xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”ปลดล๊อกรถไฟ แฉบิ๊ก รฟท.สั่งหยุดรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-”มาร์ค”หารือสร.รฟท. รับฟังข้อเสนอ ก่อนถก “โสภณ”ปลดล๊อกวันนี้ เปิดบันทึกพนักงานขับรถไฟสายใต้กรุงเทพ-กันตัง ระบุชัดไม่ได้ทิ้งผู้โดยสาร แต่ถูกผู้บริหาร รฟท.สั่งให้หยุดรถ

วานนี้ (3 พ.ย.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพนักงานการรถไฟ อ.หาดใหญ่ ที่ถูกไล่ออก 6 คน และนายศิริชัย ไม้งาม ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้าพบด้วย

สร.รฟท.ยื่นข้อเสนอ

นายสาวิทย์กล่าวว่า ได้เสนอให้นายกฯ พิจารณาในหลายเรื่อง ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงพัฒนาการรถไฟฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร การเสนอให้ปลดยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ รฟท. และความไม่เป็นธรรมกรณีที่พนักงาน 6 คน ถูกไล่ออก รวมถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการหยุดเดินรถที่เขต.อ.ละแม จ.ชุมพร

“นายกฯ ย้ำว่าไม่มีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรฟท. โดยแผนที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้านั้น นายกฯ รับปากว่าจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสร.รฟท.เข้ามาร่วมดูก่อนที่จะเข้าครม. ส่วนเรื่องโทษไล่พนักงานออก นายกฯ รับที่จะนำไปดูด้วยตัวเองในข้อกฎหมาย และรับที่จะไปหารือกับฝ่ายบริหาร แต่ข้อเสนอให้ปลดผู้ว่าฯ รฟท. นั้น นายกฯ ยังไม่รับปาก ซึ่งคงต้องรอการตัดสินใจของนายกฯ อีกครั้ง”

จี้นายกฯ กล้าหาญกับ"ซาเล้ง"

นายสาวิทย์กล่าวว่า ในการหารือ สร.รฟท.ได้เสนอกรอบเวลาแล้ว ซึ่งนายกฯ เห็นว่าควรจะดูทั้งระบบก่อน แต่หากข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรอีก เพราะสร.รฟท. พยายามบอกถึงการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารไม่พยายามที่จะปฏิบัติตามกฎระบียบข้อบังคับ ทำให้มีปัญหาตามมา แต่เมื่อนายกฯ ลงมาดูปัญหาด้วยตัวเอง ก็จะติดตามดูว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วเพียงไร เพราะที่ผ่านมา ไม่มีเจตนาที่หยุดเดินรถตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยได้บอกนายกฯ ไปว่า การหยุดเดินรถที่ผ่านมา หากมีกระบวนการ หรือบรรยากาศในการพูดคุยกัน และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น

“หากไม่มีการตอบสนอง เราก็คงจะต้องต่อสู้ตามกระบวนการ นายกฯ ต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วย โดยเฉพาะการดำเนินการกับฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบ ไม่ใช่ไล่ออกเพียงพนักงาน และต้องกล้าหาญที่จะใช้กฎเหล็ก 9 ข้อ ที่ประกาศไว้กับข้าราชการและนักการเมือง ส่วนกรณีที่ฝ่ายบริหารเป็นกลุ่มก้อนที่มาจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะกดดันนายกฯ นั้น นายกฯ ต้องแสดงความกล้าหาญ เพราะเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน ดังนั้น ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่จะนำไปต่อรองไม่ได้ ดังเช่นที่ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม พูดว่า ไม่รับรู้การเจรจาก็ถือเป็นการไม่เคารพนายกฯ”นายสาวิทย์กล่าว

6 พนง.แฉถูกจำกัดพื้นที่ยื่นอุทธรณ์

นายศิริชัย ไม้งาม ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รับปากว่าวาระครม.ในเรื่องการฏิรูป รฟท. ที่นายโสภณ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. ในสัปดาห์หน้านั้น จะให้สร.รฟท. เข้ามามีส่วนร่วมในการดูด้วย

