xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต.:ATS...ทางเลือกใหม่ที่มาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัฒนาการในตลาดทุนของประเทศพัฒนาแล้วได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในรูปแบบการควบรวมกิจการของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก หรือ Alternative Trading Systems (ATS) ขึ้นมาเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุน ด้วยความเร็วและรูปแบบการให้บริการที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์รูปแบบเดิมและบริษัทหลักทรัพย์ต้องปรับตัวอย่างหนัก กระแส ATS คืบคลานเข้ามาในประเทศไทยไม่ช้าก็เร็ว วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับ ATS กันว่าคืออะไร มีประโยชน์หรือส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและหน่วยงานต่างๆ ยังไงบ้าง

ATS ทำหน้าที่คล้ายกับตลาดหลักทรัพย์ที่เราคุ้นเคย แต่มีลักษณะเด่นคือให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ด้วย ที่สำคัญยังให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่งคำสั่งซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว และรองรับกลยุทธ์การซื้อขายที่ซับซ้อน นอกจากนั้น ATS ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่บางอย่างที่ตลาดหลักทรัพย์รูปแบบเดิมต้องทำ เช่น มีบทบาทเป็นองค์กรกำกับดูแล เป็นต้น

ATS เกิดขึ้นในประเทศที่ตลาดทุนมีการพัฒนาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยในสหรัฐฯ ATS ยังมีอีกชื่อว่า Electronic Communication Network (ECN) มีบริษัทผู้ประกอบการ เช่น Bloomberg Tradebook ในยุโรปเรียก ATS ว่า Multilateral Trading Facilities (MTF) มีผู้ประกอบการ เช่น Project Turquoise และ ITG POSIT เป็นต้น ส่วนในญี่ปุ่น มีผู้ประกอบการ เช่น JapanCrossing และ Chi-X

ATS พยายามใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปจากตลาดหลักทรัพย์รูปแบบเดิม เช่น ลดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการซื้อขาย หรือจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ที่เพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังปรับลดช่วงราคาซื้อขายขั้นต่ำ (Tick sizes) และมีบริการเสริมด้านข้อมูลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นต้น ด้วยจุดเด่นนี้เองทำให้ ATS เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ลงทุนรายใหญ่เพิ่มขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายลดลง และไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลรายการซื้อขายให้แก่สาธารณะ

เมื่อผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์ไปยังตลาดหลักทรัพย์รูปแบบเดิม ทำให้ทั้งโบรกเกอร์และตลาดหลักทรัพย์รูปแบบเดิมต้องสูญเสียรายได้ไป จึงปรับตัวด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น บริษัทหลักทรัพย์กลายมาเป็น ATS เสียเอง หรือตลาดหลักทรัพย์ปรับลดค่าธรรมเนียมการให้บริการ ปรับลดช่วงราคาซื้อขายขั้นต่ำ และปรับปรุงระบบให้สามารถรับส่งคำสั่งได้เร็วขึ้น เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์เยอรมันมีแผนที่จะลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์และการชำระราคาหลังพัฒนาระบบใหม่เสร็จ ซึ่งทำให้ต้นทุนการซื้อขายลดลงร้อยละ 13 และต้นทุนการชำระราคาลดลง ร้อยละ 28 ตลาดหลักทรัพย์แคนาดาออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมและให้เครดิตแก่ผู้ที่สามารถสร้างรายการซื้อขายได้ร้อยละ 15 ของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดด้วย

เมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดเสรีตลาดทุน โดยยกเลิกการผูกขาด และให้มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจทำให้มีการจัดตั้ง ATS ขึ้นมาเช่นเดียวกับประเทศอื่น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวอีกต่อไป และการซื้อขายไม่จำเป็นต้องผ่านโบรกเกอร์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์และผู้ร่วมตลาดต้องปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและต้นทุนในการให้บริการเพื่อที่จะอยู่รอดในยุคโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ได้ต่อไป ผลที่ตามมาก็คือผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าว เพราะมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลงนั่นเอง

               ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น