xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้ามุ่งสู่ฝัน‘ประชาคมเอเชีย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน – ความใฝ่ฝันที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดมหึมา ที่ประกอบด้วยประชากรราวครึ่งโลก กำลังค่อยๆ กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ในแผนการที่จะเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีของเอเชียให้เบ่งบานเฟื่องฟู ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกนักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ทางการหลายๆ ราย
ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่เป็นรายการหนึ่งในการประชุมสุดยอดประจำปีของอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่ชะอำและหัวหินช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ยูกิโอะ ฮาโตยามะ แห่งญี่ปุ่น ได้เสนอวิสัยทัศน์ในการจัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย” (East Asia Community) ขณะที่นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ก็ได้เสนอแนวความคิดเพื่อจัดตั้ง “ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก” (Asia-Pacific Community)
ความแตกต่างที่สำคัญของแนวความคิดทั้งสอง ดูจะอยู่ที่ขนาดขอบเขต โดยตามแผนการของรัดด์นั้นจะรวมเอาสหรัฐฯมาเข้าร่วมด้วยโดยตรง ขณะที่ข้อเสนอของฮาโตยามะไม่ใช่เช่นนั้น อย่างไรก็ดี แผนการทั้งสองนี้ดูจะยังขาดรายละเอียดที่จำเป็นอีกมาก และก็ยังะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอีกมากเช่นกัน แม้จะเริ่มเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในขั้นพื้นฐานกันบ้างแล้ว
กระนั้นก็ตามที นักวิเคราะห์หลายรายก็ให้ความสนใจและมีความเห็นในทางบวก
“นี่จะไม่ใช่เพียงการรวมกลุ่มกันของเอเชียให้เหนียวแน่นขึ้นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางการเมืองด้วย เพราะจะทำให้เรายิ่งมีพลังมากขึ้น” โรดอลโฟ เซเวริโน อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานศูนย์อาเซียนศึกษาในสิงคโปร์กล่าวถึงแนวความคิดของฮาโตยามะ และว่าความร่วมมือกันของเอเชียจะส่งให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เอเชียก้าวพ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เร็วกว่าประเทศตะวันตก
ตามแนวความคิดของฮาโตยามะ และก็ดูเหมือนของของรัดด์ด้วย รากฐานของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีใหม่ที่ใหญ่โตมหึมานี้ จะอยู่ที่โครงข่ายของข้อตกลงการค้าเสรีที่สมาคมอาเซียนได้ลงนามเอาไว้แบบแยกต่างหากกับทั้ง จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์
รัฐมนตรีการต่างประเทศกษิต ภิรมย์ ของไทย กล่าวในวันเสาร์(24)ว่า ในระหว่างการประชุมคราวนี้ บรรดาผู้นำของอาเซียนตกลงที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน
อีกทั้งยังทำการศึกษาต่างหากเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นโดยรวมเอาอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามาด้วย โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยบอกว่า ทั้งสองส่วนนี้อาจจะนำมารวมกันเพื่อจัดตั้ง “ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น” ต่อไป
นอกจากนั้น ในปีนี้ เอเชียตะวันออกยังได้ตกลงจัดตั้งกองทุนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์โดยใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่พวกตนมีอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
แม้ว่าประเทศในเอเชียจะร่วมมือกันอย่างดีในการใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจนสามารถผลักดันในภูมิภาคนี้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ทว่าการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ยังดูเป็นเรื่องอีกยาวไกล โดยที่ยังขาดข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในประเด็นสำคัญๆ ตั้งแต่เรื่องบทบาทของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและบางประเทศต้องการให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทเพื่อคานอำนาจกับจีนซึ่งอาจจะโดดเด่นขึ้นมาในประชาคมใหม่นี้
ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ทำให้แดนมังกรกลายเป็นผู้เล่นรายสำคัญ โดยเฉพาะในการประชุมหารือครั้งต่างๆ กับอาเซียน ขณะที่ฮาโตยามะย้ำว่าการผูกเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ นั้น ยังคงเป็นเสาหลักในนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น
กระนั้นก็ตาม บริดเก็ต เวลช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์เห็นว่าการพูดถึงการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะเป็นการพูดที่เกินเลยไป
“ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังคงเข้มแข็งและทั้งสองต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเด็นความขัดแย้งของทั้งสองจึงยังไม่ชัดเจน”
ขณะเดียวกัน ภายในส่วนที่เป็นเอเชียเอง กลับยังมีข้อพิพาทขัดแย้งที่ยังมิได้คลี่คลาย เป็นต้นว่า ปัญหาพิพาทชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียก็เพิ่งกลับมาตึงเครียด แม้ทั้งสองยักษ์ใหญ่แสดงท่าทีว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างสันติ แต่เรื่องเช่นนี้ก็อาจจะกระทบการจัดตั้งประชาคมใหม่ได้อยู่ดี
ส่วนเซเวริโนก็ชี้ว่า กระทั่งในเรื่องเศรษฐกิจ การรวมเอา 16 ประเทศเป็นเขตการค้าเสรีเดียวกัน ย่อมต้องมีปัญหามากมายที่จะต้องแก้ไข เป็นต้นว่า การเปิดเสรีสินค้าภาคการเกษตรและภาคบริการ
“พูดได้ว่าข้อเสนอของญี่ปุ่นยังคงเป็นเพียงแนวคิดอยู่มาก” เอ็นริเก มานาโล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น