xs
xsm
sm
md
lg

3 ข้อเสนอ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกดดันให้รัฐบาลดำเนินมาตรการที่เด็ดขาดในการทวงดินแดนอาณาเขตของประเทศไทย ส่วนหนึ่งของ 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณปราสาทพระวิหาร คืนจากกัมพูชา เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2552 นำโดยคุณวีระ สมความคิด เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะนิ่งนอนใจไม่ได้ และจะชี้แจงเพียงเท่าที่ทำมาไม่ได้

แม้ว่าผมจะไม่ได้ไปร่วมด้วย และมีความเห็นบางประการในเชิง “เข้าใจ” รัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการต่างประเทศ ตามที่เขียนไว้ ณ ที่นี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552

แต่ก็ย้ำไปแล้วอย่างชัดเจนว่าคำว่า “เข้าใจ” ไม่ได้แปลว่า “เห็นด้วย” (กับกระทรวงการต่างประเทศ) !

ผมยังคงมีจุดยืนเดิมเหมือนที่เคยเขียนไว้ ณ ที่นี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2551 !!

และได้แสดงจุดยืนนั้นไปในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ในการอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติ (1) กรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และ (2) กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 น่าเสียดายว่าความสามารถผมไม่มากพอที่จะโน้มน้าวความเห็นของสมาชิกรัฐสภาได้
เสียงโหวตคัดค้านจึงมีเพียง 7 และ 8 เสียง ขณะที่เสียงโหวตเห็นด้วยมีถึง 409 และ 406 เสียงตามลำดับ

ต่อกรณีบันทึกการประชุมที่ทำไปตามกรอบที่ (1) ที่จะเข้ามาขออนุมัติต่อรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ ผมก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าจะลงมติคัดค้าน

การพูดจาเป็นการภายในกับรัฐบาลว่าให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาก่อนลงมติก็เป็นการทำงานการเมืองในระบบสถานหนึ่ง

ผลก็คือจะยังไม่มีการอนุมติบันทึกข้อตกลงที่เป็นปัญหา !

ผมเชื่อว่ายุทธวิธีการต่อสู้นั้นมีได้หลากหลายตามฐานานุรูป และการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ข้อมูลที่กว้างขวางสลับซับซ้อน ไม่ได้สั่นคลอนหลักการที่ยึดมั่นไว้แต่เดิม ตรงกันข้ามหลักการนั้นกลับยิ่งจะลงหลักปักฐานให้แน่นขึ้นด้วยซ้ำด้วยรายละเอียดที่มากขึ้น

ความผิดพลาดของรัฐบาลคือไม่พยายามใช้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนให้เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศ

ถ้าจะมีการจับเข่าคุยกันไว้ล่วงหน้าให้ประชาชนส่งตัวแทนจำนวนหนึ่งขึ้นไปประกาศเจตนารมณ์ได้ เหมือนที่ในที่สุดก็เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2552 แทนที่จะไปเจรจากันหน้าเหตุการณ์ หลังเกิดการปะทะกับชาวบ้าน สถานการณ์อาจจะดีกว่านี้

เงื่อนไขของภาคประชาชนนั้นไม่ได้ขึงตึงเกินไป ขอเพียงรัฐบาลประกาศมาตรการบางประการออกมานอกเหนือจากที่พร่ำบอกว่าที่ทำมานั้นถูกต้องแล้วพอแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะรับฟัง

มาตรการที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดบอกว่าจะใช้กำลังทหาร !

ผมมีข้อเสนอ 2 - 3 ประการ

ประการแรกสุด ในเมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีข้อมูลที่แต่ละฝ่ายอาจจะไม่ได้รับรู้มาก่อน และต้องยอมรับความจริงกันว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะหรือพูดจาเปิดใจหมดเปลือกต่อสาธารณะได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้ประเทศคู่กรณีจับทางได้ และนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ

และกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยที่ภาคประชาชนไม่อาจเข้าไปร่วมด้วยได้เต็มที่ รวมทั้งองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการร่วมก็ต้องเป็นไปตามสัดส่วนทางการเมือง

รัฐบาลตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาศึกษากรณีปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาดีไหม ?