นายวิรุฬ สะแกคุ้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย อ.หาดใหญ่ หนึ่งในผู้ถูกไล่ออก กล่าวว่า รู้สึกพอใจในระดับหนึ่ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีรับปากแล้ว ทั้งในเรื่องของการอุทธรณ์คำสั่งการรถไฟที่ห้าม 6 พนักงานที่ถูกไล่ออกเข้าพื้นที่ เพราะคำสั่งแบบนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปยื่นอุทธรณ์กับใครได้ ถ้ายังมีคำสั่งนี้อยู่ก็เหมือนกับว่าเป็นการกีดกันไม่ให้อุทธรณ์ และเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม

"มาร์ค"นัดถก"ซาเล้ง-ผู้ว่าฯรฟท."วันนี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาและดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และได้นัดหารือกับรมว.คมนาคม และผู้ว่าฯ รฟท.ในวันนี้ (4 พ.ย.) ที่อาคารรัฐสภา โดยนายกฯ จะนำทุกปัญหาที่สร.รฟท. เสนอมา ไปหารือเพื่อหาทางออก ทั้งนี้ นายกฯ ยืนยันว่า หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องตั้งกลไก หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อดูในบางเรื่อง บางประเด็น ไม่ว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล หรือความปลอดภัย ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

“ซาเล้ง”ไม่สนนายกฯ ไม่เชิญร่วมหารือ

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรณีที่นายกฯ ไม่ได้เชิญตนในฐานะรมว.คมนาคมเข้าร่วมหารือด้วยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการแก้ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องเชิญใครเข้าไปหารือด้วย แต่อยู่ที่ว่าการตัดสินใจนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น นายกฯ จำเป็นต้องรับรู้ทุกอย่าง เพราะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารประเทศ

“ผมก็ต้องฟังตามนายกฯ เพราะเขามีตำแหน่งใหญ่กว่ารมว.คมนาคม แต่ผมก็ไม่เปลี่ยนจุดยืนที่ทำอยู่ขณะนี้”นายโสภณ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เพื่อขอให้สั่งการให้ยกเลิกคำสั่งไล่ออกพนักงานการรถไฟ 6 คนนั้น นายโสภณกล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของสหภาพฯ ต้องดูว่าเป็นไปตามกฏระเบียบและข้อกฎหมายหรือไม่ การเรียกร้องต้องดูว่าใครผิดก็จำเป็นต้องว่าไปตามผิดและต้องทำตามตามกฎระเบียบและกฎหมายด้วย

“กรณีดังกล่าวใครที่ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ใช่อยู่ดีๆ กระทำความผิดแล้วจะกลับเข้ามาทำงานอย่างเดิมได้ ต้องรับรู้ด้วยว่าพนักงานทั้ง 6 คนนั้น ถูกร.ฟ.ท.ไล่ออกไปแล้ว จะกลับมาได้ยังไง ส่วนกรณีที่นายกฯ ได้เชิญสหภาพฯ และผู้บริหารร.ฟ.ท. หารือเพื่อหาข้อสรุป ก็ว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่นายกฯ หารือ ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ เอง ซึ่งจะได้รู้เลยว่าใครเดินผิดเดินถูก”นายโสภณกล่าว

เปิดบันทึกแฉผู้บริหารสั่งให้หยุดรถ

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่มีความไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้สั่งการให้มีการหยุดขบวนรถไฟขบวนสายใต้ กรุงเทพ – กันตัง เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ สถานีละแม แม้ว่าสรส. จะออกมาชี้แจงโดยตลอดว่าเป็นเพราะพนักงานขับรถได้รับคำสั่งจากผู้บริหารสั่งการให้หยุดรถ จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน แต่ก็มีการกล่าวอ้างจากผู้บริหารรฟท. ว่าเป็นเพราะสร.รฟท. เป็นต้นเหตุทำให้ขบวนรถต้องหยุด

ทั้งนี้ ในที่สุดพนักงานที่ขับรถขบวนวันดังกล่าว คือ นายทรงราช รันแผ้ว พนักงานขับรถขบวนที่ 167 ออกจากสถานีชุมพร-สถานีทุ่งส่ง ได้เขียนบันทึกเพื่อเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า เมื่อนำขบวนรถมาถึงสถานีหลังสวน ได้รับบันทึกข้อความสั้น ว่า ให้รอการเปิดทางที่สถานีละแม และพอมาถึงละแม ได้รับคำสั่งทางวิทยุให้ดับเครื่องยนต์ เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง เนื่องจากอาจจำเป็นต้องจอดขบวนรถนานเกินกว่า 30 นาที โดยไม่ทราบเหตุผลการปิดทางว่ามาจากสาเหตุใด และเมื่อดับเครื่องยนต์แล้ว ได้ลงมาพักผ่อนที่ห้องพักพนักงานบนขบวนรถ ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปไหน และไม่ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว ไม่ได้ไล่ผู้โดยสารลง และไม่ได้หยุดตามคำสั่งของสหภาพฯ

ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ชัดว่า พนักงานหยุดรถโดยคำสั่งของผู้บริหารจริง และยังปรากฎหลักฐานชิ้นสำคัญอื่นๆ อีก ได้แก่ คำสั่งวันที่ 18 ต.ค.2552 ออกเวลา 17.00 น. ที่สั่งการมายังนายสถานีชุมพร ให้จัดจ้างรถยนต์ไปขนถ่ายผู้โดยสาร และมีหนังสือตามมาอีกฉบับในวันที่ 19 ต.ค.2552 เวลา 10.30 น. เพื่อให้จัดรถยนต์ขนถ่ายผู้โดยสาร

รื้อระดับรองผู้ว่าฯ อ้างโครงสร้างไม่ชัด

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 13.30 น. นายโสภณ ได้ประชุมร่วมกับนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดทำแผนยกเครื่อง ร.ฟ.ท. คณะที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับแผนการจัดการบุคลากรของรถไฟทั้งหมด

นายโสภณกล่าวว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการไปพิจารณาดูโครงสร้างตำแหน่งของฝ่ายบริหารของร.ฟ.ท.ทั้งหมด เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยเฉพาะโครงสร้างของระดับรองผู้ว่าฯร.ฟ.ท.ทั้งหมดมีการแบ่งกลุ่มงานในส่วนที่ต้องรับผิดชอบไม่ชัดเจน

“การจัดโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะระดับรองผู้ว่าฯ ไม่ได้เป็นเพราะมีความขัดแย้ง แต่การแบ่งงานที่เป็นอยู่ ค่อนข้างปนกัน ซึ่งการปรับโครงสร้างบุคลากรต้องดูไปที่ฝ่ายบริหารด้วย ซึ่งในวันที่ 5พ.ย.2552 การเอ็กซเรย์รถไฟจะเสร็จสิ้น และคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดจะรวบรวมแผนเข้าด้วยกันทั้งหมด และจะแถลงรายละเอียดของแผนทั้งหมด ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป”นายโสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับปรุงโครงสร้างบุคลากรครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับมติของบอร์ดร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2552 ที่ผ่านมา ที่ได้อนุมติให้นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการร.ฟ.ท.มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งเทียบเท่ากับระดับรองผู้ว่าร.ฟ.ท. 2 ตำแหน่ง และโยกย้ายระดับรองผู้ว่าการได้ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการหรือไม่ นายโสภณ กล่าวว่า ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งพิเศษ เอาไว้สำหรับคนทำงานพิเศษ

*เผย“ยุทธนา”สั่งแขวนรองผู้ว่าฯ นานแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท.มีรองผู้ว่าฯ 8  คน  ประกอบด้วย นายบัญชา  คงนคร ดูแลเรื่อง สำนักงานตำรวจ  ,สำนักงานคอนเทรนเนอร์ และแพทย์ , นายถวิล สามนคร ดูแลเรื่อง การสื่อสารและงานโยธา ,นายนคร จันทศร ดูแลเรื่องกิจกรรมพิเศษ  , นายประเสริฐ อัตตะนันท์ ดูแลโครงการในอนาคตและรถไฟฟ้า , นายอิทธิพล ประภาวสิทธิ์ ดูแลเรื่องการบริหารทรัพย์สิน , นายภากรณ์ ตั้งเจตน์สกาว ดูแลเรื่องโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ , นายวิโรจน์  เตรียมพงศ์พันธ์ ดูแลเรื่องฝ่ายการพาณิชย์ และ นายประจักษ์ มโนธัม  ดูแลฝ่ายช่างกลและการเดินรถ

