xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีเอเปกเปิดประชุมวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย.2552 นี้ สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting - AMM) โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม และจากนั้นวันที่ 13-14 พ.ย.2552 จะเป็นการประชุมระดับผู้นำ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมการประชุม ซึ่งนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นสำคัญๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้

ประเด็นหลักๆ ที่จะมีการหารือกันมีอะไรบ้าง
สาระการประชุมในด้านเศรษฐกิจมี 3 เรื่องสำคัญที่จะมีการหารือกัน ก็คือ 1.การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี 2.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาคเอเปก และ 3.วิกฤตเศรษฐกิจและการเตรียมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปกในครั้งนี้

รายละเอียดในแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร
ในเรื่องการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี รัฐมนตรีเอเปกจะมีการหารือเพื่อแสดงท่าทีในการสนับสนุนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนพ.ย.นี้ ที่เจนีวา โดยในช่วงเช้าวันที่ 11 พ.ย. ก่อนเริ่มการประชุมรัฐมนตรีเอเปก นายปาสคาล ลามี่ ผู้อำนวยการ WTO จะมาร่วมรับประทานอาหารเช้าและหารือกับรัฐมนตรีเอเปก เพื่อแจ้งความคืบหน้าการเจรจารอบโดฮาและการเตรียมการประชุมรัฐมนตรี WTO ให้รัฐมนตรีเอเปกทราบ หลังจากนั้น รัฐมนตรีเอเปก จะหารือกันและคงจะมีท่าทีออกมาในการสนับสนุนการเจรจา WTO ให้สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะประเทศสำคัญๆ ควรจะแสดงความยืดหยุ่น เพราะคุยกันทุกครั้ง ทุกคนก็อยากให้จบ แต่ที่เจนีวา เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการเปลี่ยนท่าที ทำให้การเจรจาจบได้ยาก
เรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาคเอเปกนั้น มี 3 เรื่องที่จะหารือกัน คือ เรื่องแรก จะมีการเร่งรัดการเปิดเสรีการค้าการลงทุนที่พรมแดน โดยเน้นเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าและการบริการ โดยจะคุยกันถึงความคืบหน้าการอำนวยความสะดวกที่จะให้ประเทศสมาชิกรับรองการออกใบรับรอง C/O ด้วยตัวเอง การดูรายงานผลการศึกษาการทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และการหาทางให้ประเทศสมาชิกลดข้อกีดกันทางการค้าลงมา เรื่องที่ 2 จะเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจภายในประเทศให้มีขั้นตอนน้อยลงและสะดวกขึ้น โดยจะหาทางลดขั้นตอนการทำธุรกิจในเอเปก ซึ่งจะมีการกำหนดเป้าหมายในเรื่องเหล่านี้ คือ การเริ่มต้นธุรกิจ การขอสินเชื่อ การค้าข้ามพรมแดน การบังคับใช้สัญญา และการขออนุญาตต่างๆ และเรื่องที่ 3 จะหารือถึงการปรับปรุงเครือข่ายโลจิสติกส์และขนส่งในภูมิภาคให้มีการเชื่อมโยงกันให้มากขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและการเตรียมการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รัฐมนตรีเอเปกจะมีการพิจารณาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน โดยต้องการให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน และดึงให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเน้นนโยบายพัฒนา SME และการพัฒนาศักยภาพและฝีมือแรงงาน เป็นต้น
จะมีการลงนามFTAไทย-เปรูในการประชุมครั้งนี้ใช่หรือไม่
ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก จะมีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นพิธีสารที่ปรับรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ปี 2002 เป็นปี 2007 เพื่อให้พิธีสารและพิธีสารเพิ่มเติมเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทย-เปรู (Early Harvest) ที่ได้ลงนามไปแล้วเมื่อปี 2548 และ 2549 มีผลบังคับใช้ ซึ่งหากพิธีสารมีผลบังคับใช้แล้ว ไทยและเปรูผูกพันที่จะลด ยกเลิกภาษีประมาณ 70% ของรายการสินค้าทั้งหมดให้แก่กัน โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจะมีภาษีเหลือ 0% ทันที และอีกครึ่งจะค่อยๆ ลดภาษี
สำหรับสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ประโยชน์ เช่น รถปิกอัพ, เครื่องซักผ้าความจุเกิน 10 กิโลกรัม, ปรินเตอร์ และด้าย ที่เปรูจะลดภาษีจาก 4% เป็น 0% ทันที ของทำด้วยเหล็ก เหล็กกล้าอื่นๆ, ไมโครเวฟ, เครื่องรับวิทยุ, หลอดฟลูออเรสเซนต์ จาก 12% เป็น 0% ส่วนสินค้าที่เปรูจะได้ประโยชน์ เช่น สินแร่สังกะสี, เศษอะลูมิเนียม, เศษทองแดง และส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้า ที่ไทยจะลดจาก 1% เป็น 0% ปลาหมึกแช่แข็ง, สังกะสีออกไซด์ และวัตถุแต่งสี จาก 5% เป็น 0% องุ่นสด จาก 30% เป็น 0% ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ไทยต้องการนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

ไทยจะมีการหารือทวิภาคีกับประเทศใดบ้าง
ในช่วงการประชุมครั้งนี้ ไทยจะมีการหารือทวิภาคีกับสมาชิกเอเปกบางประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันหลายประเทศ โดยสหรัฐฯ จะหารือถึงกรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าไทยในหลายๆ รายการ และบางรายการใช้มาตรการเอดีมานานมากเป็น 10 ปีก็มี เกินกว่า 10 ปีก็มี ซึ่งจะหารือว่าในเชิงนโยบายสมควรเรียกเก็บอีกหรือไม่ เช่น สินค้าข้อต่อท่อเหล็ก กับเกาหลีใต้ จะหารือถึงกรณีที่เกาหลีใต้ได้มีการตรวจสอบสารตกค้างกับสินค้ากุ้งนำเข้าอย่างเข้มงวดว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร กับรัสเซีย จะมีการหารือถึงการเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หลังจากเลื่อนกันมาแล้วหลายครั้ง และกับเปรู จะมีการหารือถึงรายละเอียดในการทำ FTA ระหว่างกัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น