xs
xsm
sm
md
lg

1 มกราคม ’53 : FTA “เราพร้อม?”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จริงๆ แล้ว มีประเด็นที่ “แสงแดด” ปรารถนาจะสาธยายในคอลัมน์นี้อยู่ 2 เรื่อง ทั้งเรื่อง “รถไฟไทย” กับ “ผลพวงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เนื่องด้วยทั้งสองกรณี มีประเด็นมากมายที่น่าจะนำมาวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะทิศทางต่อไป

แต่พอมาตรึกตรอง 2 กรณีแล้ว การประท้วงของกลุ่มสหภาพรถไฟ สามารถยืดไปนำเสนอสัปดาห์หน้าได้ เลยตัดสินใจมาจบลงที่การวิพากษ์วิจารณ์ผล “การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15” ว่าประเทศไทย ควรจะเร่งดำเนินการกำหนดแผนงานอย่างไร และไม่สำคัญเท่ากับ “ยุทธศาสตร์” พร้อม “กลยุทธ์” กับ “การเปิดการค้าเสรี (FTA : Free Trade Area)” กับ “กลุ่มประเทศสมาชิกประชาชาติอาเซียน (Asean)” ต่อไป แต่คงไม่สำคัญเท่ากับประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งจะเริ่มเปิดฉากกันในวันที่ 1 มกราคม 2553 หรืออีกเพียงประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

ก่อนที่จะตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสำหรับ “การเปิดการค้าเสรีในปี 2553” นี้ ขอสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) ว่า “ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน” มีสาระสำคัญอะไรบ้าง

“การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15” และ “การประชุมสุดยอดร่วมกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ” ผลของการประชุมก็ได้ดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า และงานใหม่ที่เป็นผลงานความริเริ่มและผลักดันของรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยสรุปมีเอกสารอันเป็นความตกลงและความเห็นชอบร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ที่มีความสำคัญเป็นประกาศ “ปฏิญญาสองฉบับ” นอกนั้นเป็นคำแถลงร่วม 2 ฉบับ เป็นเอกสารออกร่วมกัน 3 ฉบับ เป็นคำประกาศ 1 เรื่อง รับทราบเอกสาร 23 เรื่อง นอกจากนั้น ก็เป็นเอกสารลงนามและรับรองโดยคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และคำแถลงผลการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ที่เรียกว่า “ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน” ดังต่อไปนี้

1. “ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน” การจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” อย่างเป็นทางการ

2. “ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน” ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน

3. คำแถลงร่วมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5

4. แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมระหว่างกันในอาเซียน กรณีระบบลอจิสติกส์ (Logistics)

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 บวกกับ 6 ประเทศคู่เจรจา ถึงแม้ว่าจะขลุกขลักบ้างในช่วงวันแรกของการประชุมอย่างเป็นทางการ (23 ตุลาคม 2552) กรณีที่มีเพียงผู้นำ 6 ประเทศมาร่วมประชุมเท่านั้น แต่ผู้นำอีก 4 ประเทศ ยังต้องตามมาร่วมประชุมในวันถัดไป ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า “ประเทศไทยเสียหน้า!” บ้างไม่มากก็น้อย ดูเสมือนว่า การเตรียมการของหน่วยงานหลัก คือ “กระทรวงการต่างประเทศ” มิได้เน้นย้ำ จัดกำหนดการให้เรียบร้อย

แต่ในทางกลับกัน เราจะมาตำหนิกระทรวงการต่างประเทศแต่ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะว่า บรรดากำหนดการประชุม ก็ได้มีการกำหนดล่วงหน้าไปนานแล้วอย่างน้อยก็ต้อง 3-5 เดือนก่อนหน้านี้ คำถามก็คือว่า “ทำไมบรรดาผู้นำของทั้ง 4 ประเทศ ถึงไม่ได้จัดตารางเวลาไว้ให้เรียบร้อยก่อนหน้านี้?”

หรือว่า “ไม่มั่นใจ” กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อาจจะเกิดขึ้นอีกเหมือนกับการประชุมที่ล่มไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนบรรดาผู้นำต้องหนีออกจากโรงแรมแบบทุลักทุเล ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า “รอท่าทีสถานการณ์” ว่าจะมี “กลุ่มเสื้อแดง” บุกมาถึงสถานที่การประชุมหรือไม่ เรียกว่า “เอาให้ชัวร์ (แน่นอน) เสียก่อน!” จึงเดินทางมาร่วมประชุม

อย่างไรก็ดี การประชุมก็จบลงด้วยดีเรียบร้อย “ศรัทธา-ความเชื่อมั่น-ศักดิ์ศรี” ของประเทศชาติกลับสู่สภาพปกติ แต่ก็น่าเสียดายที่ “วิวาทะ” พร้อม “ลีลา” ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มา “บดบัง” ความสำเร็จและผลการประชุมในครั้งนี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหมายความว่า “แผนงาน” ในการบัญชาการของ “นายใหญ่” ในการ “ดิสเครดิต” รัฐบาลไทยสัมฤทธิผลได้เป็นอย่างดี “น่าจะมีการตบรางวัลอย่างงาม!”

