xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์แกร่งฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ สินเชื่อขยับฟื้น-จับตากันสำรองเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ฟิทช์ประเมินผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 3 - 9 เดือน ยังแข็งแกร่งแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะหดตัวแรง โดยแบงก์กรุงศรีฯโดดเด่นสุดหลังซื้อพอร์ตรายย่อยจากเอไอจี และมีความเป็นไปได้ที่แบงก์บางแห่งต้องกันสำรองเพิ่ม ด้านแบงก์ชาติคาดไตรมาส 4 มีลุ้นสินเชื่อพลิกเป็นบวก

นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2552 และสำหรับงวด 9 เดือนปี 2552 ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยธนาคารส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิลดลงไม่มากนัก กำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับเดิม เนื่องจากการลดลงของต้นทุนทางการเงิน ในขณะที่การสำรองหนี้สงสัยจะสูญไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากนัก

แต่หากมองในรายละเอียดถึงผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งแล้ว นายวินเซนต์กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น เนื่องจากธนาคารฯได้มีการซื้อธุรกิจสินเชื่อรายย่อยจาก AIG และ GE และการลดลงของการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์ ในขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารทหารไทยมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากธนาคารยังคงมีความเสี่ยงเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างการดำเนินงานเพื่อรวมกับกลุ่ม ING ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารทหารไทยจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553

ส่วนแนวโน้มของผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 นั้น เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่อคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะตามหลังภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของการสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีสัญญาณการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผลการดำเนินในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 และ 2553 ปรับตัวดีขึ้นได้ ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้นการสำรองหนี้สงสัญจะสูญอาจเพิ่มขึ้นในช่วง 6 - 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารส่วนใหญ่มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 11% ประกอบกับมีอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารไทยสามารถรองรับผลกระทบ หากภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ

ขณะที่ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ภายหลังการเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติเพิ่มขึ้นนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฟิทช์เรทติ้ง (ไทยแลนด์) ประเมินว่า กล่าวว่า การเข้าถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยของธนาคารต่างชาติได้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้เงินกองทุนของธนาคาร อีกทั้งคาดว่าจะส่งผลให้การแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยนางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิและเงินปันผลต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ทรงตัวที่ 2.9% แต่ค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงในไตรมาสนี้ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นเป็น 1% ผลกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 16.5% โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 12.9%

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/52 พอมีโอกาสที่จะพลิกเป็นบวกได้ จากไตรมาส 3 ที่หดตัว 3.1% เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยในขณะนี้มีความอำนวยพอสมควร รวมทั้งหากได้รับแรงกระตุ้นต่อเนื่องจากโปรเจ็กของภาครัฐที่จะส่งผลเป็นลูกโซ่ อย่างไรก็ดียังต้องดูภาคธุรกิจถึงความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในขณะนี้ยังเห็นไม่ชัดเจนนัก โดยหลายอุตสาหกรรมยังมีความสามารถในการผลิตอยู่ ดังนั้นจึงอาจไม่มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น