รายงานพิเศษ …... นับถอยหลังคดีประวัติศาสตร์ ยึดทรัพย์ทักษิณ7.6 หมื่นล้าน (3)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จับโกหกคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ของ “ทักษิณ” ที่สู้ว่าข้อกล่าวหาของคตส.เป็นเพียงข้อสันนิฐานคาดเดาไม่มีสิทธิ์นำมาร้องยึดทรัพย์ เผยคำเบิกความของพยานฝ่ายอัยการในการไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ ให้การมัดทักษิณซุกหุ้น หักล้างคำให้การของพยานฝ่ายทักษิณ
คำแถลงความยาว 162 หน้า ที่ลงลายมือชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปิดคดียึดทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปว่า “ข้อกล่าวหาทั้งหมดของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เป็นเพียงการสันนิษฐาน คาดเดา และการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยไม่มีมูลความจริง ปราศจากหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา และขัดแย้งกับเอกสารทั้งหมดของราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขัดแย้งคำเบิกความของพยาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน จึงไม่มีเหตุที่จะฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาให้บุตรและพี่น้องถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน) ไว้แทน โดยไม่เชื่อว่ามีการซื้อขายหุ้นจริง …..” (อ่านข่าวประกอบ “แถลงปิดคดียึดทรัพย์ ทักษิณ สู้คตส. แค่สันนิฐานว่าโกง” ) ซึ่งเป็นคำแถลงโต้แย้งในประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการซุกหุ้นของ ทักษิณ นั้น
ถ้าหากกลับไปทบทวนตรวจสอบคำให้การของพยานสำคัญในชั้นไต่สวนของศาลฎีกาฯ จะพบว่า แม้จะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คือ นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทธรรมภิบาล ก.ล.ต. และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. มาเป็นพยานฝ่ายทักษิณเบิกความให้การเรื่องการซื้อขายและโอนหุ้นของทักษิณและคนในครอบครัว เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2552 และวันที่ 6 ส.ค. 252 ตามลำดับ แต่ประเด็นที่เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ทั้งสอง ให้การต่อศาลมีเพียงกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ถือหุ้นเกินร้อยละ 25 แต่ไม่ยื่นเรื่องทำคำเสนอซื้อซึ่งก.ล.ต.สั่งปรับแล้ว
ส่วนประเด็นบริษัทแอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทนทักษิณ หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของคดี นายธีระชัย ได้ให้การต่อศาลว่า ก.ล.ต.ไม่ได้ทำการตรวจสอบ
ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เช่นกัน คือ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้เบิกความในการไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2552 ชี้ให้เห็นถึงการทำธุรกรรมอำพรางของ ทักษิณ โดยใช้ตัวแทน หรือ “นอมินี” ถือหุ้นแทน อย่างชัดเจน
ในวันดังกล่าวนางวรัชญา เบิกความเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นใน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต๊ด จำกัด โดยสรุปความได้ว่า
(1)จากการตรวจสอบกรณีที่มีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บจก.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก.ล.ต. พบว่า บริษัทวินมาร์ค ซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1,500 ล้านบาท โดยบริษัทวินมาร์ค มอบหมายให้ทรัสต์แห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกง เป็นผู้บริหารจัดการแทน ซึ่งเมื่อตรวจสอบทรัสต์ดังกล่าว พบว่า ได้รับมอบหมายจากกองทุนบลูไดมอนด์ ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน
