xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไฮไลต์ประเด็นด้านเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. 2552 กระทรวงพาณิชย์จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีการประชุมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญหลายวาระ ที่จะต้องมีการผลักดันให้สำเร็จลุล่วงในการประชุมครั้งนี้
การประชุมจะเริ่มต้นด้วย การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ด้านเศรษฐกิจ) ของอาเซียน โดยฝ่ายไทยมีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันในการเตรียมประเด็นต่างๆ ให้กับรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐมนตรีจะพิจารณาและรายงานผลให้กับผู้นำในลำดับต่อไป
จากนั้นจะเป็นการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 2 ซึ่งมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยและประธานการประชุม หัวข้อหลักในการหารือครั้งนี้จะอยู่ที่การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจ (AEC Scorecard) ของอาเซียน โดยเป็นผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2551-31 ก.ย.2552 ทั้งสิ้น 103 แผนงาน แต่ทำได้เพียง 76 แผนงาน หรือคิดเป็น 73.8% จึงต้องมีการเร่งรัดให้อาเซียนปฏิบัติตามแผนงานให้ได้ และจะมีการรายงานให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำรับทราบและกำหนดท่าทีในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทย มีภารกิจ ก็คือ การทำหน้าที่ประธานในการหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจกับประธานสมาพันธ์ยานยนต์ และสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน เพื่อรับทราบข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน รวมถึงสร้างการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนเหมือนกับที่ทำสำเร็จไปแล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ จะผลักดันให้ความตกลงต่างๆ ที่อาเซียนได้ลงนามไปเมื่อครั้งการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่แล้ว เมื่อเดือนก.พ.2552 ให้มีผลบังคับใช้ตามกำหนดเวลา ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้า (ATIGA) ความตกลงด้านการลงทุน (ACIA) การจัดทำข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้ความตกลงการค้าบริการ (AFAS) รวมไปถึงการพิจารณาความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ที่จะมีการประชุมระดับผู้นำในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ณ กรุงโตเกียว
ที่สำคัญ รมว.พาณิชย์ จะร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับกับจีน ในเรื่องความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรอง
สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและจีน จะเป็นการจัดตั้งกลไกการประชุมระหว่างหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ประสานประเด็นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองและความร่วมมือในการพัฒนาการจัดเก็บฐานข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญาในระบบอัตโนมัติ และแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาสากล
ส่วนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบและรับรองระหว่างอาเซียนและจีน จะครอบคลุมเนื้อหาและความร่วมมือทางวิชาการที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าขององค์การการค้าโลก ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบและรับรอง รวมถึงให้มีความร่วมมือทางวิชาการและเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากร ตลอดจนจัดตั้งกลไกการดำเนินงาน ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้านไฮไลต์สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ก็คือ การประกาศความสำเร็จของแผนงานสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.2553 ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่จะมีการลดภาษีเป็น 0% สำหรับสินค้าทุกรายการของอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และเป็น 5% สำหรับอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม) การลดภาษีเป็น 0% สำหรับสินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษีปกติ ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) และจะประกาศถึงการมีผลบังคับใช้ของความตกลง FTA ระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
สำหรับความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) จะเสนอผลการศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในกรอบอาเซียน+3 หรือ East Asia Free Trade Area (EAFTA) และอาเซียน+6 หรือ Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA) ให้ผู้นำรับทราบ และจะหารือในส่วนของภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่อไป
การรวมกลุ่มในกรอบอาเซียน+3 จะครอบคลุมจำนวนประชากรรวมถึง 2,068 ล้านคน (31% ของประชากรโลก) และมี GDP รวม 9.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (18% ของ GDP โลก) ในขณะที่ในกรอบอาเซียน+6 จะครอบคลุมประชากรรวม 3,284 ล้านคน (50% ของประชากรโลก) และมี GDP รวม 12.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (22% ของ GDP โลก)
ในการประชุมด้านเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในการประชุดสอดยอดอาเซียนครั้งนี้ หากผลการหารือบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกกลุ่มอาเซียนกลับคืนมา และช่วยผลักดันให้อาเซียนเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอีกกลุ่มหนึ่งของโลก และจะกลายเป็นแหล่งดึงดูดการค้า การลงทุนที่สำคัญตามเป้าหมายที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น