ประเด็นสำคัญที่ “ขอสะกิด” กระทรวงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ และ/หรือรัฐบาลไทยที่สมควรเตรียมตัวอย่างไรกับ “การเปิดเขตการค้าเสรี” อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ทั้งระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกันเอง และระหว่าง “อาเซียน-ประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ”

เหตุผลที่ห่วงใยนั้น เนื่องด้วย “กรอบข้อตกลง” นั้น เรามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ที่แต่ละประเทศนั้นต่างอาจเตรียม “ลับมีด” กันไว้บ้างแล้ว ประเทศไทยเราถามว่า ได้เตรียมการอะไรไว้บ้างหรือยัง เนื่องด้วยการเปิดเขตการค้าเสรี (AFTA) ที่ผ่านมาหลายปีนั้น เรา “เสียเปรียบ” มาเกือบตลอดแทบจะทุก “จำนวนพิกัดและสัดส่วนสินค้า” เกือบทุกรายการ

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว กรณีสินค้าที่มีความสามารถแข่งขันต่ำ รายการสินค้าอ่อนไหว และอ่อนไหวสูง เป็น “รายการ” ที่ต้องแยกแยะและจัดอันดับเรื่องระยะเวลาในการกำหนดกรอบตกลง ทั้งนี้ ความพร้อมต้องกำหนดไว้เรียบร้อย พร้อมทั้ง “การปรับกลยุทธ์” และ “มาตรฐาน-คุณภาพ” สินค้าที่ต้อง “แข่งขัน” ได้แทบทุกกรณี!

กระทรวงสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเตรียมการให้พร้อมพอสมควร มิเช่นนั้น จะพลาดท่ากับ “กรอบข้อตกลง” ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินค้าด้านการเกษตร” ที่เราจะต้องเจอ “มาตรการกีดกัน” จากประเทศคู่เจรจา และต้องยอมรับว่า “เสียเปรียบ” มาโดยตลอด

รัฐบาล โดยเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” ทั้งองคาพยพจำต้องเตรียมการและสร้างความพร้อมในการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเผชิญศึกกับ “การแข่งขันเสรีทางการค้า” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งต้องมีการประสานงานและการประชาสัมพันธ์กับ “กลุ่มผู้ประกอบการ” ทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้ง “ทีมงาน-คณะกรรมการ” เพื่อตอบรับกับ “มรสุมเศรษฐกิจ” จากสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การตั้งป้อมเชิงรุกและเชิงรับให้เพียบพร้อมกับ “กรอบข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)” ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2553 อีก 2 ฉบับ คือ “FTA อาเซียน-อินเดีย” และ “FTA อาเซียน-เกาหลีใต้”

ทั้งนี้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษีของ “อาฟต้า (AFTA)” ของ “FTA ไทย-อินเดีย” และ “FTA อาเซียน-จีน” จะมีอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 แม้ว่าสินค้าไทยและคู่เจรจากว่าร้อยละ 90 ของจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมดจะมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0

แต่ในปัจจุบัน ผู้ส่งออกไปยังคงใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาไม่มากนัก ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากโครงสร้างการผลิตของไทยยังไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า จึงทำให้สินค้าไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพสูง แต่มักถูกประเทศคู่เจรจาจัดนำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งมีภาษีสูงและมาตรการทางการค้าต่างๆ มากมาย จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย

เราจะต้องเตรียมการและประสานงานกับ “ภาคเอกชน” และ “พี่น้องเกษตรกร” ตลอดจน สินค้าด้านเทคโนโลยีให้พร้อมสรรพ เนื่องด้วย “กรอบข้อตกลง FTA” มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน และเทคนิคอย่างมาก จึงต้องตั้งรับและรุกให้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คงไม่สำคัญเท่ากับ “การเล่นแร่แปรธาตุ-เล่นกล” ของประเทศคู่ค้าคู่เจรจา มิใช่ไร้เดียงสา ทึกทักไปว่า “เจรจากรอบข้อตกลงไปเรียบร้อยแล้วนี่น่า!”
กำลังโหลดความคิดเห็น