หากยกขึ้นเป็นสำนักก็จะได้เป็นระดับ 9 เวลานี้ภายในกรมส่วนใหญ่จึงมีสำนักเต็มไปหมด เหลือกองอยู่น้อยมาก

ระบบราชการไทยนั้น ขยายตัวมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาฯ รัฐได้เข้าไปมีบทบาททำโครงการ และมีกิจกรรมมากมายถึงระดับท้องถิ่น กำลังคนภาครัฐก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี จนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมีถึง 40% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

มีการพูดและพยายามจะลดขนาดของภาครัฐมานานแล้ว ไปๆ มาๆ แทนที่ภาครัฐจะเล็กลง ก็กลับมีกระทรวงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม กพร.ได้รับโจทย์จากรัฐบาลมาว่า ทำอย่างไรจึงจะลดขนาดของภาครัฐได้ เพราะเวลานี้ภาคเอกชน และภาคประชาชนเติบโตขึ้นมากแล้ว และควรให้มีส่วนร่วมเป็นการกระจายอำนาจ ทั้งนี้รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นด้วย

การจะลดขนาดของภาครัฐ คือ ระบบราชการลงได้ก็ต้องเริ่มจากการทบทวนภารกิจที่รัฐดำเนินการอยู่ กล่าวคือ ต้องสำรวจดูว่ามีภารกิจใดบ้างที่รัฐไม่ทำก็ได้ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนสามารถทำได้แล้วโอนถ่ายงานนั้นไปให้คนอื่นทำ

แต่พอเอาเข้าจริงๆ รัฐมนตรีทั้งหลายกับกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า งานของกระทรวงนั้นให้คนอื่นทำไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวง ไปๆ มาๆ การที่จะลดบทบาทภาครัฐลงก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีต่างก็อยากรักษาอาณาจักรของตนเอาไว้ ข้อเสนอของ กพร.จึงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของทั้งรัฐมนตรี และข้าราชการในกระทรวง

การมี กพร.ไว้ย่อมดีกว่าไม่มี เพราะลำพัง ก.พ.เองคงทำงานด้านการพัฒนาระบบราชการไม่ไหว งานพัฒนาระบบราชการเป็นงานใหญ่ และการทำงานของ กพร.ก็มีทั้งด้านกลั่นกรอง การพิจารณาคำขอขยายส่วนราชการ และการพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ ส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาล และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

สิ่งที่ กพร.ทำและมีผลดีก็คือ การนำเอาระบบการประเมินผล โดยมีตัวชี้วัดหรือ KPI มาใช้ แต่ก่อนงานติดตามประเมินผลไม่มีความหมาย เพราะหน่วยงานต่างๆ ทำงานโดยไม่มีการตั้งเป้าที่ชัดเจน จึงไม่สามารถวัดผลได้ เวลานี้แต่ละหน่วยงานต้องระบุเป้าหมายของภารกิจที่ได้รับงบประมาณมา และในแต่ละปีก็ต้องมาทำข้อตกลงกับ กพร.โดยมีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน ต่อรองกัน โดยแต่ละตัวชี้วัดมีน้ำหนัก และเมื่อมีการประเมินผลแล้ว ก็จะนำผลนั้นไปพิจารณาจัดสรรเงินโบนัสประจำปี

ตัวชี้วัดนี้นอกจากจะมีในระดับกระทรวง และกรมแล้ว ก็ยังมีตัวชี้วัดร่วมหรือ Joint KPI อีกด้วย เนื่องจากภารกิจ และปัญหาหลายๆ อย่างมีหน่วยงานหลายหน่วยทำ และหน่วยงานที่ทำก็อยู่คนละกระทรวง การตั้งตัวชี้วัดร่วมจึงเท่ากับเป็นการทำให้หน่วยงานเหล่านั้นต้องทำงานร่วมกัน

แท้ที่จริงแล้ว การมีตัวชี้วัดร่วมก็คือ ระบบการประสานงานแบบบูรณาการนั่นเอง กล่าวคือ เป็นการประสาน 3 ด้านคือ แผนงาน แผนเงิน และแผนคน ในการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมประชุมหารือกันว่า ในงานแต่ละอย่างนั้น หน่วยงานใดทำเป็นสัดส่วนเท่าใด และคิดงบประมาณตามนั้น และต้องมอบหมายให้มีคนเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน

จากงานปรับปรุงระเบียบราชการเมื่อ 40 ปีก่อนมาเป็นงานพัฒนาเชิงรุก ทำให้ระบบราชการของเราเป็นระบบเปิดมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอง ประเมินผลงานได้ มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะมีการตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นหากจะมีการยุบ กพร.ก็จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง

งานพัฒนาระบบราชการเป็นการเมืองไม่ใช่การบริหาร ต้องการผู้นำที่มีเจตจำนงทางการเมือง เพราะกิจกรรมหลายอย่างย่อมเป็นที่ไม่พอใจของรัฐมนตรี และข้าราชการ บางครั้งเมื่อ กพร.ไม่อนุมัติให้ มีการตั้งหน่วยงานเพิ่มก็มีการขู่จะเดินขบวนมาประท้วง เป็นต้น

แต่การจะยุบ กพร.ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องไปแก้กฎหมายหลายฉบับ กว่าจะเสร็จก็คงอีกหลายปี

แทนที่จะยุบ กพร.รัฐบาลควรกำหนดท่าทีให้ชัดเจนจะดีกว่าว่า ต้องการลดบทบาทภาครัฐ หรือไม่อย่างไร กพร.จะได้ทำตามนโยบายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น