ในคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ ที่ยื่นต่อศาล ฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทนายความของคุณหญิงพจมานได้ยื่นเอกสารของ นายมาห์มู้ด โมฮัมหมัด อัล อันซารี ซึ่งเป็นคำชี้แจงโดยรับรองจากศาลดูไบ ยืนยันว่า นายมาห์มู้ด เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คที่แท้จริงเพียงผู้เดียว และได้ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทของครอบครัวชินวัตรที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2543 และได้รับการโอนหุ้นมาจากธนาคาร UBS AG สาขาสิงคโปร์ในปี 2544
บ.วินมาร์คจึงไม่ได้เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกร้องและผู้คัดค้านที่ 1 คือ คุณหญิงพจมาน
น่าสงสัยว่า ทำไมพยานปากสำคัญมากๆ อย่างนายอัล อันซารีคนนี้ ทำไมคุณหญิงพจมาน จึงไม่นำตัวมาเป็นพยานในศาลด้วย เพราะถ้านายอัล อันซารีให้การยืนยัน และแสดงหลักฐานว่า เขาเป็นเจ้าของวินมาร์คจริงๆ อาจจะทำให้คำกล่าวหาของอัยการ ที่ว่า วินมาร์ค เป็นนอมินี ที่นช. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ใช้ถือหุ้นชินคอร์ป ประมาณ 5.4 ล้านหุ้นแทน ฟังไม่ขึ้น และอาจจะทำให้รูปคดีเปลี่ยนไปก็ได้
พยานปากสำคัญอย่างนี้ ถ้าจะต้องคุกเข่ากราบไหว้วิงวอน 7 วัน 7 คืน ขอร้องให้มาให้ความจริงกับศาล ก็ต้องทำ เพราะคำให้การของเขา มีส่วนชี้เป็นชี้ตายอย่างมีนัยสำคัญ แต่ คุณหญิงพจมาน กับทนายกลับเลือกใช้วิธีขอคำรับรองจากศาลดูไบว่า นายฮัล อันซารี เป็นเจ้าของวินมาร์คตัวจริง
ขึ้นอยู่กับศาลฎีกาของไทยว่าจะเชื่อถือในคำรับรองของศาลดูไบหรือไม่
นช.ทักษิณ พยายามบ่ายเบี่ยง เลี่ยงที่จะตอบคำถามว่า ใครเป็นเจ้าของวินมาร์คมาโดยตลอด โดยอ้างเพียงแต่ว่า เป็นของนักลงทุนต่างประเทศ แต่ไม่ยอมตอบว่าใคร ชื่อเสียงเรียงนามอะไร เพิ่งจะมาโดนอดีตภรรยา เปิดโปงในคราวนี้ และหากว่า นายอัล อันซารี เป็นเจ้าของจริง นช. ทักษิณ ก็หลบหนีโทษจำคุกอยู่ที่ดูไบ คงไม่เหลือวิสัยที่จะไปตามหาตัวนายคนนี้ มาให้สัมภาษณ์ชิงพื้นที่สื่อในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นคุณกับฝ่ายตนเป็นอย่างมาก ทำไมไม่ทำ
สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่สามารถตามหาตัว นายอัล อันซารี คนนี้ได้ในดูไบแล้ว นช.ทักษิณ ก็น่าจะไหว้วาน บุตรชาย กับบุตรสาวให้ช่วยได้ เพราะวินมาร์ค ตั้งอยู่ที่เดียวกับ แอมเพิล ริช ที่ทั้งคู่เป็นเจ้าจของคือ P.O.BOX 3151,Road Town,Tortola BVI (British Virgin Islands)
วินมาร์ค ความจริงแล้ว เป็นพระเอกในคดี ซุกหุ้นเอสซีแอสเซท ซึ่งอยุ่ในความรับผิดชอบของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สมัยรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ทำการสืบสวนสอบสวนจนเกือบจะเสร็จแล้ว มีการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาน มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุนัยถูกเด้งออกจากตำแหน่ง โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เอา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาเป็นอธิบดีแทน เพื่อรับภารกิจสำคัญคือ เป่าคดี ซุกหุ้นเอสซีแอสเซทให้หายไปจากสารบบ
พ.ต.อ.ทวีไม่ทำให้นช. ทักษิณ ผิดหวัง เพราะเมื่อทำสำนวนส่งไปให้อัยการ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างแบบไร้เดียงสาว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่คดีที่ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับสำนวนกลับมาจากอัยการแล้ว ก็เก็บซุกไว้จนบัดนี้
อย่างไรก็ตาม วินมาร์คได้มาเป็นพระรอง ในเรื่องการซุกหุ้นชินคอร์ป ของ นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ซึ่งมีพระเอกคือ บริษัท โคตรรวย หรือ แอมเพิล ริช อินเวสท์เม้นท์
นายสุนัย ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการโยกย้ายถ่ายเทหุ้นเอสซีแอสเซทมาก เพราะทำคดีนี้มาก่อน และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องคือ อัยการ ให้ศาลไต่สวน
คำให้การของทั้งสองคน อัยการสรุปไว้ในคำแถลงปิดคดี ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทวินมาร์ค ตอนหนึ่งว่า
