xs
xsm
sm
md
lg

ฟัน รมช.สธ.ถือหุ้นต้องห้าม ภท.เมินศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กกต.มีมติเสนอศาล รธน.ฟัน "มานิต นพอมรบดี" หล่นเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข เหตุถือหุ้นต้องห้ามขณะดำรงตำแหน่ง ขณะที่เจ้าตัวลั่นไม่ลาออก อ้างขายหุ้นตั้งแต่ก่อนเป็น รมต.แต่ใบหุ้นหาย จะขอต่อสู้ในชั้นศาล รธน. พรรคภูมิใจไทยอุ้มตามคาด ให้นั่งเก้าอี้เสนาบดีต่อ แม้ถูกศาล รธน.ตัดสินว่าผิดก็จะแต่งตั้งกลับมาเป็น รมต.อีก

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต. วานนี้ (4 พ.ย.) ว่า จากกรณีที่กกต.เคยมีมติว่า ส.ส. 29 คนถือครองหุ้นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.48 ประกอบ ม.265(2) (4) และเสนอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ ม.106 (6) ไปแล้วนั้น กกต.เห็นว่า ในจำนวนของส.ส.ทั้งหมด มีผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา จึงมีมติให้คณะกรรมการไต่สวนไปสอบเพื่อเติมว่า ส.ส.ดังกล่าว ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีการถือหุ้นต้องห้ามจนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

ซึ่งในการประชุมกกต.ครั้งนี้กกต.ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนที่เสนอมา และมีมติเสียงข้างมากเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอว่า ในจำนวน ส.ส.ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้กกต.ตรวจสอบนั้น มีจำนวน 6 รายที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเมื่อตรวจสอบข้อมูลว่ามีการถือครองหุ้นต้องห้าม ในสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐหรือไม่ พบว่ามีรัฐมนตรีถือครองหุ้นดังกล่าวจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.หมาดไทย และนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข โดยในจำนวนนี้ มีเพียงรายเดียวที่ถือครองหุ้นต้องห้ามจนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 20 ธ.ค. 51 คือ นายมานิต

หุ้นที่นายมานิตถือครองเป็นหุ้นในบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 หุ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2545 -7ต.ค.2552 และยังถือครองหุ้น ในบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2547 จำนวน 4 ล้านหุ้น ต่อมาได้มีการขายออกทั้งหมดจำนวน 17 ครั้ง ล่าสุดขายเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2551 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม. 265 ประกอบ ม. 267 อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัวตาม ม.182 (7) ของรัฐธรรมนูญ จึงให้สำนักวินิจฉัยและคดีดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม ม. 182 วรรค 3

"ขอยืนยันว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากที่กกต. วินิจฉัยเรื่องหุ้นของส.ส.และเมื่อความปรากฏว่ามีรัฐมนตรีถือหุ้นต้องห้ามทำให้กกต. จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่าการถือหุ้นดังกล่าวเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่กกต.จะต้องการไปไล่ตามล้างตามเช็ด"

นายสุทธิพล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการของป.ป.ช. ตาม ม. 269 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีถือหุ้นอะไรก็ได้แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นหากประสงค์จะรับประโยชน์จากหุ้นที่ถือก็ต้องโอนให้กับบริษัทจัดการหุ้น โดยของนายมานิตเป็นการถือหุ้นต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม ม.182 (7) อย่างไรก็ตาม ที่กกต.มีมติเป็นเพียงความเห็น จะมีผลในเรื่องของการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

