xs
xsm
sm
md
lg

เซียนหุ้น..ไม่มีจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมการการเมือง”
โดย....พาณิชย์ ภูมิพระราม

ในช่วงเวลานี้ต้องบอกว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก ทันตแพทย์ยรรยง พันธุ์วงษ์กล่อม อดีตหมอฟันที่หันมาเอาดีด้านการลงทุนในตลาดหุ้นและ สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือเสี่ยปู่ อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พร้อมด้วยภรรยา-วารุณี ชลคดีดำรงกุล

ทั้งสองคนเป็นเพื่อนนักลงทุนที่เข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยวัย 30 ปีเศษ และมีความสนิทสนมกันเป้นพิเศษ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงทุน

กระทั่งเคยมีข่าวว่า ทั้งสองได้ร่วมกันเข้าถือหุ้นใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน)

แม้กระทั่ง"เสี่ยยักษ์..วิชัย วชิรพงศ์" เจ้าของพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่ ในห้องวีไอพี บนชั้น 21 ตึกอาคารเซ็นทรัลเวิลด์

คนเหล่านี้ล้วนถูกนักข่าว และรายย่อยยกให้เป็น “เซียนหุ้นพันล้าน”

ไม่เว้นกระทั่ง "เสี่ยแตงโม”สมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ ธนกฤต เลิศผาติ วัชระ แก้วสว่าง หรือ "เสี่ยป๋อง"

แต่จะเหลือแค่หลักสิบ หลักร้อยล้าน ภายหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงสู่ระดับ 300 กว่าจุด หรือไม่ ไม่มีใครรู้แน่ชัด เพราะเวลาขาดทุนแล้ว มักจะไม่มีใครยอมบอก

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ชื่อของนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้ถูกผูกติดกับหุ้นที่มีมูลการซื้อขายสูงอยู่บ่อยครั้ง หรือที่พูดกันในแวดวงตลาดหุ้นว่า รายใหญ่ไล่ราคา

ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)นั้น หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด จะเป็นหลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูง (Turnover list) โดยมีหลักเกณฑ์คือ อัตราการหมุนเวียนการซื้อขายต่อสัปดาห์มากกว่าหรือเท่ากับ 30% มูลค่าซื้อขายหุ้นต่อวันในรอบสัปดาห์ มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่ติดไม่เกิน 50 อันดับแรก

ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ จะต้องรายงานหุ้นที่ติด Turnover list และหุ้นที่มี P/E ratio มากกว่า 100 เท่า หรือขาดทุน หรือบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ต่อ ก.ล.ต.

GSTEEL, CK, LANNA,TTA, SVI, KASET, AIM,TPOLY,UMS,AGE, SALEE-w1, BCP-W1,TICON-W3,SPPT-W1 รายชื่อหุ้นเล่านี้คือ หุ้นที่อยู่ในข่ายมีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ตุลาคม 52 ช่วงเวลาเกิด “ข่าวลือ” ในตลาดหลักทรัพย์



นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ต้องใช้เงินสดลงทุนเท่านั้น คือ BLISS, SICCO, YNP

บมจ. ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) นั้นหุ้นเสี่ยปู่ทยอยเก็บเข้าพอร์ตไว้จำนวนมาก

หุ้นที่ถือว่าครองใจนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ รวมไปถึงเสี่ยโทนี่ หรือเสี่ยสองในอดีต เช่น หุ้น บมจ. เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEN) บมจ. ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น (LIVE) บมจ.อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) บมจ. บลิส-เทล (BLISS) บมจ. เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม (NEP) บมจ. บางกอกแลนด์ (BLAND) บมจ. สามชัย สตีล อินดัสทรี (SAM) และ บมจ. แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK)

บมจ. เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC)

แม้กระทั่งหุ้นบริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส (INOX) และบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ก็ถูกตลาดหัลกทรัพย์ฯตรวจสอบ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของราคา เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


หุ้นเก็งกำไรที่สำคัยอีกหนึ่งตัวคือ บริษัท โฟคัส ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (“FOCUS”) โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนายอนุชา สิหนาทกถากุล นายศักดิ์ศิลป์ คงคานนท์ และนายชัยวิทย์ ชื่นศิริเวช กรณีสร้างราคาหุ้น เป็นจำนวนเงินรวม 1,333,333.33 บาท

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่การตลาด และบุคคลภายนอก สร้างราคาหุ้น โดยมีพฤติกรรม

“ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FOCUS ในลักษณะอำพรางและซื้อขายต่อเนื่อง อันอาจทำให้บุคคลทั่วไปหลงผิดว่า ช่วงเวลาดังกล่าวหุ้น FOCUS มีการซื้อหรือขายกันมาก และราคาของหุ้นได้เปลี่ยนแปลงไป อันไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด” รายงานของ ก.ล.ต.ระบุไว้

ที่สำคัญ หุ้นบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC ที่ “หมอยรรยง” เก็บเข้าพอร์ตจำนวนมากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้บริหาร ฐานยักยอกเงินของบริษัท รวมประมาณ 340 ล้านบาท

สมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC กับพวกอีก 6 คน คือ นายสมชาย ศรีพยัคฆ์ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ม.ล.อภิษฎา ชยางกูร น.ส.นิภาพร คมกล้า นายกรวิวัฒน์ วัฒนะธรรมวงศ์ และ น.ส.มุทิตา นิลสวัสดิ์

ข้อหาที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย การทุจริตยักยอกเงินผ่านการให้กู้ยืมของ SECC Holding จำนวน 245 ล้านบาท การยักยอกเงินฝากของ SECC Holding จำนวน 30 ล้านบาท การทุจริตโดยการยักยอกเงิน 42 ล้านบาท จากบัญชีจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน การทุจริตโดยการยักยอกชุดจดทะเบียนรถยนต์ของบริษัทไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การตกแต่งรายได้ค่าขายรถยนต์ 30 ล้านบาทในปี 2550 และอดีตกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในเช็คหรือใบถอนเงินของบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต



ก่อนหน้านี้ ศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน, นายสุเทพ อัคควุฒิไกร, นายภานุวรรษ เลิศวิเศษ, นางสาวศศิธร วุฒิรุ่งเรืองสกุล, บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด, นางวันดี โตเจริญ, นางสาวลักขณา แสวงหา, บริษัท สีลมแพลนเนอร์ จำกัด, นายสนทยา น้อยเจริญ, นายธรรมนูญ ทองลือ, หม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกูร และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ ซึ่งถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ ฐานทุจริตยักยอกทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ออกไปอีก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.2552

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2552 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษบุคคลทั้ง 12 รายข้างต้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีร่วมกันทุจริตยักยอกเงิน และหุ้น บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิคฯ ทำให้ บมจ.ปิคนิคฯ เสียหาย และในวันเดียวกัน ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ที่ถูกกล่าวโทษ เพื่อป้องกันการยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นเวลา 180 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 8 ก.ย.2552

จะเห็นว่า จะมีชื่อของ “สุริยา ลาภวิสุทธิสิน” อดีต รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลทักษิเณร่วมด้วยทั้งสองกรณี

ในสถานการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ การตรวจสอบกระบวนการสร้างข่าวลือจนทำให้ดัชนีหุ้นตกลงไปกว่า 60 จุด ถูกขมวดปมไปในช่วงเวลาหนึ่ง

โดยเฉพาะรายงานข่าวในต่างประเทศในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันที่ 14 ต.ค.หลังจากที่ตลาดมีปฏิกิริยาต่อข่าวลือไปแล้ว ซึ่ง ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ฉายภาพไว้

กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ซึ่งชำนาญด้านตลาดทุนมากกว่าระบบการคลังของประเทศ ให้ความมั่นใจว่า พบว่ามีผู้เจตนาปล่อยข่าวและมีการขายหุ้นผ่านบัญชีโบรกเกอร์ต่างประเทศ 2 บัญชี และเป็นการเปิดบัญชีลักษณะกลุ่มคน

“ต้องตรวจสอบรายละเอียดว่ามีใครบ้าง และอาจต้องดูว่าผู้ปล่อยข่าวลือกับบัญชีที่ขายหุ้นออกไปเกี่ยวโยงกับการหาแหล่งข่าวปล่อยข่าวลือหรือไม่ อีกทั้งมีสัญญาณสะดุดตาว่าหลังจากหุ้นตกได้มีกลุ่มนักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปช้อนซื้อ จึงต้องตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับผู้เทขายหรือไม่ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน” กรณ์อธิบายภาพของการช้อนซื้อหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

อันที่จริง โดยหลักการและทฤษฎีแล้ว การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะเลือกใช้เครื่องมือได้ 2 แนวทางคือ แนวทางดารวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ทางเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น จะต้องวิเคราะห์ภาวะเศรษฐมหภาคทั้งในและต่างประะเทศ การวิเคราะห์ระดับอุตสาหกรรม และสุดท้ายคือการวิเคราะห์หุ้น ซึ่งต้องอาศัยทฤษฎีรองรับ

ส่วนการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น ต้องอาศัยเส้นกราฟ ดีมานด์และซัพพลายของราคา และการซื้อขายหุ้นแต่ละช่วงเวลา

ที่สำคัญที่สุด คือ ข่าวสารที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทเหล่านั้นในตลาด

เนื่องจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยมีประสิทธิในระดับปานกลาง เพราะตอบสนองของราคาหุ้นต่อ “ข่าวสาร”ที่ส่งเข้ามา มีความล่าช้า คือไม่ได้ตอบสนองทันที

ที่สำคัญข่าวสารเหล่านั้น ยังสามารถแบ่งได้เป็น ข่าวสารที่เป็นข้อมูลสาธารณะ (public information) ข้อมูลส่วนบุคคล (private information) ประกอบด้วย ข้อมูลตลาด (market information) และข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลตลาด (nonmarket information)

ดังนั้นกระบวนการปล่อยข่าว เพื่อสร้างราคา หรือสืบค้นข่าวเชิงบวก ในลักษระข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในตลาดหุ้นไทย

จนสามารถสร้าง “เซียนหุ้น” จำนวนหนึ่งเกิดขึ้น

ดังนั้น การเล่นหุ้นที่แตกต่างจากการลงทุนในความหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกลายเป็นแหล่งระดม”ทุนทางการเมือง” ได้อย่างง่ายดาย เพราะมักจะมีนักลงทุนลงทุนตามปรากฎการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันนักลงทุนที่ลงทุน “สวนกระแส” มักมีอยู่จำนวนน้อย

ที่สำคัญ บางทีเขาเหล่านั้นถูกอุปโลกให้เป็น “ขาใหญ่” เสียด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น เซียนหุ้นเมืองไทย จึงไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง...เป็นเพียงมายาภาพ Price manipulation เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น