xs
xsm
sm
md
lg

จับตาวาระครม. 17 พ.ย.52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ (17พ.ย.) มีวาระที่น่าสนใจดังนี้

**ทบทวนความสัมพันธ์ไทย-เขมร
กระทรวงการต่างประเทศ เสนอทบทวนพิจารณาสถานภาพความสัมพันธ์โดยรวม ทั้งความร่วมมือ ข้อตกลง และความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างไทบ-กัมพูชา เพื่อดำเนินการตามวิธีการทูต แต่คงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศไว้ต่อไป พร้อมข้อเรียกร้องให้กัมพูชากลับเข้าสู่การดำนินการตามหลักสากล โดยไม่เอาเรื่องของบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ โดยย้ำว่าเป็นเรื่องทวิภาคี และจะไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี และสิ่งที่ไทยจะทำจากนี้ไป คือ การทบทวนสถานภาพระหว่างไทยกับกัมพูชาเพิ่มเติม

**พาณิชย์รื้อกม.ค้าข้าวดัดหลังพ่อค้า
กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การประกอบการค้าข้าว ที่ได้ขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับเก่าเพื่อให้การจัดการประกอบการค้าข้าวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสาระสำคัญกำหนดให้ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการ 1 ชุด และให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประกอบการค้าข้าวขึ้นภายในกรมการค้าภายใน มีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นเลขานุการคณะกรรมการ เพื่อเสนอแผนการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ทั้งวิธีการแก้ไข ปัญหาอุปสรรคที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการค้าข้าว กำหนดแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการค้าข้าวของประเทศ
นอกจากนี้ยังต้องติดตามภาวะการค้าข้าว สอดส่องผู้ประกอบการค้าข้าว โดยสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกตัวบุคคลเข้ามาตรวจสอบและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภาวะการค้าข้าว รวมถึงใบอนุญาตของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าข้าว ต้องไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งยังไม่พ้นในช่วง 2 ปี หากมีการฝ่าฝืนโดยยังค้าข้าวจะต้องถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท และต้องถูกปรับรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน หากเป็นผู้ประกอบการที่ขาดการต่อใบอนุญาต จะต้องถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท

**ชง 2 ทางเลือกสางปัญหาอีลิทการ์ด
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาแนวทางเลือกการดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ ภายใต้โครงการไทยแลนด์ พรีวิเลจ การ์ด หรือ อีลิทการ์ด ซึ่งเสนอมา 2 ทางเลือก คือ การปิดบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด จำกัด และยุติโครงการโดยสิ้นเชิง หรือดำเนินการต่อไป ภายใต้ 3 แนวทางคือ การ่วมทุนกับภาคเอกชน หรือปรับแผนดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือโอนภารกิจให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้รายงานว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการไทยแลนด์อีลิท การ์ด มีสมาชิกทั้งหมด 2,570 คน และเบื้องต้นพบว่าขาดคุณสมบัติโดยเฉพาะในกรณีที่มีฐานพำนักถาวรในประเทศไทยจำนวน 795 ราย หากผลการตรวจสอบชัดเจนออกมาแล้วจะทำให้เหลือสมาชิกเพียง 1,775 ราย ขณะที่ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 46-51 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดขาดทุนสะสมล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 51 จำนวน 1,412.29 ล้านบาท เนื่องจากมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงเกินความจำเป็น มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการสมาชิกสูงโดยไม่มีข้อจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาด และการบริหารสูง ขาดความรอบคอบรัดกุมเพียงพอ การให้อำนาจผู้บริหารอย่างไม่มีข้อจำกัด และทำให้เกิดการรั่วไหลและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูง
อย่างไรก็ตามกระทรวงท่องเที่ยวฯได้ระบุว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางยกเลิกโครงการ จะมีผลกระทบที่เป็นตัวเงินที่เกิดขึ้นทันทีเป็นเงินจ่ายออกมากกว่าเงินรับเข้า จำนวน 2,399 ล้านบาท ประกอบด้วยการชำระเงินชดเชยต่อสมาชิก 2,238 ล้านบาท การชำระเงินต่อเจ้าหนี้อื่น 101 ล้านบาท การชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน 30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น 10 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งจะมีความเสียหายจากการฟ้องร้อง ค่าเสียหายของสมาชิก
แต่หากรัฐบาลเลือกให้ดำเนินกิจการต่อ โดยร่วมทุนกับเอกชนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือหุ้นมากกว่า 50 % อาจเป็นภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว มีความไม่เป็นเอกภาพในการจัดการ อาจปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์เป็นต้น แต่หากปรับแผนการดำเนินงานของบริษัท อาจเกิดภาวะขาดทุนสะสมต่อไปอีก และถ้าโอนกิจการให้ ททท. อาจเกิดภาระด้านงบประมาณ มีภาระผูกพันรัฐบาลระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น