**เจ้าตัวยืนกรานไม่ลาออก

ด้าน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าหุ้นที่ส่งผลให้ กกต.มีคำวินิจฉัยเช่นนี้เป็นหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปเปอเรชั่น หรือ ทีเอเดิม ซึ่งตนซื้อมาจำนวน 500 หุ้น หุ้นละประมาณ 1 บาท ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการซื้อขายหุ้นนี้หรือไม่ หากเป็นหุ้นดังกล่าวตนได้ทำใบซื้อขายหุ้นหาย เนื่องจาก เปลี่ยนที่อยู่หลายครั้ง จึงได้ไปแจ้งความไว้ที่ สภอ.ราชบุรี และทำสัญญาซื้อขายหุ้น ที่ถือครองไว้ตั้งแต่ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพียงแต่กระบวนการ ในการออกเอกสารใบซื้อขายหุ้นเพิ่งแล้วเสร็จและส่งมาให้ตนลงนามสลักหลัง หลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ส่วนหุ้นตัวอื่น เช่น หุ้นของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ (ปตท.สผ.) และบริษัท ทีพีไอฯ ตนขายไปทั้งหมดแล้วตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ไม่ได้ถือหุ้นเยอะ และเล่นหุ้นตั้งแต่ยังไม่ได้เล่นการเมืองเลยไม่ได้ระวัง ซื้อไปแล้วก็ลืมมั้ง ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองในอนาคตต้องระวัง เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกฎหมายมีรายละเอียดเยอะ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า เรื่องนี้อยากทำให้เป็นบรรทัดฐานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทราบถึงกระบวนการขั้นตอนวิธีการที่จะต้องกระทำหากทำใบซื้อขายหุ้นหาย เพราะกรณีเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคนอื่นได้เช่นกัน หากใครไม่ระวังก็จะเกิดกรณีเช่นเดียวกัน ส่วนจะส่งผลให้มีการปรับตนพ้น ครม.หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่ในพรรค

"ผมไม่หนักใจและไม่เครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่คิดว่าเรื่องนี้ เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ทุกคนทำตามหน้าที่ ส่วนตัวผมจะทำหน้าที่ ในตำแหน่ง รมช.สาธารณสุขต่อไป พร้อมทั้งจะนำรายละเอียดเอกสารต่างๆ ไปชี้แจง เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุด ต้องรอการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ"

**ภท.ให้นั่งเก้าอี้แม้ศาล รธน.ฟัน

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นายมานิต ไม่มีความจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากยังสามารถต่อสู้ได้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวินิจฉัยให้มีความผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้าเราตรวจสอบแล้วเห็นว่ายังสามารถที่จะดำรงตำแหน่ง กลับมาอีกครั้งได้ก็ยังยืนยันที่จะให้ท่านมานิต ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมอีก ลักษณะของคำว่าผิด เป็นเรื่องคุณสมบัติ เมื่อคุณสมบัติที่ว่าถ้าท่านสามารถทำสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ตามข้อห้ามรัฐธรรมนูญหมดสิ้นไป ท่านก็มีสิทธิ์ เพราะท่านไม่มีพฤติการณ์ ในการกระทำความผิดที่ไม่เหมาะสมในการเป็นรัฐมนตรี ท่านอาจจะมีความผิดพลาด ในเรื่องความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวง ท่านยังมีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีได้

นายศุภชัยกล่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ก็ให้คำปรึกษา และท่านก็มีความเห็นทำนองเดียวกันและการที่รีบออกมาแถลงนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับใคร แต่ทางพรรคต้องการแสดงให้นายมานิตเห็นท่าทีของกรรมการบริหารพรรคว่ามีความเห็นอย่างไรเพราะทางพรรคเกรงว่านายมานิตจะลาออก

ผู้สื่อข่าวถามว่าความผิดที่ กกต.ระบุออกมาและเป็นข้อห้ามของรัฐธรรมนูญ ทางพรรคยังเห็นว่าไม่มีความผิดอีกหรือ นายศุภชัยกล่าวว่า นายมานิต ยังมีโอกาสที่จะไปต่อสู้ในกระบวนการของการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้เป็นเรื่องของ กกต. เพียงฝ่ายเดียว หลายคนไม่ว่า ส.ส. หรือส.ว. หลายคนก็ยังไม่ลาออก ยังไปรอการพิสูจน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรฐานของพรรคภูมิใจไทย ก็จะไม่ต่างกับคนอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น