ตั้งเฉพาะตัวประธานที่จะเป็นที่ยอมรับมากที่สุดของทุกฝ่าย แล้วให้ประธานตั้งกรรมการและกำหนดเงื่อนไขในการทำงานขึ้นมาเอง แต่จะไม่มีอำนาจไปกำหนดนโยบายได้ เพราะสุดท้ายก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลและรัฐสภา

เวทีนี้จะเป็นที่ถกเสวนาและเปิดให้ทุกฝ่ายรับรู้ข้อมูลเท่า ๆ กัน อะไรที่เปิดเผยได้ก็เปิดเผย อะไรที่ต้องลับก็ไม่ต้องเปิดเผย

คุณวีระ สมความคิดควรจะต้องเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระนี้ และจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เข้ามาร่วมด้วย

ประการต่อมาที่จะต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กัน....

รัฐบาลต้องเร่งปรับกลไกในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรองรับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา !

เป็นไปได้ไหมที่จะต้องปรับกำลังกันใหม่ เพื่อให้เกิด “โต๊ะพระวิหาร” ขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศ

เรื่องนี้มีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งเราเสียดินแดน ครอบคลุมสนธิสัญญาและอนุสัญญาหลากหลาย รวมถึงคำพิพากษาศาลโลก เท่าที่ผมทราบ คนเก่ง ๆ ในกรมสนธิสัญญาที่ยังกระตือรือร้นมีไฟอยู่มีเพียง 30 – 40 คน งานล้นมือ งานด้านชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเพียง “งานฝาก” เท่านั้น

และได้ยินมาว่าความผันผวนทางการเมืองในช่วง 3 ปีมานี้ ทำให้กรมสนธิสัญญาอยู่ในสภาพหวั่นไหวมากพอสมควร

ไม่เพียงแต่จะต้องเร่งรวบรวมข้อมูล สร้างผู้เชี่ยวชาญ ยังต้องเริ่มต้น “ล็อบบี้” นานาชาติด้วยในขณะที่เรื่องนี้ยังไม่ขึ้นสู่โต๊ะเจรจาระดับพหุภาคี

รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเพื่อการเหล่านี้ด้วย

อย่าลืมว่าแม้เราจะรบ แต่ในที่สุดไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องกลับสู่โต๊ะเจรจาอยู่ดี และบนโต๊ะนั้นเป็นอีกกติกาหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีทีมแบ็คอัพที่สมบูรณ์ ในประเด็นนี้กัมพูชามี แต่เราจะมีมากน้อยแค่ไหนเพียงพอหรือไม่ผมไม่อาจยืนยัน

การจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาตินี้ยังรวมไปถึงภารกิจ “ล็อบบี้” ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย แม้แต่การเขียนบทความลงในวารสารกฎหมายระดับโลกที่วงการกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ เพื่อให้เกิดกระแสผลักดันไปในทางที่เราได้ประโยชน์ หากเรื่องนี้ขึ้นสู่โต๊ะเจรจาระดับพหุภาค หรือกลับไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นการตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามมาตรา 60 ธรรมนูญศาลโลก

ประการสุดท้ายที่อยากเสนอ ณ ที่นี้คือ ยกระดับคณะกรรมการเขตแดนขึ้นมาเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อที่จะบูรณาการทุกประการที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนเข้ามาอยู่ในความรับรู้และการตัดสินใจของคณะกรรมการ

ยังมีอีกหลายประการครับที่ทำได้ แต่วันนี้นึกออกเพียงแค่ให้พอเหมาะกับเนื้อที่

แต่ทั้งสิ้นทั้งปวงจะต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศที่มีต่อประชาชนที่เขาเห็นต่างกับท่านเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น