ปธ.กกต.มั่นใจ 9 ก.ย.นี้ ลงมติคำวินิจฉัย 44 ส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐต้องห้ามขัดรธน.หรือไม่ ยันใช้มาตรฐานเดียวกับกรณี 13 ส.ส.ปชป.ไม่หวั่นเลียนแบบ 16 ส.ว.ยื่นร้องศาลปกครอง ระบุตั้งอนุฯ สอบ “ประสพสุข” ดึงเรื่อง 16 ส.ว.ยื่นศาล รธน.ถือเป็นการทำตามระเบียบ เพราะมีผู้ร้องเรียนเข้ามา
วันนี้ (7 ก.ย.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาคุณสมบัติของ 44 ส.ส.ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนและหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทานรัฐที่จะครบกำหนดวันลงมติในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ก่อนหน้านี้ ได้ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปการจัดอันดับบริษัทที่เข้าข่ายมา ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องของการถือครองหุ้นนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูก กกต.ลงมติไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ทาง กกต.ไม่ได้สั่งให้คณะอนุกรรมการทำอย่างที่ กกต.ต้องการ แต่ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน โดยพิจารณาละเอียด คิดว่าในวันที่ 9 ก.ย.นี้ กกต.น่าจะมติได้เลยไม่น่ามีปัญหาอะไร เนื่องจากมีการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง
เมื่อถามถึงกรณีที่มี 6 ส.ส.ในกลุ่ม 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูก กกต.ลงมติว่าถือหุ้นต้องห้ามจะไปยื่นศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองนั้น ประธาน กกต.ตอบสั้นๆ ว่า เป็นสิทธิ์ของเขา กกต.ถือว่าได้ทำตามกฎหมายแล้ว
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขา กกต.กล่าวถึงกรณีเดียวกัน ว่า ทาง 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คงเห็นแนวทางจาก 16 ส.ว.ที่ได้ดำเนินการไปยื่นศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองก่อนหน้านี้ ทาง กกต.เองก็จะยื่นคำชี้แจง ในประเด็นที่คล้ายๆ กัน เพราะว่าเรื่องนี้ กกต.ทำตามขั้นตอนความเห็นของ กกต.ซึ่งไม่ได้เป็นคำสั่งทางการปกครอง เนื่องจากเป็นเพียงความเห็นของ กกต.เท่านั้นเอง แต่ทางกฎหมายได้ให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กกต.ก็ไม่ได้หนักใจ และในเรื่องนี้ต้องนำไปสู่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวางบรรทัดฐาน หากมีการชะลอกระบวนการ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเอง ไม่มีโอกาสได้ใช้ดุลพินิจ
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า จะไม่เข้ามาให้ข้อเท็จจริงกับกกต.กรณีถูกตั้งอนุกรรมการสอบสวน เลขา กกต.กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากกกต.แต่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา ทาง กกต.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกระบวนการปกติ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ อีกทั้งที่สำคัญเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ทาง กกต.ได้ใช้ระเบียบสืบสวนสอบสวนโดยอนุโลม คือ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนก็ต้องให้โอกาสทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องเข้าชี้แจ้งข้อเท็จจริง เพื่อความยุติธรรม หากผู้ถูกร้องเรียนไม่สะดวกมาเอง ก็สามารถยื่นบันทึกถ้อยคำแทนการมาให้ถ้อยคำด้วยตนเองได้
นายสุทธิพล กล่าวว่า ในวันที่ 9 ก.ย.ซึ่งเป็นวันลงมติ กกต.กรณีชี้ขาด 44 ส.ส.ว่า ถือหุ้นต้องห้ามหรือไม่นั้น ที่ผ่านมา ทาง กกต.ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมในการปรับปรุงเรื่องเกี่ยวกับเอกสารกับทางฝ่ายเลขานุการไต่สวนข้อเท็จจริง ขณะนี้เรื่องนี้เอกสารค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้น โดยจะลงมติได้หรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของ กกต.ตนคิดว่า กกต.เองก็คงไม่อยากจะเลื่อน หากลงมติได้ก็คงอยากจะลง