xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาทที่ควรรับไว้เหนือเกล้า

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะทรงเป็นพระประมุข มีพระเนตรอันยาวไกล มีความเข้าพระทัยต่อสังคมไทยและการบริหารราชการแผ่นดิน พระบรมราโชวาทที่ทรงพระกรุณาให้กับประชาชนชาวไทยทั่วไป หรือต่อข้าราชการนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรับเหนือเกล้านำไปพินิจพิเคราะห์และนำไปปฏิบัติ สิ่งซึ่งพระองค์ทรงกล่าวเน้นก็คือ ผลประโยชน์ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ความสุขของประชาชน และการพัฒนาสังคม โดยพระองค์ท่านทรงเน้นถึงความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานที่จริงจังการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การหลีกเลี่ยงจากการประพฤติปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาสังคมต้องแก้ด้วยภูมิปัญญา และสังคมจะพัฒนาได้นั้นจะต้องมีความสามัคคีปรองดองกัน นอกจากนั้นการแก้ปัญหาจะต้องแก้ให้ถูกทาง มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายและเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้น พระองค์ทรงเน้นถึงการกระทำสิ่งที่ถูกต้อง สร้างความยุติธรรมในสังคม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเอื้ออาทรต่อกัน ที่สำคัญที่สุด การกระทำอันใดก็ตามจะต้องเป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากสะท้อนถึงความมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการปกครองบริหารแล้ว ยังถือได้ว่าประหนึ่งคำสอนที่เป็นธรรมะสำหรับการดำรงตนเพื่อให้เกิดความสุขความเจริญต่อตนเอง ต่อครอบครัว แต่ที่สำคัญที่สุดคือต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในยุคที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา ได้มีการตัดตอนย่อพระบรมราโชวาทบางส่วนมาเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท โดยมีการตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 บางส่วนของพระบรมราโชวาทที่ได้มีการยกเอาส่วนที่ครอบคลุมหัวข้อดังกล่าวมาเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้ คือ

“...ประเทศของเรามีเอกราชอธิปไตยและความเจริญมั่นคงมาได้จนทุกวันนี้ เพราะคนไทยทุกหมู่เหล่ายึดมั่นในชาติบ้านเมือง และรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายแต่ละคนให้ประสานส่งเสริมกัน...”

“…การที่จะให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มีความสุขและความเจริญ ย่อมต้องอาศัยความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่เดือดร้อนนักก็ควรจะช่วยผู้ที่เดือดร้อนมากกว่า...”

“...การดำรงรักษาชาติประเทศนั้นมิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้องกัน เกื้อกูลกัน และมีจุดมุ่งหมาย มีอุดมคติร่วมกัน...”

“...ความเจริญผาสุกและความตั้งมั่นของบ้านเมือง เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่บุคคลพึงรำลึกถึงและพึงประสงค์ และความเจริญมั่นคงนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในชาติมีความอยู่ดีเป็นปกติสุขปราศจากทุกข์ยากเข็ญ...”

“...ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติบริหารงานใหญ่ๆ เช่น งานของแผ่นดิน และความสามัคคีนี้จะเกิดมีขึ้นมั่นคงได้ ก็ด้วยบุคคลในหมู่ในคณะมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพันจิตใจของกันและกันไว้...”

“...เมื่อใดมีความเข้มแข็งมีความสามัคคีก็จะทำให้บ้านเมืองมีพลังยิ่งขึ้นเมื่อนั้น เมื่อบ้านเมืองมีพลังยิ่งขึ้น ก็สามารถที่จะทำให้พวกเราเองมีความปลอดภัยและมีความก้าวหน้าในที่สุด”

“...ผู้ที่ปฏิบัติงานโดยดีโดยบริสุทธิ์แล้ว ย่อมได้มีส่วนในการช่วยประเทศชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข...”

“...ความมีใจจริงที่ขาดไม่ได้ในการทำงานมีสองประการ ประการที่หนึ่ง คือ ความจริงใจต่อผู้ร่วมงาน ซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยความซื่อตรง เมตตา หวังดี พร้อมเสมอที่จะร่วมมือช่วยเหลือและส่งเสริมกันทุกขณะ ทั้งในฐานะผู้มีจุดประสงค์ที่ดีร่วมกัน และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติร่วมโลกกัน ประการที่สองได้แก่ ความจริงใจต่องาน มีลักษณะเป็นการตั้งสัตย์อธิษฐานหรือการตั้งใจจริงที่จะทำงานให้เต็มกำลัง...”

“...ถ้าเราจะเอาแต่ชนะ มันก็ต้องมีแพ้ แต่ถ้าเราปรองดองกัน มีแต่ชนะไม่มีแพ้...”

“...การแก้ไขปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทาง ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง มักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น...”

“...ประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิบัติตนปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์อันยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน...”

“...เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนชอบที่จะทำความคิดความเห็นให้สอดคล้องกัน ร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขด้วยเหตุและผลตามเป็นจริงบนพื้นฐานอันเดียวกัน ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขได้อย่างเที่ยงตรง ถูกต้อง และเหมาะสม...”

“...งานรักษาความมั่นคงของประเทศเป็นงานที่กว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวเนื่องถึงงานของบ้านเมืองทุกๆ ส่วน ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนแผนและกระบวนการปฏิบัติให้ถูกต้องทันตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา...”

“...ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้เกิดขึ้น และระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญแก่การปฏิบัติตนปฏิบัติงาน...”

“...การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ...”

“...การทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง...”

“...ไม่ว่าจะปฏิบัติภาระหน้าที่อันใดทั้งส่วนน้อยส่วนใหญ่ขอให้ปรารภประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นจุดหมายสูงสุด...”

“...เมื่อพบอุปสรรคใดๆ อย่าเพิ่งท้อแท้จะหมดกำลังใจง่ายๆ จงตั้งใจทำให้ดี คิดหาทางที่จะแก้ไขผ่อนคลายอุปสรรคต่างๆ ด้วยเหตุผลและหลักวิชา ไตร่ตรองด้วยความสุขุมรอบคอบ และเยือกเย็นงานก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี...”

“...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน...”

“...ความสุขความเจริญที่แท้จริงอันควรหวังนั้น เกิดขึ้นได้จากการกระทำและความประพฤติที่เป็นธรรม มีลักษณะสร้างสรรค์ คือ อำนวยผลที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวแก่ผู้อื่น ตลอดถึงประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย...”

“...ความทุกข์เดือดร้อนของประชาชนนั้น มิใช่เป็นความรับผิดชอบของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะต้องช่วยกันแก้ไขป้องกันโดยเต็มกำลัง...”

“...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”

“...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย...”

“...ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีการแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก...”

“...ผู้ที่ทำงานดี มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่าท้อใจ...”

จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ยกมาข้างต้น นอกจากจะสะท้อนถึงพระราชดำรัสอันลึกซึ้งขององค์พระประมุข ยังสะท้อนถึงความเข้าพระทัยอย่างดีในปัญหาสังคม ระบบราชการ การบริหาร

ถ้าหากว่าประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชนและสังคม นำเอาประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นอันเป็นส่วนสำคัญของพระบรมราโชวาทที่ทรงมีไว้หลายครั้ง น่าจะเป็นแนวทางสำหรับการทำงานที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์และได้ผลในที่สุด

มนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่องานสังคมและของประเทศชาติ อาจจะต้องตั้งตัวอยู่ในความไม่ประมาท จะต้องมีการเตือนสติตนเองถึงเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแนวทางปฏิบัติที่ได้มีการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี ดังที่ปรากฏอยู่ในพระบรมราโชวาทที่กล่าวมาเบื้องต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น