xs
xsm
sm
md
lg

องค์ความรู้เรื่องซุกหุ้น และผลประโยชน์ทับซ้อน จากคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การให้ลูกชายและลูกสาวยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ศาลสั่งห้าม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้ข้อมูลคดียึดทรัพย์ นช.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว 76,000 ล้านบาท แก่สื่อมวลชน เป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความกลัวของ นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร

กลัวว่าจะแพ้คดีถูกยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่แน่อยู่แล้ว แต่ที่กลัวไม่แพ้กันคือ กลัวว่าการแสดงความคิดเห็นในเรื่องข้อกฏหมายของ คตส. ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลโดยสื่อมวลชนทั้งฝ่ายอัยการ และฝ่ายผู้คัดค้านคือ นช.ทักษิณ ให้การไว้ต่อศาล จะทำให้ประชาชนเกิดปัญญา เข้าใจที่มาที่ไปอันเป็นมูลแห่งคดีได้ถ่องแท้ชัดเจนขึ้น ก่อนจะถึงวันพิพากษา วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้

การรู้เท่าทันของประชาชนยิ่งทำให้พฤติกรรมของ นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ถูก "เปลือย" ต่อสังคมอย่างล่อนจ้อนอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้นคือ หากผลแห่งคดีเป็นไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ นช.ทักษิณ จะมีการบิดเบือนประเด็นโจมตีระบบยุติธรรม การที่ประชาชนรับรู้ขัอมูลเสียตั้งแต่ล่วงหน้า จะทำให้ไม่หลงเชื่อการบิดเบือนเหล่านี้ เหมือนที่ นช.ทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดง บิดเบือนคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ดินรัชดาฯ ว่าถูกกลั่นแกล้ง กระบวนการยุติธรรมมี 2 มาตรฐาน คนเป็นสามีเซ็นชื่อให้ภรรยาไปซื้อที่ดิน ผิดตรงไหน?

ทั้งที่ข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลมิได้พิพากษาว่าสามีเซ็นชื่อยินยอมให้ซื้อที่ดินเป็นความผิด แต่ศาลพิพากษาว่านายกรัฐมนตรีและคู่สมรสต้องห้ามมิให้เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียกับหน่วยงานของรัฐ ตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) และมาตรา 122

คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ นช.ทักษิณ และครอบครัว ฐานร่ำรวยผิดปกติ มีความซับซ้อนกว่าคดีที่ดินรัชดาฯ หลายแห่ง ทั้งในเรื่องของข้อเท็จจริง และข้อกฏหมาย หากสื่อมวลชนไม่เผยแพร่ข้อมูล ทั้งการรายงาน การวิเคราะห์ วิจารณ์แสดงความคิดเห็น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับคดี ทั้งอดีต คตส. และอัยการ รวมทั้งผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง คือ นักวิชาการ ไม่ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่สังคมไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนจะถึงวันพิพากษาแล้ว นอกจากจะทำให้ประชาชนจำนวนมากมีความยากลำบากในการทำความเข้าใจกับคำพิพากษาแล้ว ยังอาจจะถูกทำให้เข้าใจผิดในคำพิพากษาจากผู้ที่ต้องการบิดเบือน

การเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริม ตราบใดที่ล่วงละเมิดอำนาจศาล ฝ่าย นช.ทักษิณ เองก็ทำอยู่แล้ว ทั้งการพิมพ์หนังสือปกขาวแจก 1 แสนเล่ม การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของทนาย ที่ปรึกษากฏหมาย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ตลอดจนการซื้อสื่อโฆษณาว่า พ.ร.บ.สรรพสามิต โทรคมนาคม ไม่เห็นจะทำให้รัฐเกิดความเสียหายตรงไหน ในหนังสือสุดสัปดาห์ฉบับหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยที่มาของโฆษณานี้ ซึ่งทั้งอดีต คตส. และอัยการที่เป็นคู่คดี ไม่เคยขออำนาจศาลปิดปากไม่ให้พูดเหมือนอย่างที่ นช.ทักษิณ ทำ

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นช.ทักษิณ ก็เคยร้องต่อศาลให้ห้าม คตส. แสดงความเห็นที่เกี่ยวกับคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลยกคำร้อง

ข้อมูลเกี่ยวกับการสืบพยาน แถลงการณ์ปิดคดี และการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฝ่าย คือการสร้างองค์ความรู้ในสังคมไทยในเรื่องการซุกหุ้น และผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องสลับซับซ้อน และทำกันอย่างปิดลับ มีแต่คนวงในเท่านั้นจึงจะรู้ว่าทำกันอย่างไร การเปิดเผยข้อมูลในเรี่องนี้จึงเหมือนแสงสว่างที่ขับไล่ความมืด สาดแสงให้มองเห็นสิ่งที่ถูกซุกซ่อน ปกปิดไว้ภายใต้ความมืดมิดนั้น

มีแต่ปีศาจที่กลัวความมืด มีแต่ผีที่กลัวน้ำมนต์ มีแต่คนโกงเท่านั้นที่กลัวการไหวเวียนเปิดกว้างของข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างองค์ความรู้ในสังคม

ในแถลงการณ์ปิดคดีของอัยการสูงสุด มีสาระอันเกี่ยวกับพฤติกรรมการซุกหุ้นในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทนี้ ที่บรรยายไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สมควรที่จะนำมาถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้ ในฐานะแสงสว่าง สร้างปัญญาให้สังคม ได้ตามทันการฉ้อฉลของนักการเมือง

การทำลักษณะปกปิดอำพรางหุ้น

การอำพรางหรือซุกหุ้นคืออะไร?

