xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชงศาล รธน.ชี้ “มานิต” พ้นตำแหน่ง รมช.สธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มานิต นพอมรบดี
กกต.มีมติเสนอให้ศาล รธน.วินิจิฉัยให้ “มานิต” พ้นจากตำแหน่ง รมต.เหตุถือหุ้นต้องห้ามเข้าข่าย รธน.267



วันนี้ (4 พ.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. แถลงว่า จากกรณีที่กกต.เคยมีมติว่า ส.ส. 29 คนถือครองหุ้นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา48 ประกอบมาตรา 265(2) (4) และเสนอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (6) ไปแล้วนั้น หลังกกต.มีมติดังกล่าว เห็นว่า ในจำนวนของส.ส.ทั้งหมดมีผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา จึงมีมติให้คณะกรรมการไต่สวนไปสอบเพื่อเติมว่า ส.ส.ดังกล่าวที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีการถือหุ้นต้องห้ามจนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ซึ่งในการประชุมกกต.ครั้งนี้กกต.ได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนที่เสนอมา และมีมติเสียงข้างมากเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอว่า ในจำนวน ส.ส.ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ร้องขอให้กกต.ตรวจสอบนั้น มีจำนวน 6 รายที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเมื่อตรวจสอบข้อมูลว่ามีการถือครองหุ้นต้องห้ามในสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐหรือไม่ พบว่ามีรัฐมนตรีถือครองหุ้นดังกล่าวจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.หมาดไทย และนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข โดยในจำนวนนี้มีเพียงรายเดียวที่ถือครองหุ้นต้องห้ามจนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 20 ธ.ค. 51 คือ นายมานิต

ทั้งนี้หุ้นที่นายมานิตถือครองเป็นหุ้นในบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 หุ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.45 -7ต.ค.52 และยังถือครองหุ้นในบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด มหาชน ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 47 จำนวน 4 ล้านหุ้น ต่อมาได้มีการขายออกทั้งหมดจำนวน 17 ครั้ง ล่าสุดขายเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.51 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ประกอบมาตรา 267 อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7)ของรัฐธรรมนูญ จึงให้สำนักวินิจฉัยและคดีดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 182 วรรค 3

“ ขอยืนยันว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากที่กกต.วินิจฉัยเรื่องหุ้นของส.ส.และเมื่อความปรากฏว่ามีรัฐมนตรีถือหุ้นต้องห้ามทำให้กกต.จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่าการถือหุ้นดังกล่าวเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่กกต.จะต้องการไปไล่ตามล้างตามเช็ด”นายสุทธิพลกล่าวและว่า กรณีนี้เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการของป.ป.ช.ตามมาตรา 269 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีถือหุ้นอะไรก็ได้แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นหากประสงค์จะรับประโยชน์จากหุ้นที่ถือก็ต้องโอนให้กับบริษัทจัดการหุ้น โดยของนายมานิตเป็นการถือหุ้นต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม 182 (7) อย่างไรก็ตามที่กกต.มีมติเป็นเพียงความเห็นจะมีผลในเรื่องของการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น