xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เส้นทางEWECเกิดประโยชน์ต่อ"SMEsอีสาน" พบเพิ่มศักยภาพแข่งขัน-ตลาดขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มข. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนองานวิจัย เรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิจัยม.ขอนแก่น เผยผลวิจัยเส้นทางเศรษฐกิจ EWEC เกิดประโยชน์ต่อ SMEsอีสาน เผยผลวิจัย ระบุ SMEs ทั้งในท้องถิ่นและระดับประเทศได้ประโยชน์ ระบุแม้คู่แข่งเพิ่ม แต่ก็เพิ่มคู่ค้าเช่นกัน ทั้งตลาดขยายตัวไปพร้อมกับความสามารถแข่งขันและกระตุ้นธุรกิจให้ขยายการลงทุน ชี้วิสาหกิจขนาดกลางได้ประโยชน์สูงกว่าวิสาหกิจขนาดเล็กทุกด้าน แต่หวั่นผลกระทบสินค้าจีนตีตลาด แนะ SMEs เตรียมแผนรับ EWEC ฝึกอบรมพนักงาน ปรับปรุงระบบกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพและผลผลิตสูงขึ้น


เมื่อเร็วๆนี้ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ได้เสนอผลงานวิจัยทางวิชาการที่น่าสนใจเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมีรศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มข. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้นำเสนอ ณ ห้องประชุมอาคาร MS.02 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) มีความยาวทั้งสิ้น 1,600 กิโลเมตร(กม.) ผ่านไทย 777 กม.เป็นการสร้างเส้นทางขนส่งเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก และมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก โดยเชื่อมท่าเรือเมะละแหม่งในพม่า มาที่เมืองเมียวดี ข้ามแม่น้ำเมยผ่านไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านจ.พิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร และข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ไปจดที่ท่าเรือด่าหนัง ประเทศเวียดนาม

EWEC จึงเป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าและอุตสาหกรรมไทย อำนวยความสะดวกด้านการค้าข้ามพรมแดน เจาะตลาดใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านให้สินค้าไทย และขยายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านและติดต่อกับชาติอื่นๆมากขึ้น

จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทาง EWEC จึงมีคำถามว่า วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs )ในจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง คณะผู้วิจัยได้เก็บแบบสอบถามจากผู้ประกอบการ SMEs ในจ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์จำนวน 390 ราย เพื่อต้องการทราบการรับรู้และความเห็น SMEs เกี่ยวกับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบของ EWEC ต่อการประกอบธุรกิจ SMEs ของปี 2549-2550
สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่จ.มุกดาหาร หนึ่งในยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก
ผลวิจัยระบุEWECเกิดผลกระทบด้านบวกกับSMEs

รศ.ดร.เพ็ญศรี กล่าวถึงผลการวิจัยพบว่า SMEs ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ทราบข้อมูลเกี่ยวกับ EWEC ถึงร้อยละ 72.3 ส่วนผู้ที่ไม่ทราบเกี่ยวกับ EWEC มีร้อยละ 27.7 และการประเมินผลคิดค่าเฉลี่ยคะแนนเต็ม 5 ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเส้นทาง EWEC เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศจะได้รับประโยชน์จากเส้นทาง EWEC โดยมีค่าเฉลี่ย 3.88 และทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จาก EWEC มีค่าเฉลี่ยที่ 3.78

ขณะเดียวกันผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก EWEC มีวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก EWEC ประมาณร้อยละ 30.0 โดยประเด็นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.7 จำนวนคู่ค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.6 การขยายตัวของตลาด/กลุ่มลูกค้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.8 ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 และมีการลงทุน/การขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 78.9

ทั้งนี้ขนาดของวิสาหกิจขนาดกลาง ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกมากกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม โดยมีการเพิ่มขึ้นทุกด้านทั้งรายได้ และกำไรจากการประกอบการ กำลังการผลิต ต้นทุนการผลิต การจ้างงาน การลงทุน/การขยายธุรกิจ และการขยายตัวของตลาด/กลุ่มลูกค้า

ลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบการวิสาหกิจ มีความสัมพันธ์กับการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก EWEC โดยผู้ประกอบการที่มีระดับการศึกษาสูงกว่า มีประสบการณ์ในตลาดต่างประเทศ และทักษะความชำนาญด้านภาษามากกว่า มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกมากกว่าผู้ที่มีปัจจัยเหล่านี้น้อยกว่า และผู้ประกอบการอายุน้อยกว่ามีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวก มากกว่าผู้ประกอบการที่มีอายุมากกว่า

หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โดยรวมแล้วผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลดีจาก EWEC ผลดีที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโดยรวมในจังหวัดมีการเติบโตมากขึ้น ค่าเฉลี่ยที่ 4.18 ส่วนผลเสียคือ ผลกระทบจากการเข้ามาทำตลาดของสินค้าจีน ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก มีค่าเฉลี่ย 3.85 และต้นทุนการตลาดจะสูงขึ้นจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น มีค่าเฉลี่ยที่ 3.84

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก EWEC คือ การฝึกอบรมพนักงานและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการ มีค่าเฉลี่ยที่ 4.50 พยายามค้นหาวิธีนำเสนอสินค้าแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า และค้นหาช่องทางใหม่ๆ รวมทั้งปรับปรุงระบบกระจายสินค้าเพื่อให้จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น มีค่าเฉลี่ยที่ 4.22 เท่ากัน พยายามหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ในการผลิตและปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีเอกลักษณ์ ค่าเฉลี่ยเท่ากันที่ 4.19

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยที่ผู้ประกอบการไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ร้อยละ 27.7 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกเพิ่มขึ้น โดยสื่อที่สามารถสร้างการรับรู้ได้ดี ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต

อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากระเบียงเศรษฐกิจในด้านบวก เช่น จำนวนคู่ค้าเพิ่มขึ้น การขยายตัวของตลาด/กลุ่มลูกค้าโดยขยายตัวขึ้น และมีการลงทุน/การขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดให้การดำเนินการพัฒนาเส้นทาง EWEC ให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ต่อ SMEs ในทุกจังหวัดที่เส้นทางพาดผ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น