xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เคมิคอลจ่อซื้อ รง.ปิโตรฯ อาเซียน เผยมีเม็ดเงินลงทุน 6 หมื่น ล.ใน 5 ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.เคมิคอลเร่งเจรจาซื้อกิจการโรงงานปิโตรเคมีในอาเซียน หวังต่อยอดธุรกิจโอโลฟินส์ มั่นใจได้ข้อสรุปปีหน้า ฟุ้งมีเงินที่จะลงทุนถึง 6 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า ยันวางแผนรับมือหากโรงแยกฯ หน่วย 6 ไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนด โดยจะมีการหยุดโรงแครกเกอร์บางโรงเพื่อนำวัตถุดิบมาป้อนโรงเอทิลีนแครกเกอร์ล้านตันที่จะแล้วเสร็จปลายปี 2552 แย้มแผนควบรวมกิจการ 4 บริษัทในเครือ ปตท.ส่อแววเลื่อนจากปลายปีนี้ เหตุต้องรอความชัดเจนคดีมาบตาพุดก่อน ด้าน ปตท.หวั่นมาบตาพุดฉุดการใช้ก๊าซฯ หด 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน และต้องนำเข้าแอลพีจีต่างประเทศเพิ่ม

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงงานปิโตรเคมีเพื่อต่อยอดธุรกิจโอเลฟินส์ โดยเน้นลงทุนในประเทศอาเซียน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2553 โดยบริษัทฯ มีขีดความสามารถในการลงทุนดังกล่าวถึง 6 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2553-2557) นอกเหนือจากการลงทุนตามปกติในแต่ละปี สาเหตุที่บริษัทฯ ให้ความสนใจในการขยายการลงทุนในอาเซียน เนื่องจาก อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรสูงถึง 500 กว่าล้านคน เป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง การทำงานร่วมกับบริษัทในอาเซียนที่มีความใกล้เคียงด้านวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาหลายโครงการและมีความคืบหน้าไปมาก โดยเน้นการลงทุนต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีที่บริษัทดำเนินการอยู่ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วและกำลังสร้างใหม่ โดยการตัดสินใจลงทุนนั้นจะพิจารณาจากความต้องการของตลาดในอนาคต

นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มีแผนรับมือหากโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดภายในต้นปีหน้า เนื่องจากคำสั่งศาลฯ บริษัทฯ ก็อาจจะดีเลย์การเดินเครื่องโรงแครกเกอร์เดิม(I1) ออกไปต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อนำวัตถุดิบหรือก๊าซฯ ไปป้อนให้โรงงานเอทิลีนแครกเกอร์ 1 ล้านตันของบริษัท พีทีที โพลีเอทิลีนจำกัด(PTTPE)ที่จะแล้วเสร็จปลายปีนี้ รวมทั้งหาช่องทางการจัดหาวัตถุดิบมาป้อนด้วย เนื่องจากโรงงานเอทิลีนแครกเกอร์ 1 ล้านตันจะใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบจำนวนมา ซึ่งเดิมจะรับวัตถุดิบจากโรงแยกฯหน่วยที่ 6

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรง I1 จากเดิมปลายปีนี้เป็นต้นปีหน้าแทน ประมาณ 30-40 วัน เพื่อนำก๊าซฯ ที่ใช้ป้อนโรงงานดังกล่าวมาป้อนให้โรงเอทิลีนแครกเกอร์ล้านตันระหว่างที่โรงแยกฯ ไม่สามารถดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราว 76 โครงการในมาบตาพุดโดยใช้เวลาไม่นาน โดยกลุ่ม ปตท.พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเร่งศึกษาและดำเนินการทำผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) แม้ว่าจะไม่มีกฎระเบียบแน่ชัดออกมา จากปัญหาควาไม่แน่ชัดในกรณีมาบตาพุดดังกล่าว ทำให้แผนการควบรวมกิจการของ 4 บริษัทในเครือ ปตท. คือ บมจ.ปตท.เคมิคอล บมจ.ไทยออยล์ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น และบมจ.ไออาร์พีซี อาจต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในปลายปีนี้ เพราะต้องรอความชัดเจนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก่อน

นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากเดิมที่บริษัทฯ คาดการณ์ว่าไตรมาส 3 นี้จะกำลังการผลิตปิโตรเคมีในตะวันออกกลางและจีนที่จะเริ่มทยอยเข้ามา กดดันให้ต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ(สเปรด)ลดลง แต่พบว่าไตรมาส 3 สเปรดมาร์จินก็ยังดีอยู่ เชื่อว่าไตรมาส 4/2552 ก็ยังดีอยู่ โดยตลาดในภูมิภาคนี้ยังมีความต้องการเอทิลีนอยู่มาก ขณะที่กำลังการผลิตใหม่จะทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2553 ประมาณ 7 ล้านตัน ส่วนสเปรดเม็ดพลาสติก HDPE จะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่สเปรด MEG ค่อนข้างแคบมากเนื่องจากมีกำลังการผลิตล้นตลาด ทำให้บริษัทฯ ต้องหาตลาดเพิ่มเติม ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าสเปรดของเอทิลีนจะอยู่ที่ 308 เหรียญสหรัฐ/ตัน, HDPE อยู่ที่ 283 เหรียญสหรัฐ/ตัน, MEG 79 เหรียญสหรัฐ/ตัน, โอลิโอเคมี 202 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนฐานะการเงินของบริษัทฯ แข็งแกร่ง โดยมีภาระหนี้ที่จะต้องชำระในปีหน้าเพียง 1.4 พันล้านบาท ขณะที่มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษีประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการเงินหากโครงการแครกเกอร์ล้านตันไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้ตามกำหนด

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 ไม่สามารถเปิดได้ตามกำหนดในไตรมาส 1/2553 จะส่งผลให้การใช้ก๊าซฯ ลดลงวันละ 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ไทยต้องมีการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเครือ ปตท.ก็จะกระทบด้วย เนื่องจากโรงแยกก๊าซฯ นี้จะป้อนวัตถุดิบให้กับโรงเอทิลีนแครกเกอร์ 1 ล้านตันของ บมจ.ปตท.เคมิคอล เป็นลูกโซ่ ส่วนความเชื่อมั่นด้านการลงทุนนั้นยิ่งได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ ในปีหน้า ปตท.จะมีกำลังการผลิตใหม่จากแหล่งเจดีเอของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้ามา ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ขยายตัวขึ้น 8-10% ส่วนกำลังการผลิตปิโตรเคมีจากบริษัทในเครือฯ จะเพิ่มขึ้นอีก 40% ส่งผลให้รายได้ของ ปตท.เติบโตขึ้นหากโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2552 แม้ว่าสถานการณ์มาร์จินปิโตรเคมีและค่าการกลั่นอาจจะอ่อนตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 โดยค่าการกลั่นเหลือเพียง 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมทั้ง ปตท.สผ.บันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มเกี่ยวกับอุบัติเหตุแหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลียเข้ามา แต่ก็มีความหวัง ผลประกอบการของ ปตท.ในไตรมาส 4 ยังดีอยู่ โดยไตรมาส 3/2552 ปตท.มีกำไรสุทธิ 1.7หมื่นล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 4.4 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีที่แล้ว ปตท.มีกำไรสุทธิ 5.1 หมื่นล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่ปตท.จะมีกำไรสุทธิปีนี้สูงกว่าปี 2551 เป็นไปได้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น