xs
xsm
sm
md
lg

KESTจ่อเพิ่มโควต้าIPOให้สถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEST) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.38% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีอยู่ 8.1% ขณะที่ในตลาดอนุพันธ์ ณ สิ้นไตรมาส3 มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 10.87% และยืนยันว่าไม่เพิ่มพอร์ตลงทุนหุ้นที่มีอยู่ 100 ล้านบาทเนื่องจากลูกค้ากว่า 90% ของ KEST เป็นนักลงทุนทั่วไป และมีลูกค้าประมาณ 70,000 บัญชี
สำหรับงานด้านวาณิชธนกิจนั้นบริษัทนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์น้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้มีเพียง 2 ราย และเกิดปัญหาการซื้อขายวันแรกในกรณีราคาหุ้นต่ำลงกว่าราคาไอพีโอ ทำให้มีแผนจะปรับกลยุทธ์การกระจายหุ้นไอพีโอใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันจองซื้อหุ้นไอพีโอเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มนี้จะลงทุนระยะยาวไม่เทขายหุ้นออกมาในวันเทรดวันแรกเหมือนนักลงทุนรายย่อยจนกดดันให้ราคาหุ้นต่ำลงกว่าปัจจัยพื้นฐาน
ขณะงานวาณิชธนกิจทีมีอยู่ขณะนี้ คืองาน M&A 8-10 ดีล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2 -3 ดีล หุ้นไอพีโอ 10 -15 ดีล private placement 1-2 ดีล ตราสารหนี้ 2-3 ดีล และปรับโครงสร้างทางการเงิน 2-4 ดีล ซึ่งปี53 จะมีงานใหญ่ระดับ 3,000 – 10,000 ล้านบาทประมาณ 2 ดีล และมูลค่างานหลัก 500 – 1,000 ล้านบาทประมาณ 1-2 งาน
ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 4,000 – 4,300 บาท เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจปี 53 ซึ่งจะเป็นปีที่จะเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อหลักทรัพย์แม้บางช่วงจะลดลงเหลือ 3,700 – 3,800 ล้านบาท เพื่อนำเงินบางส่วนจ่ายปันผล ส่วนแผนงานปี 53 มองว่า รายได้ของบริษัท โดยเฉพาะค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (90%ของรายได้ทั้งหมด) จะได้รับผลกระทบประมาณ 10 -20% จากการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ทำให้บริษัทต้องหารายได้จากธุรกิจอื่นๆเข้าทดแทนประมาณ 15% ซึ่งจะมาจากธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) การเพิ่มสินค้าในอนุพันธ์ทองคำ การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือ Derivative Warrants (DW) ประมาณ 3 สินค้า จากวงเงินที่ได้รับงานอนุมัติ 800 ล้านบาท คาดเริ่มเปิดให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าซื้อขายได้ต้นปี53 และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กิมเอ็ง ก็จะเริ่มจัดตั้งกองทุนออกมานำเสนอขายต่อผู้ลงทุนได้ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นแล้ว คงไม่เกิดภาวะสงครามราคาเหมือนช่วงปี 1999 – 2000 ดังนั้นการมุ่งเน้นด้านคุณภาพงานบริการน่าจะรักษาฐานลูกค้าของตนไว้ได้ และเชื่อว่าคนในวงการเดียวกันน่าจะมีการพูดคุยหรือกำหนดกรอบเพดานค่าคอมมิชชั่นที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และช่วยให้ทุกรายอยู่รอดได้ จนไม่เกิดปัญหาลดต้นทุนในด้านพนักงาน บริการ และบทวิเคราะห์ ส่วนกรณีค่าอินเซนทีฟ ที่มาร์เกตติ้งหลายรายยังไม่พอใจ อยากให้เข้าใจฝ่ายกับกับดูแลด้วยซึ่งต้องหาทางแก้ไขให้ทุกคนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น