คือการจงใจถือครองหุ้นใดโดยไม่ยอมเปิดเผยตัวต่อระบบตรวจสอบทำได้โดย

1.1 ใช้ชื่อบุคคลใกล้ชิดถือหุ้นแทน (ชื่อคนใช้, บุตร, พี่น้อง ในกรณีหุ้นบริษัทชินคอร์ป ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา)

1.2 จัดตั้งบริษัทถือครองหลักทรัพย์ของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะ (เช่นบริษัทแอมเพิลริช ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา รับว่าได้จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายต่างประเทศ หรือบริษัทวินมาร์ค)

1.3 เมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อขายจ่ายโอนหุ้น รับเงินปันผล ก็อาจใช้บริการบริษัทดูแลหลักทรัพย์รับเป็นตัวแทนถือครอง สั่งซื้อขายแทนอีกชั้นหนึ่งก็ได้ เมื่อมีการตรวจสอบ ก็จะเห็นรายการแต่เพียงว่ามีหุ้นเคลื่อนไหวเข้าออกจากบัญชีของบริษัทตัวแทนถือครองเท่านั้น โดยไม่ทราบว่าที่แท้จริงเป็นการซื้อขายของผู้ใด หากเป็นบริษัทต่างประเทศที่มีกฏหมายท้องถิ่นให้เอกสิทธิ์ไม่เปิดเผยชื่อลูกค้าแล้ว การแกะรอยจะทำได้ลำบากยากยิ่ง (พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ใช้วิธีตั้งบริษัทวินมาร์คและบริษัทแอมเพิลริช เป็นตัวแทนเชิดตามข้อ 1.2 ก่อน แล้วใช้บริการบริษัทถือครองหลักทรัพย์ เช่น บริษัทวินเกอร์, บริษัทแอสเสทพลัส และธนาคารยูบีเอสในต่างประเทศจัดการหุ้นชินคอร์ปทางบัญชีจากสิงคโปร์อีกชั้นหนึ่ง) การกระทำดังกล่าวเป็นการปกปิดข้อมูลเพื่อประโยชน์คือ

2.1 ปกปิดการตรวจสอบภาษีเงินปันผล ทำได้โดยตั้งนิติบุคคลต่างประเทศแล้วถือหุ้นเล่นหุ้นในกระดานต่างประเทศ โดยสรรพากรไทยและ ก.ล.ต.ไทย จะไม่สนใจตรวจสอบว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ประกอบกิจการในไทยหรือไม่ โดยวิธีนี้รัฐจะได้ภาษีเงินได้จากเงินปันผล หัก ณ ที่จ่ายเพียง 7% เท่านั้น สูญหายไป 8%

2.2 ปกปิดการตรวจสอบตามกฏหมายตลาดหลักทรัพย์ หน้าที่สำคัญที่สุดของกฏหมายตลาดหลักทรัพย์ คือทำตลาดให้โปร่งใส เป็นธรรม มีตัวเลขรายงานความเคลื่อนไหวที่บุคคลถือหุ้นเพิ่งหรือลดเกิน 5% อยู่ในมือทุกขณะเพื่อตรวจสอบการปั่นหุ้น สามารถตรวจสอบได้ว่ามีหุ้นรายใดใช้ข้อมูลภายในซื้อหรือขายหุ้นโดยมิชอบหรือไม่ การอำพรางหรือซุกหุ้นคือช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ระบบนี้ล้มเหลว โดยเฉพาะกรณีที่มีการซ่อนตัวอยู่หลังบริษัทนิติบุคคล เช่น แอมเพิลริช หรือวินมาร์ค ที่อุปโลกน์จัดตั้งไว้ บริษัททั้งสองนี้สามารถเปิดบัญชีค่าหุ้นไว้กับบริษัทที่รับจัดการหลักทรัพย์ในต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง แล้วผู้เป็นเจ้าของตัวจริงก็สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้ตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ เพราะบัญชีซื้อขายหุ้นแต่ละวันที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นจะมีแต่ตัวเลขบัญชีของบริษัทรับจัดการหลักทรัพย์ปรากฏให้เห็นว่าซื้อเข้าหรือขายออกจากบัญชีไหนเท่านั้น โดยไม่มีทางจะทราบได้เลยว่าบัญชีนี้เป็นของใคร

2.3 หลีกเลี่ยงการตรวจสอบคอร์รัปชัน ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่พยายามตรากฏหมายปราบปรามคอร์รัปชันไว้ก้าวหน้ามาก ทั้งระบบตรวจสอบทรัพย์สิน และโทษยึดทรัพย์ฐานร่ำรวยผิดปกติซ้ำด้วยการติดตามเงินคอร์รัปชันด้วยกฏหมายฟอกเงิน จากนั้นจึงมาวางข้อกำหนดห้ามรัฐมนตรีใช้ข้อมูลภายในเง่นหุ้นให้ต้องแขวนหุ้นไว้เฉยๆ แล้วซ้ำด้วยข้อห้ามถือเป็นประโยชน์ทับซ้อน ห้ามเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือห้ามถือหุ้นในบริษัทสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง

มาตรการเหล่านี้ล้วนพังทลายลงโดยสิ้นเชิง ด้วยการปกปิดอำพรางการถือหุ้นของนักการเมืองดังต่อไปนี้

(2.3.1) ให้ตัวแทนเชิด รับสินบนเป็นหุ้น ช่องทางนี้เปิดต่อข้ารายการทุกระดับ และแพร่หลายมาก หลุดพ้นจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินโดยสิ้นเชิง ต้องอาศัยความบากบั่นติดตามเงินที่เชื่อว่าได้มาโดยทุจริตจริง จึงจะพบว่าแอบไปซื้อหุ้นมอบเป็นสินบนให้นักการเมืองนั้น

(2.3.2) ฟอกเงินข้ามชาติ การมีบริษัทตัวแทนเชิดที่ปิดลับ อยู่นอกอำนาจตรวจสอบของกฏหมายไทย เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการฟอกเงิน สามารถย้ายเงินจากในประเทศด้วยการซื้อหุ้นต่างๆ ได้ เช่นในกรณีที่ใช้เงินปันผล 487 ล้านบาทในบัญชีบุตรสาว ทำเป็นซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีอนาคตแล้วจากบริษัทวินมาร์ค เป็นต้น หรืออาจนำเงินที่อำพรางไว้ในต่างประเทศเข้าประเทศ โดยทำเป็นขายหุ้นของตนในราคาสูงให้บริษัทวินมาร์ค ซึ่งเมื่อตรวจที่มาของเงินที่บริษัทวินมาร์คชำระค่าหุ้นให้ ก็จะพบว่าแท้จริงเป็นเงินของผู้ซื้อที่ซ่อนไว้ในต่างประเทศนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะให้สินบนใครโดยไม่มีใครตามเงินได้ ก็ทำได้โดยสั่งให้บริษัทวินมาร์คขายหุ้นราคาถูกให้ผู้ใด ก็ทำได้ทั้งสิ้น

(2.3.3) ทุจริตในเชิงนโยบาย กิจการโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์และดาวเทียม, โทรทัศน์ และสายการบิน เป็นธุรกิจชนิดที่หากินจากโครงข่าย เป็นโครงข่ายที่มีจำกัดและอยู่ใต้อำนาจกำกับดูแลของรัฐอย่างใกล้ชิดด้วยเหตุที่มีผลประโยชน์สาธารณะที่ต้องดูแลทั้งประสิทธิภาพ ความมั่นคง และราคา ที่มอบให้แก่ผู้บริษัทและเศรษฐกิจโดยรวม

การปล่อยให้ นายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอำนาจถือครองหุ้น 49% ในบริษัทแม่ของกิจการเหล่านี้ (โดยไม่นับรวมหุ้นที่ถือผ่านตัวแทนเชิดอื่นๆ นอกครอบครัว) นับเป็นช่องว่างที่อันตรายอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ ด้วยอำนาจที่มีในมือนายกฯ ที่คงหุ้นบริษัทชินคอร์ปผู้นี้สามารถสร้างนโยบายและกำหนดการสั่งการที่เอื้อประโยชน?ต่อกิจการของบริษัทได้ ทั้งโดยเปิดเผยและโดยปิดลับผ่านเครือข่ายเจ้าหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อรัฐได้อย่างมากมาย ทั้งที่คิดหรือไม่อาจคิดเป็นตัวเงินได้

ทั้งการแก้ไขสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้จากโทรศัพท์เติมเงิน (ทศท ขาดประโยชน์ 8 หมื่นล้าน) ทั้งการให้เอกชนนำภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทาน (กสท และ ทศท เสียหายรวม 3 หมื่นล้าน) ซึ่งหากคำนวณมูลค่าที่เพิ่มขึ้นโดยมิชอบจากการใช้อำนาจรัฐเป็นขั้นต่ำคือ 4 หมื่นล้านบาท บวกด้วยความเสียหายที่รัฐต้องเสียผลประโยชน์เพราะมาตรการทุจริตเชิงนโยบายแสนกว่าล้านบาท แล้วเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาทนี้ ก็หาได้เพียงพอต่อการยึดทรัพย์ด้วยเหตุร่ำรวยโดยมิชอบ และความรับผิดทางแพ่งต่อรัฐเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น