เอเจนซี/ASTVผู้จัดการรายวัน - "สวิตเซอร์แลนด์" แซงหน้า "สหรัฐฯ" ขึ้นเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในโลกแล้ว หลังจากที่ระบบการธนาคารในสหรัฐฯ ล่มสลายและจะอยู่ในภาวะง่อนแง่นไปอีกนาน ขณะที่ "ไทย" หล่นลงมา 2 อันดับอยู่ที่ 36 สืบเนื่องจากภาวะความไร้เสถียรภาพอย่างยืดเยื้อ (คลิกอ่าน-ความสามารถแข่งขันของ"ไทย"ปีนี้) ส่วนสิงคโปร์ได้เลื่อนขึ้น 2 อันดับอยู่ที่ 5 ทั้งนี้ตามการจัดอันดับในรายงานว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกประจำปี 2009/2010 ของ เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้ (8)
รายงานฉบับนี้ระบุว่า พวกประเทศที่มุ่งเน้นธุรกิจในภาคบริการมากๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ อังกฤษ หรือไอซ์แลนด์ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุด โดยสหรัฐฯซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถูกลดอันดับจากประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกลงมาอยู่เป็นที่ 2 ซึ่งเป็นการเสียแชมป์ครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีนี้ในรูปแบบปัจจุบันเมื่อปี 2004
"เราเคยคิดว่าสหรัฐฯ อาจสูญเสียตำแหน่งแชมป์เข้าสักวัน เพราะมีความไม่สมดุลอยู่หลายประการ" เจนนิเฟอร์ บลังเค หัวหน้าเครือข่ายความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกของ เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) กล่าวและว่า "มีปัญหามากมายในตลาดการเงินที่เราไม่เคยตระหนักมาก่อน ประเทศเหล่านี้ (เช่นสหรัฐฯ และอังกฤษ) กำลังได้รับบทเรียนกันอยู่"
อย่างไรก็ตาม ความไว้วางใจต่อธนาคารของสวิสเองก็ลดลงเช่นกัน ทว่าในการประเมินความแข็งแกร่งของธนาคารของWEF สวิตเซอร์แลนด์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 44 เช่นเดิม ขณะที่ธนาคารของสหรัฐฯ หล่นลงมาอยู่ในอันดับที่ 108 ตามหลังแทนซาเนีย ส่วนอังกฤษตกไปอยู่อันดับที่ 126
ทั้งนี้ การจัดทำรายงานจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกของ WEF นี้ อาศัยการพิจารณาจากตัวแปรจำนวนมาก โดยนอกจากจะใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังรวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมารวมด้วย อีกทั้งยังใช้ตัวแปรจากการสำรวจความเห็นของพวกผู้นำทางธุรกิจ โดยให้พวกเขาประเมินประสิทธิภาพของรัฐบาลหรือความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานด้วย
WEF ชื่นชมสวิตเซอร์แลนด์ในแง่ความสามารถด้านนวัตกรรม วัฒนธรรมธุรกิจที่ก้าวหน้า บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานดีเยี่ยม และตลาดสินค้าที่มีการจัดการอย่างดี
แม้ว่าเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์จะถดถอยในปีที่แล้ว และรัฐบาลก็ต้องเข้าไปกอบกู้กิจการธนาคารยูบีเอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเช่นกัน แต่เศรษฐกิจของประเทศก็ฟื้นตัวเร็วกว่าอีกหลายประเทศและธนาคารส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ไม่เหมือนกับธนาคารของสหรัฐฯ ที่ต้องถึงขั้นล้มละลาย
สำหรับพวกประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่อย่างบราซิล อินเดีย และจีนต่างก็มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ยกเว้นรัสเซียซึ่งมีการถดถอยลงมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีการประเมินทั้งหมด 133 ประเทศ โดยตกจากอันดับที่ 12 ไปอยู่ที่ 63 เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลและความเป็นอิสระของระบบตุลาการ
จีนปรับปรุงดีขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องกันหลายปีแล้ว จนทำให้ขณะนี้อยู่ในอันดับที่ 29 โดยจีนสามารถแก้ไขปัญหาทั้งในตลาดการเงิน ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการศึกษา ซึ่งทำให้ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
อินเดียอยู่ในอันดับที่ 49 เนื่องจากมีพัฒนาการในสาขาที่ซับซ้อนเช่น การสร้างนวัตกรรม แต่ยังคงต้องปรับปรุงในเรื่องสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน
บราซิลก้าวกระโดดถึง 8 ขั้นมาอยู่อันดับที่ 56 เนื่องจากมีการปรับปรุงในเรื่องความยั่งยืนด้านงบประมาณ และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จ
นอกเหนือจากสวิตเซอร์แลนด์ที่อยู่อันดับ 1 และสหรัฐฯอันดับ 2 แล้ว สิงคโปร์ขยับขึ้นอันดับ 3 จากที่เคยอยู่อันดับ 5 โดยสลับตำแหน่งกับเดนมาร์ก ส่วนอันดับ 4 คือสวีเดนคงเดิม ฟินแลนด์และเยอรมนีก็คงที่ในอันดับ 6 และ 7 ที่เหลืออันดับ 8-10 คือญี่ปุ่น แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ
ในส่วนประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากสิงคโปร์แล้ว มาเลเซียอยู่อันดับ 24 ลดลงจากที่ 21 ส่วนบรูไนติดอันดับ 32 ดีขึ้นจากที่เคยอยู่ที่ 39 ไทยปีนี้ติดอันดับ 36 จากปีที่แล้วอยู่ที่ 34 สำหรับอินโดนีเซียอยู่ที่ 54 ขยับดีขึ้นมา 1 อันดับ เวียดนามแย่ลงมาอยู่ที่ 75 จากที่เคยอยู่อันดับ 70 เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ซึ่งหล่นมาที่ 87 จากที่เคยอยู่อันดับ 71 และกัมพูชาอยู่อันดับ 110 ถอยลงจากปีที่แล้ว 1 อันดับ