xs
xsm
sm
md
lg

เตะโด่งบัตรเทวดา บิ๊กการเมืองชิ่งโยน ครม.เช็ดก้น พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงท่องเที่ยวฯ เตรียมชง ครม.พรุ่งนี้ ยืมมือที่ประชุมปิดบัญชีฉาวบัตรเทวดา “อีลิทการ์ด” ขณะที่ยอดขาดทุนสะสมทะลุ 1.4 พันล้าน พร้อมแจงสาเหตุความล้มเหลว ทั้งการจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงเกินความจำเป็น มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการสมาชิกสูงโดยไม่มีข้อจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาด และการบริหารสูง ขาดความรอบคอบรัดกุมเพียงพอ การให้อำนาจผู้บริหารอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้เกิดการรั่วไหลและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอ 2 ทางเลือกในการดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ ภายใต้โครงการไทยแลนด์ พรีวิเลจ คาร์ด หรืออีลิทการ์ด ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 (พรุ่งนี้) เพื่อพิจารณาการปิดบริษัท ไทยแลนด์ พรีวิเลจ คาร์ด จำกัด และยุติโครงการโดยสิ้นเชิง หรือดำเนินการต่อ ภายใต้ 3 แนวทาง คือ การ่วมทุนกับภาคเอกชน หรือปรับแผนดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือโอนภารกิจให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ดำเนินการต่อไป

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานว่า ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการไทยแลนด์อีลิทการ์ด มีสมาชิกทั้งหมด 2,570 คน และเบื้องต้นพบว่า ขาดคุณสมบัติโดยเฉพาะในกรณีที่มีฐานพำนักถาวรในประเทศไทยจำนวน 795 ราย หากผลการตรวจสอบชัดเจนออกมาแล้วจะทำให้เหลือสมาชิกเพียง 1,775 ราย

ขณะที่ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2546-2551 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดขาดทุนสะสมล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 1,412.29 ล้านบาท เนื่องจากมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงเกินความจำเป็น มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการสมาชิกสูงโดยไม่มีข้อจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาด และการบริหารสูง ขาดความรอบคอบรัดกุมเพียงพอ การให้อำนาจผู้บริหารอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้เกิดการรั่วไหลและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงท่องเที่ยวฯ ระบุว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางยกเลิกโครงการจะมีผลกระทบที่เป็นตัวเงินที่เกิดขึ้นทันทีเป็นเงินจ่ายออกมากกว่าเงินรับเข้า จำนวน 2,399 ล้านบาท ประกอบด้วย การชำระเงินชดเชยต่อสมาชิก 2,238 ล้านบาท การชำระเงินต่อเจ้าหนี้อื่น 101 ล้านบาท การชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน 30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่น 10 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งจะมีความเสียหายจากการฟ้องร้องค่าเสียหายของสมาชิก

แต่หากรัฐบาลเลือกให้ดำเนินกิจการต่อโดยร่วมทุนกับเอกชนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจเป็นภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว มีความไม่เป็นเอกภาพในการจัดการ อาจปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ เป็นต้น แต่หากปรับแผนการดำเนินงานของบริษัท อาจเกิดภาวะขาดทุนสะสมต่อไปอีก และถ้าโอนกิจการให้ ททท.อาจเกิดภาระด้านงบประมาณ มีภาระผูกพันรัฐบาลระยะยาว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น