นายกฯ ปาฐกถา 50 ปี วช.ชมงานวิจัยเป็นหัวใจสำคัญสร้างองค์ความรู้ในการช่วยพัฒนาประเทศ สร้างนวัตกรรมใหม่ ชี้ ประเทศไทยโชคดี มี “ในหลวง” เป็นนักวิจัย คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ ระบุ เคยรับสั่งงานวิจัยจะสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศได้
วันนี้ (28 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฐานะประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การวิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 50 ปี ที่สำนักงาน วช.ถนนพหลโยธิน ว่า ขอแสดงความยินดีกับ วช.ในการปฏิบัติภารกิจช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ความสำคัญของงานวิจัยเป็นการสร้างองค์ความรู้ และนำไปปฏิบัติถือเป็นหัวใจของงานวิจัย โดยในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและด้านต่างๆ ล้วนต้องอยู่บนฐานของการใช้ความรู้ ฉะนั้น ในยามที่ประเทศมีความท้าทายจากหลายๆ ด้าน พื้นฐานที่สำคัญคือความเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตที่ชัดเจนที่จะใช้ประโชน์จากงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมด้านต่างๆ
นายกฯ กล่าวว่า น่าสนใจว่า อายุ 50 ปี ของ วช.ขณะนั้นก็การก่อตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสภาการศึกษา แต่ที่น่าสนใจ คือ 3 องค์กรมีพัฒนามาโดยลำดับ มีการปรับปรุงหลายด้าน แต่ความสนใจของคนส่วนใหญ่จะอยู่ที่สศช. ที่ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในรอบ 50 ปี จำนวน 10 แผน และถ้าย้อนกลับไปดูความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ควรจะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่ต้องมาก่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฉะนั้น คิดว่า เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสร้างความตื่นตัวให้สังคมมองเห็นความสำคัญของงานด้านนี้มากขึ้น
“ประเทศไทยและคนไทยโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญกับการวิจัย และประดิษฐ์คิดค้นสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว ผมจำได้ว่าเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่ผมนำองค์กรนานาชาติระหว่างประเทศเข้าเฝ้าฯที่พระราชวังไกลกังวล เพื่อถวายรางวัลด้านพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสชัดเจนว่า เรื่องงานวิจัย คือ พื้นฐานของความก้าวหน้าในบ้านเมือง ซึ่งได้มีกระแสพระราชดำรัสกับผู้เข้าเฝ้าฯ คือ องค์กรระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าของโลก ดังนั้นถ้าเราจะน้อมนำและได้มุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนผลักดันให้งานวิจัยเป็นฐานของความก้าวหน้าเหมือนกับที่พระองค์วิจัยและทรงสร้างนวัตกรรมหลายต่อหลายโครงการ คิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้การพัฒนาของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ภาพปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนภายนอกประเมินความเข้มแข็ง การจัดลำดับการแข่งขัน การเปรียบเทียบตัวชี้วัดต่างๆ ของประเทศไทย ว่า ยังมีปัญหาตรงนี้ เช่น สัดส่วนของการลงทุนทางการด้านวิจัยพัฒนายังอยู่ในระดับต่ำมาก คือ ไม่ถึงร้อยละ 0.25 เพราะการที่บุคลากรที่มีน้อย กล่าวคือ มีนักวิจัยไม่ถึง 5-6 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ถ้าเทียบกับหลายประเทศเห็นชัดว่าเรายังห่างไกลมาก ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลจึงกำหนดชัดเจนว่าจะต้องผลักดันแบบก้าวกระโดด หมายถึงการทำงานทางด้านการแก้ไขพัฒนาระบบวิจัยหลายด้าน ยุทธศาสตร์และนโยบายจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งวช.ต้องช่วยกันทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยกัน
“ผมได้ให้ข้อคิดกับเวทีนักวิจัยไปแล้วโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ในการที่จะเดินหน้าระบบการวิจัยให้มีการพัฒนา เป็นการย้ำอีกครั้งว่า เราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ได้หากไม่ให้สังคมทราบถึงคุณค่าของการวิจัย เพราะภาครัฐไม่สามารถผลักดันได้ถ้าหากภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไปยังมองไม่เห็นความสำคัญด้านนี้ ดังนั้นการกระตุ้นโดยมาตรการต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในด้าน ที่จะเชื่อมโยงเจตนาร่วมในการวิจัยต่อไป” นายกฯ กล่าว
ประธานสภาวิจัย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้น ต้องมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและตอบโจทย์ปัญหาของสังคมในปัจจจุบันและอนาคตโดยมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ไม่มีการนำมาใช้ ซึ่งฝ่ายนโยบายและภาคธุรกิจเอกชนต้องมีโจทย์ เช่น ถ้าเป็นเรื่องของแนวโน้มข้างหน้าของโลก คือ สถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงาน อาหารและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหัวข้อสำคัญในการระดมสมอง คิดค้น นวัตพรรมเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนภาคธุริจก็จะต้องเพิ่มมูลค่าและไต่บันไดขึ้นสู่กระบวนการผลิตที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นภายใต้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องเชื่อมโยงกัน
เมื่อกำหนดทิศทางแล้ว แง่ของการทำงานก็ตองกำหนดชัดเจนมากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงฝ่ายต่างๆ ขอให้ รมว.วิทย์ ดูกลไกการเชื่อมโยงระหวางเอกชนกับภาควิจัย เป็นการสื่อสารสองทาง ขณะเดียวกันทิศทางก็ควรเป็นกรอบในการจัดสรรทรัพยากร ก็อยากจะเรียนว่า รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนผ่านปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่เพิ่มสัดส่วนงบการวิจัยร้อยละหนึ่ง และสร้างมหาวิทยาลัย 10 แห่ง สนับสนุนการสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดอย่างมากคือการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ การเตรยีมบุคลากรเข้ามาทำงานด้านนี้ และที่สำคัญคือจะจูงใจอย่างไรให้คนก้าวเข้ามาสู่งานวิจัย เพราะต้องยอมรับว่าคนจำวนมากที่มีควมสามารถแต่ไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ามา ตรงนี้ต้องแก้ไขเพื่ออุดช่องว่าง
“ขอยืนยันว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือ การลงทุนกับคนและสร้างองค์ความรู้ให้สังคม ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงานด้านนี้เต็มที่ และผมขอเป็นกำลังใจกับทุกท่านที่ปฏิบัติภารกิจงานด้านนี้ และขอกระตุ้นให้ทุกท่านทบทวนการทำงานต่างๆ ว่า จะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างไรให้มีผลออกมาเป็นรูปธรรม และดูว่า ช่วงระยะ 5-20 ปีจากนี้ ประเทศจะมีความเข้มแข็งชัดเจนอย่างไร และผมขอฝากให้ วช.มีหน้าที่ในการประสานกับทุกส่วนเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ และถ้าจะต้องมีการปรับปรุงอะไรก็ขอให้เสนอมารัฐบาลก็พร้อมจะสนับสนุน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว