xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ“มาร์ค”ทบทวนเปิดเสรีลงทุน กระทบธุรกิจเพาะขยายพันธุ์พืช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “คุณหญิงแอ๋ว” หารือนายกรัฐมนตรีทบทวนเปิดเสรีลงทุนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายย่อย ชี้เปิดทางทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดิน ยึดครองอาชีพเพาะและขยายพันธุ์พืช กลุ่มธุรกิจกล้วยไม้หวั่นกระทบหนัก

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า วานนี้ (16 ต.ค.) คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาการเปิดเสรีการลงทุนที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน โดยคุณหญิงสุพัตรา ขอให้นายกฯ พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่

ขณะนี้ คณะเจรจาของไทยภายใต้การนำของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศอาเซียน เพื่อยกเลิกข้องสงวนการลงทุนในสาขาการเกษตร ป่าไม้ และประมง ภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) ซึ่งมีการลงนามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่หัวหิน ประเทศไทย ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14

ความตกลงนี้จะให้สิทธินักลงทุนในอาเซียน และนักลงทุนนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนตามหลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) กล่าวคือนักลงทุนจากต่างชาติได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนเจ้าของประเทศ ยกเว้นในสาขาที่ได้สงวนเอาไว้(Temporary Exclusion List-TEL) และสาขาที่อ่อนไหว (Sensitive List-SL) หรือข้อยกเว้นทั่วไป (General Exeption-GE)

ความตกลงดังกล่าว จะทำให้เกิดปัญหาตามมามหาศาลโดย ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และองค์กรภาคสังคม องค์กรชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการเช่น กลุ่มธุรกิจกล้วยไม้ มากกว่า 60 กลุ่ม (และกำลังมีการล่ารายชื่อเพิ่มมากขึ้น) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุน ที่จะให้มีการยกเลิกข้อสงวนชั่วคราว (TEL) ใน 3 สาขาคือ 1) การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และ 3) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช เนื่องจากจะมีผลกระทบดังต่อไปนี้

1. เร่งให้เกิดกระบวนการกว้านซื้อที่ดินและเช่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยกลุ่มทุนจากต่างชาติ เช่น การเข้ามาสัมปทานปลูกป่าในพื้นเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นการขยายความขัดแย้งปัญหาที่ดินและปัญหาการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งระหว่างกลุ่มทุนกับชาวบ้านจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

2. กลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เช่น พันธุ์ข้าวพันธุ์ไม้ผลเมืองร้อน พืชสมุนไพร ฯลฯ รวมถึงการจดทรัพย์สินทางปัญญาจากสายพันธุ์พืช และขณะนี้ได้มีการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้บริษัทสามารถได้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชได้ง่ายขึ้น

3. การเปิดเสรีการเพาะและขยายพันธุ์พืช ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเข้ามายึดครองอาชีพและกิจการที่คนไทยได้พัฒนามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ จนกลายเป็นอาชีพของคนไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจกล้วยไม้ของไทย ทั้งนี้โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานพันธุกรรม ภาพลักษณ์ และฐานการตลาด เบียดขับผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้พัฒนามาเป็นลำดับให้สูญหายไป

4. นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมการเกษตร การอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการวิจัยในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากภาษีอากรของประชาชน

โดยสรุป การเปิดเสรีในการลงทุนทั้ง 3 สาขาจะเกิดผลกระทบยิ่งกว่าการเปิดเสรีสินค้าภายใต้ความตกลงเอฟทีเอ อีกทั้งยังขัดแย้งกับนโยบายของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และนโยบายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐบาลเองอีกด้วย

สำหรับข้อเสนอที่คุณหญิงสุพัตรา หารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องควรทบทวนมติของคณะกรรมการ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ให้คณะเจรจาของไทยยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทย 3 รายการ ด้วย 3 เหตุผล คือ

1.1 จากการจัดประชุมโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน เป็นประธาน พบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูแล 3 สาขาดังกล่าวอยู่คัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ ตัวแทนของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเช่น กลุ่มธุรกิจกล้วยไม้ รวมทั้งเครือข่ายขององค์กรชุมชน และองค์กรภาคสังคมก็ต่อต้านการเปิดเสรีการลงทุนครังนี้อย่างเต็มที่

1.2 ในขณะที่ประเทศไทยขอยกเลิกข้อสงวนใน 3 สาขาการลงทุนดังกล่าว ประเทศในอาเซียนอื่น เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น กลับยังคงรักษาข้อสงวน(TEL) ของตน สถานะของการเจรจาเช่นนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะกำหนดจุดยืนทางนโยบายการลงทุนในเรื่องนี้ของตนเสียใหม่

1.3 ขณะนี้สถานการณ์วิกฤติอาหารและพลังงานในระดับโลก ทำให้ระบบอาหารและการเกษตรจะมีความสำคัญมากขึ้น ควรสงวนการลงทุนใน 3 สาขาดังกล่าวเอาไว้สำหรับคนไทย เพื่อเป็นที่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์เมื่อโอกาสดังกล่าวมาถึงบ้าง

2. ให้นโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อสงวนชั่วคราว(TEL) 3 รายการคือ การทำประมง การทำป่าไม้ และการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช และสาขาบริการที่เกี่ยวข้องไปไว้ในรายการอ่อนไหว(SL) หรือข้อยกเว้นทั่วไป(GE) โดยให้มีผลก่อนความตกลงเกี่ยวกับการจัดทำตารางข้อสงวนจะมีผลบังคับในปี 2553

3. ควรใช้โอกาสนี้ในการประเมินและศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีการลงทุนของไทยในสาขาต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อประเทศทั้งในด้านฐานทรัพยากร เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้โดยให้มีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านและเร่งด่วนโดยหน่วยงานและสถาบันที่ไม่มีส่วนได้เสียกับการเจรจาหรือความตกลงที่จะเกิดขึ้น

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องต้องดำเนินการเจรจาภายใต้เจตนารมย์และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 อย่างเคร่งครัด กล่าวคือต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง และต้องนำกรอบการเจรจา เช่น ตารางการจัดทำข้อสงวนหรือรายการที่อ่อนไหวเพื่อขอความเห็นชอบต่อสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น