xs
xsm
sm
md
lg

"แม้ว"อ่วมจ่อยึดทรัพย์ กลต.ยันถือหุ้นเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไต่สวนยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ก.ล.ต.ยันตรวจพบว่าหุ้นที่ถือเกิน 5% เป็นหุ้น SC ที่ถือในนามแอมเพิลริช ทักษิณยอมรับเป็นของตนและขายให้ "พานทองแท้-พินทองทา" ชี้หุ้น SC ใน "วินมาร์ค-แอมเพิลริช" เป็นของแม้วคนเดียว

วานนี้ (19 พ.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน ไต่สวนพยานที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกผล ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน และครอบครัว รวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รวม 22 รายการตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้ทรัพย์สินมาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยอัยการ นำพยานไต่สวน รวม 3 ปาก ประกอบด้วย นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง และนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผช.เลขาธิการ กลต. เบิกความเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นใน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต๊ด จำกัด ว่าจากการตรวจสอบกรณีที่มีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บจก.เอสซี ฯ กลต.พบว่า บ.วินมาร์ค ฯ ซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1,500 ล้านบาท โดย บ.วินมาร์ค มอบหมายให้ทรัสต์แห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกง เป็นผู้บริหารจัดการ บ.วินมาร์ค ฯ เมื่อตรวจสอบทรัสต์แห่งนี้พบว่าได้รับมอบหมายจากกองทุน บลูไดมอนด์ ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้ซื้อหุ้นให้ บ.วินมาร์ค ฯ และการตรวจสอบบัญชีเงินค่าซื้อหุ้นพบว่า เงินค่าซื้อหุ้น 300 ล้านบาท โอนมาจากบัญชีธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของบัญชี และ บ.วินมาร์ค ฯ โดยทรัสต์บนเกาะฮ่องกงโอนเงินซื้อหุ้นอีก 1,200 ล้านบาทให้ เอสซี แอสเสท และหลังจากซื้อหุ้นแล้ว บ.วินมาร์ค ฯ มอบให้ธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการหุ้น เอสซี แอสเสท ของ บ.วินมาร์คในตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงพบความโยงใยว่า บ.วินมาร์ค ฯ เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทรัสต์บนเกาะฮ่องกง และกองทุนบลูไดมอนด์เป็นผู้บริหาร

นางวรัชญา เบิกความอีกว่า หลังจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ เข้ามาจัดการหุ้นให้ บ.วินมาร์ค ฯ แล้วปรากฏว่า มีการถือครองหุ้นเกิน 5% ตามกฎหมายต้องรายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ ก.ล.ต. จึงสงสัยและตรวจพบว่า หุ้นที่ถือเกิน 5% นั้นเป็นหุ้นที่ถือในนาม บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่าเป็นของตนเองและขายให้ นายพานทองแท้ แล น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว จาการตรวจสอหุ้นวินมาร์ค ดังกล่าว ก.ล.ต. จึงสันนิษฐานว่า หุ้นใน บ.วินมาร์ค ฯ และ บ.แอมเพิลริช ฯ เป็นของคนๆ เดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ

นางวรัชญา ยังเบิกความยืนยันว่า กลต.ตรวจพบหุ้น บ.เอสซี ฯที่ขายให้ บ.วินมาร์ค ฯ เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตั้งกองทุน 3 กองทุน คือ กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟันด์ ( VAF ) กองทุนโอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ ( OGF ) และกองทุนออฟชอว์ ไดนามิค ฟันด์ ( ODF ) ประเทศมาเลเซีย มาถือครองหุ้นแทน บ.เอสซี ฯ จึงถูกดำเนินคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่งไม่รายงานให้ กลต.ทราบ และเป็นที่มาของการตรวจสอบจนพบว่าหุ้น ใน บ.วินมาร์ค ฯ และ บ.แอมเพิลริช ฯ เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้บุตรและเครือญาติ รวมทั้งกองทุนอื่นถือหุ้นแทนระหว่างดำรงตำแหน่ง

ส่วนนายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เบิกความถึงประเด็นนโยบายเกี่ยวกับการให้เงินกู้รัฐบาลพม่าดอกเบี้ยจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือในยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เนื่องจากพม่าถูกบอยคอตในประเทศตะวันตก แต่ในส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องของผู้บริหารระดับสูงของแต่ละประเทศเป็นคนพิจารณา

ด้านนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีต ผอ.ฝ่ายกฎหมาย บริษัทแทคได้เบิกความถึงต้นทุนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งก่อนและหลังการมีผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยระบุถึงความสามารถในการแก้ไขระหว่างบริษัทเอไอเอส และ บริษัทแทค ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมจากภาครัฐ

ภายหลังศาลไต่สวนพยานทั้งสามปาก อัยการโจทก์ เตรียมนำนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ไต่สวนเกี่ยวกับ บ.เอสซี ฯ และนายบรรเจิด สิงคเนติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกี่ยวกับการรวจสอบการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น