xs
xsm
sm
md
lg

สศค.ยุคใหม่... เพิ่มบทบาทเอกชน ผลักดันฟื้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 1 ใน 4 หนุ่มเลือดใหม่กระทรวงการคลัง "สาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)" หมาดๆ เดิมทำหน้าที่จัดเก็บภาษีที่กรมสรรพากร วันนี้ต้องปรับเปลี่ยนบทบาททำงานสายวิชาการ กลั่นกรอง กฎหมายการเงิน ภาษีที่ดินและอื่นๆ ของกระทรวงการคลัง ถือเป็นงานที่ท้าทายและบททดสอบ "ผอ.ใหม่" ท่ามกลางเสียงนินทาว่าคงมาทำหน้าที่ "พาร์ตไทม์" ก่อนกลับไปเป็นใหญ่ที่กรมสรรพากรในปีหน้า ไปติดตามวิสัยทัศน์ว่า "สาธิต" จะพา สศค.เดินไปข้างหน้า...อย่างไร

ภารกิจของ สศค.ยุคจากนี้ไป

หน้าที่หลักของสศค.คืองานด้านวิชาการและมันสมองของกระทรวงการคลังที่เราจะยังยึดตรงนี้ไว้ โดยจะดูแลเศรษฐกิจมหภาคทั้งในและต่างประเทศให้มีความเชื่อมโยงด้านการเงิน การคลัง การลงทุน การออม ซึ่งที่ผ่านมาจากการทำงานที่กรมจัดเก็บภาษีจะทำให้เห็นข้อปลีกย่อยและมุมมองบางอย่างที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง ดังนั้นการศึกษาแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมภาษีก็จะเชิญเขามาเพื่อให้รู้ว่าในทางปฏิบัติมันใช่หรือไม่ ทำได้หรือไม่ได้

ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่ออกจากสศค.ทุกเรื่องจะต้องสามารถตอบคำถามของสังคมได้ เรื่องที่ออกไปแล้วจะต้องทำได้จริง ผู้ปฏิบัติจะต้องทำงานได้ทันทีไม่มีปัญหา เพราะเราถือว่าเป็นหน่วยงานระดับมันสมองของกระทรวงการคลัง ของประเทศ ทำอะไรออกไปต้องสมบูรณ์แบบไม่เสียหน้า เสนอออกไปแล้วต้องไม่มีถอนกลับมาแก้ใหม่ ซึ่งตรงกับแนวทางการทำงานที่ต้องให้คนนอกและหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย

จะเพิ่มบทบาทและรับฟังความเห็นจากภายนอก

การรับฟังความเห็นจากภายนอกเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติและสำคัญที่สุดคือภาคเอกชนที่เขาได้รับผลโดยตรงจากนโยบายที่ออกไป ซึ่งในปัจจุบันนี้การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือ Public-private partnerships (PPPs) เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก ซึ่งกระบวนการทำงานของสศค.ต่อจากนี้จะยึดแนวทางนี้เป็นหลัก

โดยเฉพาะงานด้านสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ทางด่วนที่มีสภาพคล่องอยู่แล้วก็ตั้งเป็นกองทุนให้ประชาชนมาลงทุน ภาคเอกชนสามารถเข้ามาตรวจสอบความโปร่งในของภาครัฐได้ในฐานที่เขาร่วมเป็นเจ้าของ ประการสำคัญช่วยลดภาระทางด้านงบประมาณของภาครัฐที่จะนำมาลงทุนด้านสาธารณูปโภคแต่นำไปลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์แทน

มาตรการที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน

ในช่วงที่ผ่านมากฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาส่วนใหญ่จะเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รักษาวินัยทางการเงินการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืน เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินการคลังตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วและกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามขั้นตอนของรัฐสภา

ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดที่เราต้องการเน้นมากที่สุดคือการรักษา วินัยทางด้านงบประมาณและการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจในการใช้เงินของอปท.อย่างอิสระ และงบประมาณที่เข้าสู่อปท.ก็เพิ่มมากขึ้นทุกที การใช้เงินจึงไม่มีวิธีการที่ชัดเจนต้องรอองค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบปีละครั้งเท่านั้นจึงเกรงว่าจะมีการรั่วไหลมากเกินไป ดังนั้นต้องหาวิธีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

กฎหมายการเงินการคลังอื่นๆ ที่จะเร่งผลักดัน

ตอนนี้สศค.มีร่างกฎหมายสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่จำนวน 8 ฉบับ คือ 1.ร่างพ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ... 3.ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... 4.ร่างพ.ร.บ.เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... 5.ร่างพ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ... 6.ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ...

ส่วนอีก 2 ฉบับเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีความทันสมัยมากขึ้นคือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540 พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้อย่างเป็นธรรม และ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนนี้ ต่อจากนั้นจะเริ่มทำประชาวิจารณ์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีนี้และจะทำให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล

ภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปี 52 จนถึงปีหน้า

สิ่งที่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันคือเศรษฐกิจปลายปีนี้มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน นั่นคือ การผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มอาเซียนล้วนผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเช่นกัน และเริ่มฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยจะเห็นจากตัวเลขการส่งออกของสินค้าไทยที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่มาตรการของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะ ๅ และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลได้สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น จึงเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีและรัฐบาลก็จะเดินหน้ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน.
กำลังโหลดความคิดเห็น