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ภายใน ร.ฟ.ท.ทราบกันดีว่า มีรองผู้ว่าฯ ที่ถูกนายยุทธนาแขวนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ แล้ว เนื่องจากนายยุทธนาเห็นว่าไม่สามารถสั่งหรือใช้งานได้ตามใจชอบ ประกอบกับเป็นรองผู้ว่าฯ ที่เคยทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ มาก่อนหน้านี้ จึงมีความรู้ความสามารถค่อนข้างมาก ขณะที่นายยุทธนา ถูกตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่แรกว่า ความรู้ความสามารถไม่ถึงขั้น และไม่เหมาะกับการเป็นผู้ว่าฯ แต่เพราะประสานทางการเมืองได้ดีจึงได้เป็นผู้ว่าฯ  ดังนั้น หลังนายยุทธนาเข้ารับตำแหน่ง จึงสั่งโยกย้ายระดับรองผู้ว่าฯ และไม่มอบหมายงานให้ดูแล เป็นรองผู้ว่าฯตำแหน่งพิเศษอยู่แล้ว ส่วนรองผู้ว่าฯ ที่มีงานในความรับผิดชอบส่วนใหญ่ได้รับแต่งตั้งในยุคที่นายยุทธนาเป็นผู้ว่าฯ ทั้งสิ้น

**เร่งเสนอแผนปฎิรูป ร.ฟ.ท.

นายสุพจน์  ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังการประชุมว่า ได้ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ใช้งบกว่า 1.1 ล้านล้านบาท  คือ ระยะเร่งด่วน  3-5 ปี ใช้งบประมาณ 46,000 ล้านบาท สำหรับการปรับเปลี่ยนรางจาก ไม้หมอน เป็นคอนกรัต ระยะทาง 1,000 กม. วงเงินกม.ละ 4 ล้านบาท เปลี่ยนรางให้เป็นรางขนาด 100 ปอนด์ ระยะทาง 2,000 วงเงิน กม.ละ11 ล้านบาท ทำสะพามข้ามจุดตัดทางรถไฟกับถนนประมาณ 400 แห่ง ๆละประมาณ 150 ล้านบาท ทำรั้วกั้นตลอดระยะทาง 4,000 กม. ๆละ 2.5 ล้านบาท เป็นต้น ระยะกลาง 10 ปี ก่อสร้างทางคู่ 3,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 33,000 ล้านบาท และระยะยาว ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มูลค่ากว่า 707,000 ล้านบาท

นายสุพจน์กล่าวว่า เมื่อสรุปแผนทั้งหมดและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ กระทรวงคมนาคมก็จะยึดแผนพัฒนาระบบบริหารจัดการรถไฟเพื่อปฎิรูปรถไฟดำเนินการ แทนแผนฟื้นฟูเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอไว้ เนื่องจากแผนปฎิรูปนี้มีความละเอียดและดูปัญหาของร.ฟ.ท.ทุกจุด และลึกมากกว่าแผนฟื้นฟูเดิม โดยจะมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อดูว่า ร.ฟ.ท.จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการกี่ปี และจะได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปของค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้ารวมถึงรายได้จากการพัฒนาที่ดินอย่างไร จำนวนเท่าไร

**ครม.ไฟเขียวกรอบเงินกู้ซื้อหัวจักร-โบกี้

รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบ กรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 โดยมีโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 7 คัน (น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1,050 ล้านบาท

โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 700 ล้านบาท ,โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 7 คัน (น้ำหนักกดเพลา 15 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 21.43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 750.10 ล้านบาท ,โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 13 คัน (น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 55.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1,950 ล้านบาท

**ปชป.ยันไม่มีเจตนาก้าวก่าย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการประชุมส.ส.พรรคเมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ได้ชี้แจงปัญหาความขัดแย้ง จากการปิดสถานีรถไฟกับที่ประชุมว่า นายชวนไม่มีเจตนาเข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานของกระทรวงคมนาคม แต่เป็นการเข้าไปช่วยในฐานะส.ส.

นอกจากนี้ นายชวนได้มีการชี้แจงส.ส.ในพื้นที่ ที่มีการหยุดเดินรถไฟว่า ขอให้ไปคุยชี้แจงทำความเข้าใจกับนายสถานีรถไฟให้เปิดการเดินรถ เช่น ที่ อ.หาดใหญ่ เนื่องจากทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายชวน ได้แสดงความเห็นใจทาง สร.รฟท. และเสียใจต่อกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งชื่นชม การทำหน้าที่ของนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม และเห็นว่าการดำเนินการนั้น ควรเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น