ASTVผู้จัดการรายวัน/เอเอฟพี - “โอบามา” กับ 10 ผู้นำชาติอาเซียน จัดการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯครั้งแรก ที่สิงคโปร์วานนี้ (15) ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมออกคำแถลงร่วมย้ำให้การเลือกตั้งในพม่าปีหน้า ต้องเป็นไปอย่าง “เสรี ยุติธรรม มีส่วนร่วม และโปร่งใส” ด้านประธานาธิบดีอเมริกันระบุ ได้เรียกร้องต่อนายกฯพม่าให้ปล่อยตัว “อองซานซูจี” ด้วย
การประชุมคราวนี้แม้ไม่ได้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอะไรนัก ทว่าพวกผู้สังเกตการณ์ก็มองว่าเป็นหลักหมายที่สำคัญ เพราะถึงแม้อาเซียนและสหรัฐฯ ได้สานความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมระดับผู้นำขึ้น โดยใช้ชื่อหัวข้อการประชุมว่า “ความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูน เพื่อสันติภาพและความมั่งคั่งอันยั่งยืน”
คำแถลงร่วมภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ระบุว่า ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯได้ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกัน และทิศทางในอนาคต รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นต้นว่า วิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธ ความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร
คำแถลงร่วมยังได้สรุปสาระสำคัญต่างๆ ของการประชุม แต่ข้อที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องเกี่ยวกับพม่า โดยคำแถลงร่วมกล่าวว่า ผู้นำอาเซียนแสดงความยินดีกับนโยบายของสหรัฐฯที่ต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ต่อพม่า ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่าได้ในอนาคต และที่ประชุมฯยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบรรลุถึงการปรองดองแห่งชาติและการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าที่จะจัดขึ้นในปี 2553 ซึ่ง “จะต้องมีรูปแบบที่เสรี ยุติธรรม มีส่วนร่วม และโปร่งใส”
ทางด้าน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวในแถลงข่าวหลังการประชุมว่า ระหว่างการประชุมคราวนี้ซึ่งมี พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีของพม่าเข้าร่วมด้วย เขาได้ย้ำยืนยันนโยบายเกี่ยวกับพม่าที่เขาได้พูดเอาไว้ในวันเสาร์(14) ที่กรุงโตเกียว
ทั้งนี้ โฆษกทำเนียบขาว นายเบน โรดส์ ก็ได้อธิบายกับผู้สื่อข่าวว่า โอบามาพูดเรื่องพม่าในที่ประชุมผู้นำวานนี้ เหมือนกับที่เขาพูดเอาไว้ในสุนทรพจน์ว่าด้วยนโยบายต่อเอเชียเมื่อวันเสาร์ นั่นคือ ระบุรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐบาลพม่าต้องกระทำ ได้แก่ การปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด การปล่อยตัวนางอองซานซูจี การยุติการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย และการดำเนินการสนทนากับขบวนการประชาธิปไตยของพม่า
เจ้าหน้าที่หลายคนซึ่งอยู่ในที่ประชุมผู้นำคราวนี้บอกกับเอเอฟพีว่า ระหว่างที่โอบามาพูดเรื่องนี้ พล.อ.เต็งเส่ง ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ และเมื่อถึงคราวที่เขาพูด ก็เพียงกล่าวขอบคุณสหรัฐฯที่หันมาใช้นโยบายใหม่ซึ่งมุ่งเพิ่มปฏิสัมพันธ์ต่อพม่า
ก่อนที่การประชุมคราวนี้จะเริ่มขึ้นในห้องบอลลูมของโรงแรมแชงกรีล่า ประธานาธิบดีโอบามาและ 10 ผู้นำอาเซียนได้ยืนเข้าแถวบนเวที ต่างคนต่างไขว้แขนและยื่นไปจับมือกับผู้นำคนที่ยืนอยู่ข้างๆ ทั้งสองข้าง เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯและพม่าไม่ได้ยืนอยู่ติดกัน ดังนั้น นายโอบามาจึงไม่ได้จับมือโดยตรงกับ พล.อ.เต็งเส่งแต่อย่างใด
สำหรับการจัดโต๊ะประชุมคราวนี้ พวกผู้นำทั้ง 11 คนก็นั่งกันเป็นโต๊ะกลม โดยที่นายโอบามากับ พล.อ.เต็งเส่ง นั่งกันอยู่แทบจะตรงกันข้ามกัน
อนึ่ง ก่อนหน้าการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ในช่วงเช้าวานนี้ นายอภิสิทธิ์ได้พบหารือทวิภาคีกับนายซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้สอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ ในอาเซียนอยากทราบ และไม่อยากเห็นสถานการณ์ลุกลามบานปลายออกไป ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้อธิบายที่มาที่ไปของปัญหา และยืนยันจะดูแลปัญหาอย่างดีที่สุด ไม่ให้กระทบต่องานของอาเซียน