xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์แนะเร่งพัฒนาโลจิสติกส์ รับมือเปิดเสรี-แข่งขันแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -"พาณิชย์"แนะผู้ประกอบการไทยพัฒนาโลจิสติกส์รับมือการเปิดเสรี หลังมีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้น เผยรัฐพร้อมลงไปให้ความช่วยเหลือและมีมาตรการเยียวยากรณีได้รับผลกระทบ ชี้แม้ยังไม่เปิดเสรี ก็มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโลจิสติกส์เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ระบุต้นทุนโลจิสติกส์ไทยสูงถึง 18% ของจีดีพี ทำให้การส่งออกแข่งขันลำบาก

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ หลายฉบับ ทำให้ปริมาณการนำเข้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยที่จะพัฒนาศักยภาพการให้บริการให้อยู่ในมาตรฐานสากล และมีขีดความสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันการเจรจาเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์ที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ การเจรจาภายใต้กรอบการค้าบริการอาเซียน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยกำหนดเป้าหมายในการเปิดตลาดของอาเซียนทุกประเทศไว้ ดังนี้ ปี 2551 เปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49% ปี 2553 ถือหุ้นได้ 51% และปี 2558 ถือหุ้นได้ 70% โดยมีเงื่อนไขการเปิดตลาดต้องไม่ขัดกับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ในกรอบการค้าเสรีอื่นๆ ไทยเปิดตลาดให้คนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%

นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อม รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และมีแผนให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ได้มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อยกระดับการให้บริการของผู้ให้บริการไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศ

ทั้งนี้ปัจจุบันแม้จะไม่มีการทำความตกลงการค้าเสรี แต่ในทางปฏิบัติก็มีธุรกิจต่างชาติจำนวนมากให้บริการโลจิสติกส์ในไทยอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เยอรมัน และจีน โดยเฉพาะธุรกิจบางประเภทที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจท่าเรือเพื่อการค้าระหว่างประเทศ บริการสถานีบรรจุและแยกสินค้า บริการบริหารการรับจัดส่งตามสัญญา (Third Party Logistics) บริการจัดส่งพัสดุด่วน (Express Delivery) และผู้รับจัดการขนส่ง เป็นต้น

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 18% ของจีดีพีประเทศไทย โดยสามารถแบ่งเป็นต้นทุนการขนส่ง 8% ของจีดีพี ต้นทุนการถือครองสินค้า 7% ของจีดีพี ต้นทุนการบริหาร 2% ของจีดีพี และต้นทุนการจัดการคลังสินค้า 1% ของจีดีพี ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นทุนที่สำคัญของระบบโลจิสติกส์ไทยมาจากต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการถือครองสินค้า

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี จะมีส่วนช่วยลดต้นทุน เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันในภาคการขนส่ง ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ให้บริการไทยพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ และลดต้นทุนการขนส่งของประเทศในภาพรวม ช่วยพัฒนาเครือข่ายของผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดการแบ่งเบาภาระในการถือครองสินค้า และช่วยพัฒนาการบริหารคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม จะทำให้สินค้าสามารถไหลเวียนระหว่างประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นและยังจะช่วยลดปริมาณการถือครองสินค้าของผู้ประกอบการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น