ใกล้ถึงบทสรุปเข้ามาทุกที สำหรับคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน จากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของ “ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ” อดีตผู้นำจอมทุจริต หากไม่มีอะไรพลิกผันเชื่อว่าการไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องน่าจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะนัดฟังคำพิพากษาช่วงต้นเดือนมกราคม 2553
ที่ผ่านมาในส่วนของคดีอาญานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยแสดงท่าทีทุกข์ร้อนกับโทษที่ติดตัวไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ซึ่งถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 2 ปี หรืออีกหลายคดีที่รอคิวอยู่ในศาล เพราะไม่ว่าจะถูกออกหมายจับสักกี่ใบก็ยากที่ใครจะตามลากคอเขากลับมาเข้าคุกได้ อดีตผู้นำหน้าเหลี่ยมยังคงใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างสุขสบายทั้งที่เป็นนักโทษหลบหนีอาญาแผ่นดิน
แต่เมื่อคดียึดทรัพย์ซึ่งเปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ ”เขม็งเกลียวเข้ามา แน่นอนว่าคนหวงสมบัติอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ คงอยู่นิ่งไม่ไหว ขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการเร่งเชื้อไฟให้กลุ่มลิ่วล้อเสื้อแดงทั้งในสภาฯและข้างถนน ต้องเดินเกมรุกหนักขึ้นแบบทุกวิถีทางเพื่อเป้าหมายเดียวคือล้มกระดานรักษาเงินทุจริตก้อนโตของนายใหญ่เอาไว้ ส่วนคนไทยที่เบื่อหน่ายกับความวุ่นวายในบ้านเมืองก็ต้องรอลุ้นกันต้นปีหน้าเพราะผลคำพิพากษาคดีนี้อาจเป็นการทำนายอนาคตการเมืองไทยว่าจะไปรต่ออย่างไร?!?
นาทีนี้ แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาแต่ดูเหมือนว่าฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ จะตกเป็นรองอยู่พอสมควรเพราะพยานที่อัยการนำสืบทั้งจาก “ คตส. และ ก.ล.ต.” ต่างก็เบิกความชี้ชัดตามข้อกล่าวหาว่าทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านนั้นได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร
ประเด็นธุรกรรมอำพรางการถือครองหุ้นบริษัทเครือชินคอร์ปฯ ผ่านกองทุนลับ บริษัทนอมินี
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เบิกความถึงขั้นตอนการซื้อขายหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการถือหุ้นในบริษัทวินมาร์ค ลิมิเต็ด จำกัดว่า จากการตรวจสอบการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บมจ.เอสซีฯ ก.ล.ต.พบว่า บริษัทวินมาร์คฯ ที่ซื้อหุ้น จาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1,500 ล้านบาท มีทรัสต์แห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกงเป็นผู้บริหารจัดการ แต่เมื่อตรวจสอบทรัสต์แห่งนี้กลับพบว่าได้รับมอบหมายจากกองทุนบลูไดมอนด์ ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเอง
และเมื่อตรวจสอบบัญชีเงินค่าซื้อหุ้น ยังพบว่า เงินค่าซื้อหุ้น 300 ล้านบาท โอนมาจากบัญชีธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเป็นเจ้าของบัญชี และบริษัทวินมาร์คฯ โดยทรัสต์บนเกาะฮ่องกงโอนเงินซื้อหุ้นอีก 1,200 ล้านบาทให้ชินคอร์ปฯ หลังจากซื้อหุ้นแล้ว บริษัทวินมาร์ค มอบให้ธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงพบความโยงใยว่า บริษัทวินมาร์คฯ เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทรัสต์บนเกาะฮ่องกง และกองทุนบลูไดมอนด์เป็นผู้บริหาร
นางวรัชญายังเบิกความว่า หลังจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ เข้ามาจัดการหุ้นให้ บริษัทมวินมาร์คฯ แล้วปรากฏว่า มีการถือครองหุ้นเกิน 5% ซึ่งตามกฎหมายต้องรายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ ก.ล.ต.จึงสงสัยและตรวจพบว่า หุ้นที่ถือเกิน 5% นั้นเป็นหุ้น ที่ถือในนามบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า เป็นเจ้าของและขายให้ นายพานทองแท้ แล น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว จาการตรวจสอบหุ้นวินมาร์ค ดังกล่าว ก.ล.ต.จึงสันนิษฐานว่า หุ้น ใน บริษัทวินมาร์คฯ และแอมเพิลริชฯ เป็นของคนๆ เดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ขณะที่ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ชี้ขั้นตอนนิติกรรมอำพรางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ 24.99 % ให้กับนายพานทองแท้ บุตรชายเมื่อบรรลุนิติภาวะ ขณะส่วนที่เหลือโอนขายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และโอนขายให้ บริษัทแอมเพิลริชฯ 10.44 % แต่การซื้อขาย กลับมีการชำระหนี้ด้วยเช็คสั่งจ่ายที่มาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน ซึ่งตรวจสอบพบว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนมือสุดท้ายเงินก็กลับเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานเหมือนเดิม
ประเด็นการใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คณะกรรมการ คตส.เบิกความชี้ชัดถึงการใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในทางมิชอบ ของ พ.ต.ท.นช.ทักษิณ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเครือชินคอร์ปฯ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนของการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 ก่อนขายหุ้นให้เทมาเส็กหลังประกาศกฎหมายเพียงวันเดียว รวมไปถึงการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิต 15 % แม้ว่าภาษีสรรพสามิตจะเข้าสู่รัฐ แต่ทำให้องค์การโทรศัพท์หน่ายงานของรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานที่ลดลง อีกทั้งการประกอบกิจการสัมปทานในส่วนขององค์การโทรศัพท์เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ มี บ.เอไอเอส ร่วมทุนเป็นการออกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเครือชินคอร์ป ฯ ได้เปรียบบริษัทอื่น เนื่องจากช่วงที่มีการเปิดเสรี โดยมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กทช.) เป็นผู้ดูแลกำหนดให้มีการจัดเฉพาะเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งต่ำกว่าค่าสัมปทานที่บริษัทเอไอเอส จะต้องจ่าย และยังมีการออกมาตรการมาให้บริษัทที่จะเข้ามาให้บริการรายใหม่ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่ม แต่ในส่วนของบริษัทเอไอเอสเพียงแต่หักค่าสัมปทานบางส่วนไปจ่ายเป็นค่าภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจน
สอบรับกับที่คำเบิกความของนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัทโทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แทค ที่ระบุถึงการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทแอดซ์วานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ได้เปรียบแทค เนื่องจากเอไอเอส ไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือเอ็กซ์เซป ชาร์จ ให้กับ กสท. ส่วนแทคจะต้องเสียค่าเอ็กซ์เซปชาร์จ ในอัตรา 200 บาท ในการให้บริการแบบโพสต์ เพด POST PAID ส่วนการให้บริการแบบพรีเพด PRE PAID จะเสียในอัตรา 18 % ซึ่งเป็นความเลื่อมล้ำของการทำสัญญาทำให้แทคไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอส ได้อย่างเป็นธรรม
นายแก้วสรร ยังเบิกความถึงเรื่องของการยิงดาวเทียมซึ่งบริษัทชินแซทฯ ได้ทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมจะต้องยิงดาวเทียมไทยคมเพื่อใช้สื่อสารภายในประเทศ รวม 4 ดวง แต่ปรากฏว่าบริษัทยิงดาวเทียมไทยคมเพียง 3 ดวง ส่วนดวงที่ 4 กลับมีการแจ้งเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้ชื่อ IP STAR ยิงแทนดาวเทียมไทยคม 4 ทั้งที่ดาวเทียมดังกล่าวไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพราะไม่ได้ใช้สำหรับสื่อสารในต่างประเทศ ซึ่งปัญหาดาวเทียมดังกล่าวนำมาซึ่งคดีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่า โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงค์ ซึ่งเดิมมีการกำหนดวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่มีการเพิ่มวงเงินเป็ร 4,000 ล้าน เพื่อให้รัฐบาลพม่านำเงินมาใช้ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทชินแซทฯ ในเครือครอบครัวชินวัตร จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว
เรื่องนี้อัยการผู้ร้องยังมี นายวิบูลย์ สิทธาพร อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ เบิกความเพิ่มเติมว่าที่เอ็กซิมแบงก์ต้องปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 3 % ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมเป็นผลให้กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนเอ็กซิมแบงก์รวม 670 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล (ขณะนั้น) และจากนโยบายดังกล่าวจนถึงปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ยังต้องแบกรับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินมาให้ประเทศพม่ากู้ในดอกเบี้ยต่ำแม้กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยให้ก็ตาม
หลายคนเชื่อว่าเมื่อจบคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะหยุดการเคลื่อนไหวเพราะคงไม่รู้จะสู้เพื่ออะไรหากเงินทุจริตก้อนสุดท้ายถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนลิ่วล้อที่คอยรับงานป่วนชาติก็จะหนีหายเพราะหมดหวังจากเงินส่วนแบ่งก้อนสุดท้าย และอุณหภูมิการเมืองไทย น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง