xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” กรอกผลสรุปไทยเข้มแข็ง สธ. ใส่หู รมต.เตือนให้ซื่อสัตย์-ปฏิบัติตามกฎเหล็ก 9 ข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” กรอกผลสรุปไทยเข้มแข็ง สธ. ใส่หู รมต. หวั่นประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอย เตือนให้ยึด “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ปฏิบัติ มุ่งทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์อย่างเคร่งครัด ด้าน เลขาฯ กพ. โยนนายกฯ ตัดสิน เลือกวิธีใช้อำนาจในมือหรือจะยืมมือ รมต. ตั้งกก.สอบ ข้าราชการที่มีเอี่ยวทุจริต หลังปลัด สธ.ติดบ่วงผลสอบ “หมอบรรลุ”

วันนี้ (5 ม.ค.) แหล่งข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกุล หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้มีการพูดคุยกันเป็นเวลา 5 นาที ก่อนที่เดินกลับมายังที่นั่งประชุมครม.โดยทั้งหมดมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม. นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีเรื่องร้องเรียนการทุจริตในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานกรรมการฯ แจกจ่ายในที่ประชุม ครม. พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า อยากให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำรายงานนี้ไปดูเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดผิดพลาดขึ้นอีก

สำหรับรายงานดังกล่าวได้มีการสรุปข้อเสนอด้วยว่า 1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายงานการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสมกัน ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพเพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องลงมารับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สธ.ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว ในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมาเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของนายกรัฐมนตรีที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด” และข้อ 9 ที่ระบุว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น มีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 12.30 น. นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้เดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาในการเข้าพบเป็นเวลา 30 นาทีก่อนจะเดินทางกลับ ทั้งนี้ หลังจากที่นายกฯ ระบุว่า ได้เชิญเลขาธิการ ก.พ.มาให้ความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการระดับสูง ในคดีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของ กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี จะเข้าประชุมร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในวันศุกร์ที่ 8 ม.ค.นี้ที่สำนักงาน ก.พ. โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ทั้ง ก.พ. และกพร.ร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือเรื่องนี้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี ยังจะร่วมประชุมกับ ก.พ.ร.เรื่อง มาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของรัฐบาลตามมาตรา 33 ของ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 หลังจากที่นายกฯสั่งการให้ กพร.ไปทบทวนภารกิจของตัวเอง โดยจะมีการหยิบเอากรณีตัวอย่างที่เป็นแบบอย่างของการปรับภารกิจของบางหน่วยงานที่ปรับตัวออกจากระบบราชการไปโดยมีมาตรการรองรับที่ดีกับทุกฝ่าย ก็จะทำเป็นลักษณะของโครงการนำร่อง ถ้าทำสำเร็จก็จะสามารถขับเคลื่อนตามเป้าหมายได้ดี

ขณะที่ นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า ได้หารือร่วมกันหลายประเด็น ส่วนประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการกระทรวงสาธารณที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เข้าข่ายว่ามีการทุจริตนั้น ตนไม่ได้สรุปใดๆ ให้นายกรัฐมนตรี เพียงแต่เสนอแนวทางไปว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ เป็นผู้มีอำนาจ ส่วนอีกฉบับเป็นระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯจะเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับนายกฯ จะใช้ดุลพินิจเองในพิจารณาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น