xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง UN ตั้ง กก.สอบ"ยูเนสโก"ขึ้นทะเบียน"พระวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กมธ.พัฒนาการเมือง จัดเสวนาเรื่องปราสาทพระวิหาร ส.ว.คำนูณ อัดผู้นำไทยไม่รักชาติเหมือนกัมพูชา ทำชาติเสียหาย "เทพมนตรี" โต้ "ฮุนเซน" เป็นแค่ไพร่ ไม่มีสิทธิฉีกแผนที่ของไทย พร้อมล่ารายชื่อ เรียกร้องให้ตั้งคณะกก.สอบยูเนสโก เชื่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร จัดเสวนาเรื่อง "คณะกรรมการมรดกโลก : ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา"

โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากชื่นชมความรักชาติของกัมพูชามาก ที่พยายามรักษาและปกป้องดินแดนอย่างเด็ดเดี่ยว ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำและข้าราชการระดับสูงของไทย ที่ไม่เคยปกป้องรักษาดินแดนของประเทศ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียประโยชน์ คือแผนที่ในภาคผนวก 1 ( เอเนกซ์ 1 ) ที่ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาต่อศาลโลก ซึ่งเป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสฝ่ายเดียว และมีนายทหารกัมพูชาเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีคนไทยร่วมเดินสำรวจ ซึ่งแผนที่ดังกล่าวนี้ มีความเลวร้ายมาก คือผนวกดินแดนไทยเข้าไปด้วย ซึ่งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2505 ก็พยายามรักษาดินแดนไว้ โดยไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทั้งนี้เกิดจุดเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2543 ในยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่ได้ปลุกผี ไปลงนามเอ็มโอยู และไปเขียนยอมรับแผนที่ดังกล่าวอีกครั้ง จนทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องตอบคำถามเรื่องนี้ต่อสังคมด้วย

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการปลุกผีไม่คัดค้านแผนที่ภาคผนวกของกัมพูชา จนส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอัปยศให้กัมพูชามีสิทธิ์ ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง ในสมัยของนายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นแนวโน้มในอนาคตที่ดีขึ้น เพราะขณะนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเคลื่อนไหว จึงส่งผลให้รัฐบาลไทยเริ่มตระหนัก ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลคงจะซื้อเวลาต่อไป และยื้อไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวตอบโต้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ประกาศจะไม่ยอมรับ และจะฉีกแผนที่ การปักปันเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่ประเทศไทยเตรียมจะเสนอต่อกัมพูชา ซึ่งตนเห็นว่าสมเด็จฮุนเซน จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะแผนที่ของไทยผ่านการลงพระปรมาภิไทย แต่ ฮุนเซน เป็นเพียงแค่ไพร่ ที่โชคดีได้ขึ้นมาเป็นเจ้าเท่านั้น ซึ่งเมื่อกล่าวจบ นายเทพมนตรี ได้ฉีกแผนที่แสดงอัตราส่วน 1:200,000 บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร พร้อมประกาศว่า ถ้าคนไทยคนไหนนำแผนที่นี้มาใช้ ถือเป็นคนที่ทรยศต่อชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเสวนา มีการล่ารายชื่อประชาชน โดยการนำของ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อทำหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การยูเนสโก ประธานคณะกรรมการมรดกโลก และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบองค์กร และบุคคล

โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า การขึ้นทะเบียนที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา ทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศทุกข์ทรมานจากข้อขัดแย้ง คือ

1. เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีการใช้กำลังทางทหาร จนมีทหารเสียชีวิตถึง 6 นาย ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการมรดกโลก ควรรับผิดชอบในฐานะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง เพราะมีกระบวนการการขึ้นทะเบียน และมีข้อมติของการขึ้นทะเบียนที่ผิดข้อบัญญัติอย่างชัดเจน

2. คณะกรรมการมรดกโลก ฉ้อฉล และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยกระทำการที่อาศัยอำนาจ และบทบัญญัติในหมวดเรื่องการคุ้มครองป้องกันมรดกทางวัฒนธรรมในระดับชาติ และนานาชาติ และในหมวดเรื่องคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการคุ้มคอรองปัองกันมรดกทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ มาปกป้องคุ้มครองสิ่งที่อ้างว่าเป็น “สิทธิ” ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐภาคี ในขณะที่อีกฝ่ายมีข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เปิดเผย และต่อเนื่องมาตลอดมา และการกระทำดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าไม่มีประโยชน์ต่อวิถีของประชาชน

3. การปฏิบัติขององค์กรยูเนสโก โดยนางฟรังซัวส์ ริวิเยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก กระทำการแทรกแซกกระบวนการความตกลงระหว่าไทยกับกัมพูชา โดยจัดทำแถลงการร่วมฉบับวันที่ 22 พ.ย. 51 และฉบับลงนามโดยคณะรัฐมนตรี 18 มิ.ย. 51 รวมทั้งกระทำการเร่งรัด ให้ไทย และกัมพูชาเร่งทำตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งอยู่นอกเหนือระเบียบขององค์การยูเนสโก จงใจกระทำการอันเป็นอธรรม เบียดเบียนอธิปไตยขอไทย ทำการนอกหน้าที่ ไร้ธรรมาภิบาล เอื้อประโยชน์แก่กัมพูชาอย่างชัดเจน

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ ตรวจสอบการกระทำขององค์การยูเนสโก ที่ขาดหลักธรรมาภิบาล และปรากฏเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งตรวจสอบพฤติกรรมของนางฟรังซัวส์ และตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการมรดกโลก พร้อมกันนี้ให้รับผิดชอบต่อความขัดแย้งครั้งนี้ จนมีการสูญเสีย ตลอดจนสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น