“ ผู้ถูกกล่าวหา (นช. ทักษิณ) และผู้คัดค้านที่ 1 (คุณหญิงพจมาน) เป็นเจ้าของบริษัท เอสซี แอสเซทฯ และ บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งบริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นบริษัทที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีอำนาจสั่งการเข้าถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 53,642,130 หุ้น อยู่ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี เงินทั้งหลายที่ทำการซื้อขายหุ้นก็วนกลับไปเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น
ดังนั้นการที่ผู้ถูกกล่าวหาขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าถือหุ้นในบริษัทวินมาร์ค จำกัด ก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปฯ โดยปริยายซึ่งมีธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารอันรับสัมปทานจากรัฐ จึงเป็นการการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมและผู้ถูกกล่าวหา ไม่แสดงการถือครองหุ้นดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินจึงเป็นการปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ผ่านบริษัทวินมาร์ค จำกัด“
คตส. ซึ่งเป็นผู้ทำสำนวน ให้อัยการส่งฟ้องคดียึดทรัพย์ ไม่พาซื่อเหมือนอัยการ ที่สั่งไม่ฟ้องคดีซุกหุ้นเอสซีแอสเซท ที่ยึดเอาแบบรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักฐานสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ คตส. ซึ่งคงจะได้ข้อมูลมาจากนายสุนัย แกะรอยทางบัญชี การโยกย้ายหุ้น เส้นทางของเงินซื้อขายหุ้น การจ่ายเงินปันผล จนสามารถคลายปมเงื่อนที่อำพรางตัวเจ้าของที่แท้จริงได้ว่า
นช.ทักษิณ คุณหญิงพจมานและครอบครัว เป็นเจ้าของซิเนตร้า ทรัสต์, ซิเนตร้า ทรัสต์ถือหุ้นในบลูไดมอนด์ 100% , บลูไดมอนด์ ถือหุ้น ในบริษัทวินมาร์ค ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 เป็นต้นมา ทั้งซิเนตรา ทรัสต์ และบลูไดมอนด์ จดทะเบียนในบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ เป็นบริษัทกระดาษ ไม่มีธุรกรรมอื่นใด นอกเหนือจาก โอนเงิน–รับเงิน โอนย้ายถ่ายเทหุ้น เพื่อเลี่ยงภาษี และปกปิดเจ้าของแท้จริง
เมื่อกลางปี 2550 ตอนที่ นช.ทักษิณ ไปซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี เขาตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “ ซิเนตร้า” เพราะเขาจะบริหารทีมเรือมใบสีฟ้าในแบบของเขาเอง หรือ “ My Way” ซึ่งเป็นเพลงของแฟรงก์ ซิเนตร้า ที่เขาชอบร้อง ตอนที่ยังมีอำนาจอยุ่
นอกจากสร้างบริษัทกระดาษเพื่ออำพรางการถือหุ้นวินมาร์คแล้ว ยังมีบริษัทกระดาษอีกชุดหนึ่งถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อปกปิดการถือหุ้นเอสซีแอสเซท ของวินมาร์ คด้วย คือ ตั้งวีไอเอฟ (VIF - Value Asset Fund Limited) ให้วินมาร์คเป็นเจ้าของ หลังจากนั้น ให้วีไอเอฟ ไปถือหุ้น โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (Overseas Growth Fund Inc. - OGF) และออฟชอร์ไดนามิกฟันด์ (Offshore Dynamic Fund - ODF)
วินมาร์ค จึงเป็นเจ้าของเอสซีแอสเซท โดยผ่านนอมินี คือ VIF ซึ่งวีไอเอฟ มีนอมินีอีกชั้นหนึ่ง คือ OGF และ ODF) ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเอสซีแอสเซท จนถึง กลางปี 2549 จึงทยอยขายจนหมด
สำหรับโยงใยที่ คตส. สาวไปจนพบว่า นช. ทักษิณ กับคุณหญิงพจมาน ซุกหุ้นชินคอร์ปไว้กับ วินมาร์คด้วย นอกเหนือไปจากที่ซุกไว้ในแอมเพิล ริชแล้ว ก็มาจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ก.ล.ต. ที่พบว่า ธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ ในฐานะผู้ดูแลหุ้น หรือคัสโตเดียน รายงานต่อ ก.ล.ต. ตามระเบียบว่า มีหุ้นชินคอร์ป ที่ฝากไว้ในบัญชี เลขที่ 8002480002 ของธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพ ซึ่งตนเป็นผู้ดูแลอยู่ รวม 15.4 ล้านหุ้น คิดเป็น ร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าร้อยละ 5 จึงต้องรายงานการถือครองหุ้นต่อ ก.ล.ต.
