xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เปรูเตรียมเซ็นFTAพ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ครม.ไฟเขียวไทยลงนามเอฟทีเอไทย-เปรูแล้ว เตรียมเสนอสภาพิจารณาต่อไป คาดเซ็นกันได้ในการประชุมผู้นำเอเปกพ.ย.นี้ที่สิงคโปร์ "พาณิชย์" มั่นใจช่วยให้ส่งออกไทยไปเปรูได้ดีขึ้น และยังได้ประโยชน์ในการนำเข้าวัตถุดิบในราคาถูกลง และใช้เปรูเป็นประตูสู่อเมริกาใต้

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ไทยลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยจากนี้ไปจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และหากได้รับความเห็นชอบไทยและเปรูมีกำหนดที่จะลงนามในพิธีสารดังกล่าว ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เดือนพ.ย.2552นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ ไทยและเปรูได้ตกลงให้มีการเปิดเสรีการค้าบางส่วน ประมาณร้อยละ 70 ของสินค้าทั้งหมด เป็นสินค้าที่ลดภาษีเป็น 0 ทันที ร้อยละ 50 และลดภาษีเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี ร้อยละ 20 โดยได้ลงนามในพิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และพิธีสารเพิ่มเติมเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เมื่อปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ แต่พิธีสารดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากต้องมีการปรับรายการสินค้าและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าให้เป็นระบบ HS 2007 ตามข้อกำหนดขององค์การศุลกากรโลก

“ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จึงได้จัดทำพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยเอกสารแนบท้าย 2 ส่วน คือ รายการสินค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าของไทยและเปรูที่ปรับเป็น HS 2007 เพื่อรองรับพิธีสารที่ได้ลงนามไปแล้วให้มีผลบังคับใช้ และยังได้จัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อยืนยันความเข้าใจว่าไทยจัดให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าเกษตร ขณะที่เปรูจัดเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในการลดภาษีสินค้าได้โดยไม่เกิดปัญหาโต้แย้งกัน”นางนันทวัลย์กล่าว

นางนันทวัลย์กล่าวว่า เมื่อพิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ไทยจะได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น สินค้าไทยจะได้รับการลด/ยกเว้นภาษีจากเปรู ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ ซึ่งช่วยขยายโอกาสการส่งออกของผู้ประกอบการไทย สินค้าไทยที่มีโอกาส ได้แก่ รถปิกอัพ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์ในแง่โครงสร้างการผลิตที่เกื้อหนุนกัน กล่าวคือ สินค้าส่งออกของเปรูมายังไทยเป็นวัตถุดิบ หรือสินค้าอุตสาหกรรมขั้นต้น เช่น สังกะสี เศษทองแดง และปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าอยู่แล้ว การทำความตกลงกับเปรู ทำให้ไทยสามารถนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากเปรูได้ในราคาที่ถูกลง

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงโดยใช้เปรูเป็นประตูการค้าการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอเมริกาใต้ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น