ตาก- “อลงกรณ์” เปิดหน้ารับเป็นเจ้าภาพดันแผนพัฒนาแม่สอด ขึ้นชั้นศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC หนุนสารพัดโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน หวังต่อเชื่อมเข้ากับ 3 วงแหวนการค้าในอนาคตทั้ง “กลุ่มอาเซียน , อาเซียน +3 , +6” ตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์จังหวัด ให้พ่อเมืองเป็นประธาน แก้ไขปัญหาระบบขนส่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ในการประชุมสัมมนาตามโครงการโลจิสติกส์การค้าสัญจรเพื่อช่วยภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 3/2552 ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-1 สิงหาคม 2552 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ที่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย เพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจไทยในการปรับยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย-พม่า ระบบโลจิสติกส์ เพิ่มมูลค่าการส่งออกและปรับฐานการตลาดนั้น คณะของ รมช.พาณิชย์ไทย ได้เดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ไปยังจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เพื่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดีที่บริเวณ Myawaddy Trade Zone ที่ห่างจากจังหวัดเมียวดีไปทางตะวันตกประมาณ 11 กม.ซึ่งรัฐบาลพม่าตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างไปดูงานที่ Myawaddy Trade Zone ว่า อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การค้าชายแดนและระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการตลาด รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจ ตามแนวเส้นทาง R2 หรือโครงข่ายถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) โดยจะต้องสร้างให้เป็นวงแหวน 3 วง คือวงแหวนที่ 1.กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ วงแหวนที่ 2.กลุ่มอาเซียนบวก 3 (จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น) และวงแหวนที่ 3.อาเซียนบวก 6 (ออสเตรเลีย+นิวซีแลนด์+อินเดีย)เพื่อเชื่อมโยงการค้าแบบบูรณาการของวงแหวนอาเซียนบวก 3 บวก 6 ในอนาคต
“ผมรับจะเป็นเจ้าภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาศูนย์กลางระเบียงเศรษฐกิจที่แม่สอด ตามที่ภาครัฐและเอกชน และกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ในพื้นที่เสนอขอทางรัฐบาล” นายอลงกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย ,ถนน 4 เลนตาก-แม่สอด,การช่วยเหลือพม่าในการก่อสร้างเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-มะละแหม่ง(เมาะลำไย) และอาจจะไปถึงกรุงร่างกุ้ง ตามแนว East-West Economic Corridor การก่อสร้างถนน 3 แม่ คือ แม่สอด-แม่สะเรียงและ แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวและการค้า,การผลักดันให้เกิดโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถาวรและการเพิ่มปริมาณน้ำประปา,การทำให้เป็นเขตปลอดภาษีนิคมอุตสาหกรรม,และเขตเศรษฐกิจชายแดน ตามมติ ครม.เมื่อ 19 ต.ค.2547 ,การเป็นศูนย์กลาง One Stop Service ฯลฯ
“ผมจะนำเรื่องเหล่านี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและครม.เศรษฐกิจ ในทันที”
รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน+3+6 มีมูลค่ามากกว่า 700,000-800,000 ล้านบาท/ปี ในจำนวนนี้กว่า 20% มาจากการค้ากับพม่า โดยเฉพาะที่ด่านศุลกากรแม่สอด ทำให้เราต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังของ ปี 2552 เศรษฐกิจจะดีขึ้น และจากนั้นภายใน 3 ปี ระหว่างปี 2553-2555 เศรษฐกิจการค้าชายแดนและเศรษฐกิจไทย จะเข้มแข็งเมื่อรัฐบาลมีการแก้ไขระบบและปรับยุทธศาสตร์การค้ากับประเทศคู่ค้า-คู่เจรจา
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ก่อนที่นายอลงกรณ์ จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมีย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมประชุมกับภาครัฐ และภาคเอกชน เรื่องการจัดระบบ โลจิสติกส์การค้าสัญจรเพื่อช่วยภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 3/2552 ที่ โรงแรมเซ็นธารา แม่สอดฮิลล์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นผู้กล่าวต้อนรับ และกล่าวรายงาน ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนไทย – พม่า รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และหอการค้าจังหวัดตาก-ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ขนส่ง –และนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้า ฯลฯ เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน
นายคมสัน กล่าวว่า จังหวัดตาก มีอำเภอแม่สอด เป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งมีศักยภาพที่จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า และการส่งออกให้โดยในปีพ.ศ. 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าปีละ 17,000 ล้านบาทม และคาดว่าในปีพ.ศ. 2553 จะมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 20,000 ล้านบาท
ขณะที่นายอลงกรณ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การจัดประชุมจัดโลจิสติกส์การค้าสัญจรเพื่อช่วยภาคธุรกิจไทยนั้นเป็นผลจากความคิดเห็นในเชิงยุทธศาสตร์ และนโยบายที่เห็นว่า ระบบโลจิสติส์มีความสำคัญมากต่อระบบการค้า และเนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงมาก โดยมีสัดส่วนของรายได้จากการค้าระหว่างประเทศสูงถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี. ฉะนั้นการลดต้นทุนของโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการค้าจึงถือว่ามีความสำคัญ เนื่องข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต้นทุนของโลจิสติกส์ของไทยนั้นสูงถึง ร้อยละ 20 ด้วยเหตุนี้กระทรวงพาณิชย์จึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา
“ในระดับพื้นที่ ผมขอตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระดับจังหวัด โดยมีหน่วยงานภาคราชการและภาคเอกชนเป็นคณะกรรมการร่วม และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นประธาน เพื่อให้ประสานการทำงานกับกระทรวงพาณิชย์ โดยจัดประชุมและประเมินผลการทำงานทุกระยะเพื่อเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ที่แม่สอด ให้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์และสถานการณ์ภายใต้กรอบการทำงานที่ฉับไว” รมช.พาณิชย์ กล่าวในที่ประชุม
รายงานข่าวแจ้งว่าภาคเอกชนในจังหวัดตาก ทั้งหอการค้า-สภาอุตสาหกรรม-นักธุรกิจ-พ่อค้าผู้ประกอบการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เสนอโครงการหลากหลายที่เป็นโครงการใหญ่ต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และ รมช.พาณิชย์รับที่จะเป็นเจ้าภาพ ให้เกิดเป็นรูปธรรมในทันที และคาดว่าภายใน 3-4 เดือนนี้จะเกิดและเห็นผลต่อการพัฒนาศักยภาพภาพของพื้นที่ทั้งด้านการค้า-โลจิสติกส์-และการเป็นศูนย์รวมระเบียงเศรษฐกิจและวงแหวน 3 วง อาเซียน+3+6 รวมถึงผลักดันให้แม่สอดเป็นท้องถิ่นที่มีลักษณะพื้นที่รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ควบคู่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนด้วย