หุ้น 15.4 ล้านหุ้นนี้ แบ่งเป็น 2 กอง กองแรก 5.4 ล้านหุ้น ฝากเอาไว้ก่อนแล้ว ในชื่อ บริษัทวินมาร์ค 5.4 ล้านหุ้น ยังไม่ต้องรายงาน ก.ล.ต. เพราะไม่เกิน 5% ต่อมา ในวันที่ 21 สิงหาคม 2544 มีการโอนหุ้นชินคอร์ป อีก 10ล้านหุ้น มาไว้ในบัญชีนี้อีก โดยเป็นหุ้นชินคอร์ปที่แอมเพิล ริช ถืออยู่ ทำให้หุ้นชินคอร์ปที่ยูบีเอสดูแลอยุ่ เกิน 5 % ต้องรายงานต่อ ก.ล.ต. ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544 และเป็นร่องรอยเล็กๆ ที่ คตส. สาวไปหาตัวเจ้าของที่แท้จริงได้
ในแถลงการณ์ปิดคดีของ นช.ทักษิณ ได้แก้ข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ว่า
“ขอชี้แจงว่า เรื่องบริษัทผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian) เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยไม่มีพยานหลักฐานว่า หุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้น และหุ้นจำนวน 5.4 ล้าน หุ้น เป็นของใคร และบุคคลเดียวกันจะหมายถึงใคร ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบ โดยข้าพเจ้ารู้เพียงว่า ยูบีเอส เป็นบริษัทผู้รับฝากทรัพย์สิน ที่ให้บริการจัดการดูแลหุ้นและหลักทรัพย์ ซึ่งย่อมจะให้บริการแก่ลูกค้ารายอื่นด้วย และการที่ยูบีเอส มาเปิดบัญชีกับธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้แก่ยูบีเอสอีกชั้นหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่ายูบีเอสเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้ารายใด และจะมีหุ้นชินคอร์ปของลูกค้ารายใดบ้างที่ยูบีเอส ดูแลอยู่ และยูบีเอส ไม่จำต้องมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่จะต้องดูแลหุ้นชินคอร์ป ของข้าพเจ้าและคู่สมรสเท่านั้น แต่สามารถดูแลหุ้นชินคอร์ปของผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ได้ด้วย
การที่ยูบีเอสนำหุ้นชินคอร์ปของลูกค้าทุกรายที่ตนดูแลอยู่มารวมไว้ในบัญชีเดียวกัน บัญชีเลขที่ 800248002 ซึ่งเป็นบัญชีของ ยูบีเอส ก็เป็นเรื่องของยูบีเอสเอง เพราะมีฐานะเป็นบริษัทผู้รับฝากสินทรัพย์ คือหุ้นดังกล่าวทั้งหมด โดยอาจเห็นว่าเป็นหุ้นชินคอร์ป เหมือนกันจึงนำมารวมในบัญชีเดียวกัน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่ายูบีเอส คงจะต้องมีบัญชีและหลักฐานที่แสดงชัดเจนว่าหุ้นทั้งหมดในบัญชีดังกล่าวเป็นของผู้ใดและจำนวนเท่าใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ชี้แจงมาโดยตลอดแล้วว่า ข้าพเจ้าและคู่สมรสไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป ตั้งแต่ปี 2543 แล้ว หุ้นชินคอร์ป ที่ปรากฏอยู่ในความดูแลของยูบีเอส จะเป็นของใครไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้าและคู่สมรส ซึ่งอนุกรรมการไต่สวนน่าจะสอบถามโดยตรงไปยังยูบีเอส ก็จะน่าจะทราบได้เองว่าข้าพเจ้าและคู่สมรสไม่ได้ถือครองหุ้นชินคอร์ป ตามที่อนุกรรมการไต่สวนเข้าใจ”