(2)จากการตรวจสอบบัญชีเงินค่าซื้อหุ้น พบว่า เงินค่าซื้อหุ้น 300 ล้านบาท โอนมาจากบัญชีธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของบัญชี และบริษัทวินมาร์ค โดยทรัสต์บนเกาะฮ่องกงโอนเงินซื้อหุ้นอีก 1,200 ล้านบาท ให้ชินคอร์ป หลังจากซื้อหุ้นแล้ว บริษัทวินมาร์ค มอบให้ธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงพบความโยงใยว่า บริษัทวินมาร์ค เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทรัสต์บนเกาะฮ่องกง และกองทุนบลูไดมอนด์ เป็นผู้บริหาร
(3)หลังจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ เข้ามาจัดการหุ้นให้บริษัทวินมาร์ค แล้วปรากฏว่า มีการถือครองหุ้นเกิน 5% ตามกฎหมายต้องรายงานก.ล.ต. ทราบ ก.ล.ต.จึงสงสัยและตรวจพบว่า หุ้นที่ถือเกิน 5% นั้นเป็นหุ้นที่ถือในนาม บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า เป็นของตนเองและขายให้ นายพานทองแท้ แล น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว จากการตรวจสอบหุ้นบริษัทวินมาร์ค ดังกล่าว ก.ล.ต.จึงสันนิษฐานว่า หุ้นในบริษัทวินมาร์ค และบริษัทแอมเพิลริช เป็นของคนๆ เดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ
(4)ก.ล.ต.ตรวจพบหุ้น บ.เอสซีฯ ที่ขายให้ บ.วินมาร์ค เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตั้งกองทุน 3 กองทุน คือ กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟันด์ (VAF) กองทุนโอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (OGF) และกองทุนออฟชอว์ ไดนามิค ฟันด์ (ODF) ประเทศมาเลเซีย มาถือครองหุ้นแทน บริษัทเอสซีฯ จึงถูกดำเนินคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่งไม่รายงานให้ ก.ล.ต.ทราบ และเป็นที่มาของการตรวจสอบจนพบว่า หุ้นชินคอร์ป ใน บริษัทวินมาร์ค และ บริษัทแอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้บุตรและเครือญาติรวมทั้งกองทุนอื่นถือหุ้นแทนระหว่างดำรงตำแหน่ง
นอกจากนั้น ยังมีพยานโจทก์สำคัญที่เบิกความให้การในประเด็นการถือหุ้นแทนอีกราย คือ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 ว่า
(1)ดีเอสไอได้รับคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ผ่านบริษัทวินมาร์ค โดยดีเอสไอ ได้ทำการตรวจสอบพบว่า บริษัทชินคอร์ป ถือหุ้นใน บริษัทเอสซีฯ จำนวน 60.82 เปอร์เซ็นต์ และมีกองทุนโอจีเอฟ และกองทุนโอดีเอฟ ถือหุ้นอีก 20%
ในช่วงบริษัทเอสซีฯ นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางกองทุนโอจีเอฟและกองทุนโอดีเอฟ ขอสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน จึงสงสัยว่า กองทุนทั้งสองเกี่ยวข้องกับบริษัท ชินคอร์ป หรือไม่ ทางก.ล.ต. จึงตรวจสอบและพบว่ากองทุนโอจีเอฟ และกองทุนโอดีเอฟ ถือหุ้นโดยกองทุนวีไอเอฟ โดย บริษัทวินมาร์ค ถือหุ้นกองทุนวีไอเอฟ อีกทีหนึ่ง
(2)รายงานการตรวจสอบของ ก.ล.ต. ที่ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทวินมาร์คกับบริษัทเอสซีฯ พบว่า มีการนำเงินในบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 300 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นเมื่อได้เงินมาได้โอนเงินเข้าบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงสงสัยว่า บริษัทวินมาร์ค น่าจะเป็นบุคคลเดียวกันหรือมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ
(3)เมื่อตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทเอสซีฯ พบว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน บุคคลทั้งสองยังก่อตั้งบริษัทวินมาร์ค และก่อตั้งกองทุนและบริษัทต่างๆ เป็นบริษัทลูกในเครือเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำ
(4)หลังจากปี 2543 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซีฯ โดยมีการนำกองทุนต่างๆ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ อาทิ กองทุนบูลไดมอนด์ กองทุนซิเนตร้า เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซีฯ ซึ่ง ดีเอสไอ มีเอกสารหลักฐานที่ได้รับการรับรองจากประเทศสิงค์โปร์เกี่ยวกับเรื่องเงินฝากบัญชีธนาคาร จากประเทศฮ่องกง และ มาเลเซีย เรื่องการจัดตั้งบริษัทที่เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ซึ่งบริษัทต่างๆ ดังกล่าวไม่มีอำนาจ โดยบุคคลที่ควบคุมและจัดการก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน
(5) ต่อมา บรัษัทวินมาร์ค ขายหุ้น บริษัทเอสซี คืนให้กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาพาร์พร้อมสละสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยมี นางบุษบา ดามาพงศ์ กรรมการผู้มีอำนาจใน บริษัทเอสซีฯ เป็นผู้แจ้ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการแทน บริษัทโอดีเอฟ และ บริษัทโอจีเอฟ ได้ทันที โดยไม่มีใครโต้แย้ง แล้วนำเงินเข้าบัญชี บริษัทวินมาร์ค ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ
(6)ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบพบอีกว่า ตอนที่หุ้นบริษัทเอสซีฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่เปิดเผยว่าเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทโอดีเอฟ และบริษัทโอจีเอฟ อันเป็นการปกปิดสาระสำคัญที่ควรแจ้งให้ประชาชนผู้ถือหุ้นทราบ เพราะถือหุ้นรวมกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะสามารถบริหารงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่รายงานการได้มาหรือขายไปซึ่งหุ้นทุก 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ ก.ล.ต.ทราบ ซึ่งดีเอสไอได้ทำสำนวนฟ้อง บริษัทเอสซีฯ แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้องซึ่งให้เหตุผลในประเด็นที่ประกาศ ก.ล.ต.ออกภายหลังเกิดคดีเอสซีฯแล้ว ทำให้ไม่เป็นความผิด แต่พยานเห็นว่าน่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการปกปิดสาระสำคัญเกี่ยวกับการถือหุ้น เหมือนที่เคยซุกหุ้นไปไว้ที่คนใช้ แต่กรณีนี้เป็นการซุกหุ้นใน บริษัทนิติบุคคล ซึ่งเป็นนอมินี สำหรับในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้ว
(7)นายสุนัย เบิกความต่อว่า ได้แจ้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้รับ ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการ ซึ่งขอให้ดีเอสไอดำเนินการเรื่องต่างๆทั้งสอบพยานเพิ่มเติม ก็ทำให้ตามที่ต้องการ ซึ่งพยานไม่เคยเห็นเอกสารว่า บริษัทวินมาร์ค มีนายมามุส โมฮัมหมัด อัล-ซารี ที่ฝ่ายผู้ถูกร้องและผู้คัดค้านว่าเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าของแต่อย่างใด จากหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน เชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์ค มาตั้งแต่ปี 2543-2549 มีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดความเป็นเจ้าของหุ้น
จากคำให้การของพยานทั้งสองฝ่ายข้างต้น เป็นหลักฐานพยานที่ศาลฎีกาฯ จะนำมาพิเคราะห์เพื่อตัดสินว่า ทักษิณ ใช้นอมินีถือหุ้นไว้แทนดังข้อกล่าวหาของ คตส. หรือไม่ ส่วนคำตอบจะเป็นเช่นใดคงต้องรอฟังคำตัดสินของศาลในวันที่ 26 ก.พ. 2553 นี้
//////////////////////
หมายเหตุ - คำเบิกความ ก.ล.ต. พยานฝ่ายทักษิณ
คำเบิกความของนางณัฐญา นิยมานุสร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2552 สรุปความได้ ดังนี้
กลุ่มบริษัทชินวัตรเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีใดนั้นไม่ทราบ แต่จากการตรวจสอบรายงานการซื้อขายโอนหุ้นของตระกูลชินวัตรและครอบครัวพี่น้อง พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด โอนหุ้นให้ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว กรณีที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลขณะนั้น) ขายหุ้นให้กับ นายพานทองแท้ และขายให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม
กรณีที่นายพานทองแท้ ขายหุ้นให้กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น้องสาว มีการรายงานการซื้อขายโอนดังกล่าวให้กับ ก.ล.ต.ทราบ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้นำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อให้นักลงทุนผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่สนใจเข้าไปตรวจสอบได้ แม้มีบางกรณีที่ นายพานทองแท้ และ นายบรรณพจน์ ทำรายงานการซื้อหุ้นโดยระบุเพียงว่าได้ซื้อมาจากผู้ถือหุ้นโดยตรง ไม่ระบุว่าซื้อหุ้นแม้จากบุคคลใด ก็ไม่ได้เป็นการทำผิดระเบียบ ก.ล.ต.แต่อย่างใด
นางณัฐญา เบิกความว่า เมื่อเดือนมกราคม 2549 ที่บริษัท ชินวัตร คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์ นั้น มีสื่อมวลชนแจ้งเบาะแสมาว่าการทำรายงานการถือครองหุ้นของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา น่าจะไม่ถูกต้องครบถ้วน และการซื้อขายดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน จึงได้ทำหนังสือให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ทำหนังสือชี้แจ้งกลับมา และประสานไปยังบริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ตรวจสอบว่า ที่จริงแล้วทั้งสองคนถือหุ้นอยู่จำนวนเท่าใด และมีมูลค่าเท่าใด
ผลจากการตรวจสอบ พบว่า นายพานทองแท้ ถือหุ้นเกินร้อยละ 25 แต่กลับไม่ยื่นเรื่องทำคำเสนอซื้อ ซึ่งเป็นการทำผิดระเบียบ ก.ล.ต.รวมทั้งหมด 3 กระทง นายพานทองแท้ จึงถูกสั่งปรับเงินประมาณ 5.9 ล้านบาท รวมทั้งตรวจสอบบริษัท แอมเพิลริช ซึ่งถือหุ้นชินคอร์ปจำนวน 3.29 ล้านหุ้น จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าจดทะเบียนที่ประเทศใดกันแน่
นางณัฐญา เบิกความต่อว่า การที่ราคาหุ้นชินคอร์ปมีการเปลี่ยนแปลงจะเกี่ยวข้อกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ รวมทั้งการที่ครอบครัวชินวัตรขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็กจะสร้างความเสียหายให้กับตลาดหลักทรัพย์หรือไม่เป็นจำนวนเท่าใด แต่เชื่อว่าไม่กระทบกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเพราะหากมีความประสงค์ที่จะขายก็จะได้ราคาเดียวกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
///////////////////////////////
คำเบิกความของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2552 สรุปความได้ว่า
เหตุที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกปรับเงินเนื่องจากเป็นกรรมการ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด เมื่อได้มาซึ่งหุ้นร้อยละ 5 แล้วไม่ได้รายงานให้ ก.ล.ต.ทราบ ตามข้อ 246 และเมื่อถือหุ้นเกินร้อยละ 25 แล้วไม่ได้ทำคำเสนอซื้อผู้ถือหุ้นรายย่อย ตาม ข้อ 247 และการได้หุ้นมาของ น.ส.พิณทองทา ไม่พบว่ามีการฝ่าฝืน
ส่วนประเด็นที่ บริษัทแอมเพิลริช จะเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่นั้น ก.ล.ต.ไม่ได้ทำการตรวจสอบเนื่องจากไม่มีข้อสันนิษฐานดังกล่าว สรุปผลการตรวจสอบ บริษัทแอมเพิลริช มีเพียงบริษัทเดียวไม่พบการถือหุ้นของบุคคลอื่น ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะขายหุ้นให้ บริษัทแอมเพิลริช ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์นั้น จะทำในลักษณะใดก็ได้ แต่ถ้าขายในตลาดหลักทรัพย์จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ขายนอกตลาดนั้นจะต้องเสียภาษี
//////////////////////////////
ที่มา : ทีมข่าวอาชญากรรม ASTVผู้จัดการออนไลน์