xs
xsm
sm
md
lg

KTBคาดสินเชื่อโต7% เน้นรายย่อย-ขรก.ห่วงดบ.ขาขึ้นแข่งดุฉุดสเปรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กแบงก์กรุงไทยเผยรายได้หลักของธนาคารในปี 53 มาจากสินเชื่อและค่าฟี ส่งผลให้มีการแข่งขันรุนแรง ฉุดสเปรดแบงก์ลดลง พร้อมตั้งเป้าเติบโตตัวสินเชื่อ 7% ตามการการขยายตัวของจีดีพีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3-3.5% พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อโครงการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) เปิดเผยว่า ในปี 2553 รายได้หลักของธนาคารยังคงมาจากสินเชื่อและค่าธรรมเนียม จึงทำให้การแข่งขันด้านสินเชื่อโดยรวมทั้งตลาดยังคงมีความรุนแรง ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงอาจส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) ของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงจากปี 2552

อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2553 ก็อาจส่งผลให้สเปรดของธนาคารแคบลง เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกรุงไทยสูงกว่าของธนาคารอื่น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารอื่น ซึ่งปีหน้าหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยของทั้งระบบต้องปรับขึ้นตาม โดยดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับเพิ่มขึ้นก่อนเงินกู้

"ดอกเบี้ยคงขึ้นปีหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามแบงก์ชาติ เราคงไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนเพราะต้องรอการส่งสัญญาณจากทางการ ซึ่งในส่วนสเปรดของธนาคารในปีหน้าอาจมีช่องว่างแคบลงจากปีนี้ เพราะมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเพิ่มขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้"นายอภิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากแผนธุรกิจในปี 2553 ของธนาคารในเบื้องต้นประมาณการณ์ว่า ตัวเลขสินเชื่อของธนาคารในปี 2553 จะมีการเติบโตประมาณ 7% จากปี 2552 โดยการเติบโตของสินเชื่อจะมาจากการเบิกใช้สินเชื่อของผู้รับเหมาที่เข้าประมูลงานของภาครัฐ ตามโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล และจากการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ธนาคารคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะอยู่ที่ 3 – 3.5% ซึ่งตามปกติตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะมีการเติบโตประมาณ 2 เท่าของจีดีพี

โดยในปี 2553 ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญกับสินเชื่อรายย่อยตามเดิม เพราะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นค่อนข้าง โดยขณะนี้สินเชื่อรายย่อยเติบโตแล้วประมาณ 10 – 20% ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อข้าราชการ ขณะที่ธุรกิจอื่นๆที่อยู่ในเครือของธนาคารก็ยังมีความสามารถในการเติบโตได้ดี ทั้งธุรกิจขายประกันผ่านสาขาธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจบัตรเครดิต โดยธุรกิจหลักทรัพย์มีการเติบโตที่ดีขึ้นหลังจากร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทหลักทรัพย์ ซิมิโก้ ซึ่งหลังจากการควบรวมทำให้มีมาร์เก็ตแชร์วอลุ่มของบริษัทขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์

สำหรับสินเชื่อภาครัฐในปี 2553 ธนาคารก็จะยังเข้าไปร่วมประมูลตามเดิม โดยปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งของสินเชื่อภาครัฐประมาณ 40% โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารได้ประมูลเงินกู้ของภาครัฐมาจำนวน 5 พันล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบันธนาคารได้มีการปล่อยกู้ให้กับภาครัฐเป็นจำนวนสุทธิประมาณ 5 – 6 หมื่นล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าในส่วนของการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรม ธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่ในโครงการมาบตาพุดธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่มีการเบิกใช้อีกจำนวน 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่าจะสามารถควบคุมระดับเอ็นพีแอลทั้งปีไว้ไม่ให้เกิน 4% โดยเอ็นพีแอลของธนาคารส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ขณะที่เอ็นพีแอลใหม่เกิดขึ้นไม่มากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น