xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.คำนูณ” สับผู้นำ-บิ๊ก ขรก.ไทยไม่รักชาติเหมือนเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิฯ จัดเสวนา ปราสาทพระวิหาร “ส.ว.คำนูณ” เฉ่งผู้นำ-บิ๊ก ขรก.ไทย ไม่รักชาติเหมือนกัมพูชา ย้อนปลุกผีตั้งแต่ “ยุคชวน-ออหมัก” ทำชาติเสียหาย “เทพมนตรี” โต้ “ฮุนเซน” เป็นแค่ไพร่ไม่มีสิทธิ์ฉีกแผนที่ของไทย พร้อมล่ารายชื่อ-เรียกร้องตั้งคณะ กก.สอบยูเนสโก เชื่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน

วันนี้ (20 ต.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร จัดเสวนา เรื่อง “คณะกรรมการมรดกโลก : ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา”

โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากชื่นชมความรักชาติของกัมพูชามาก ที่พยายามรักษาและปกป้องดินแดนอย่างเด็ดเดี่ยว ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำ และข้าราชการระดับสูงของไทยที่ไม่เคยปกป้องรักษาดินแดนของประเทศ อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียประโยชน์ คือ แผนที่ในภาคผนวก 1 (เอเนกซ์ 1) ที่ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาต่อศาลโลก ซึ่งเป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสฝ่ายเดียว และมีนายทหารกัมพูชาเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีคนไทยร่วมเดินสำรวจ ซึ่งแผนที่นี้มีความเลวร้ายมากคือผนวกดินแดนไทยเข้าไปด้วย ซึ่งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2505 ก็พยายามรักษาดินแดนไว้ โดยไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทั้งนี้เกิดจุดเปลี่ยนในปี พ.ศ.2543 ในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย ที่ได้ปลุกผีไปลงนามเอ็มโอยูและไปเขียนยอมรับแผนที่ดังกล่าวอีกครั้ง จนทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะต้องตอบคำถามเรื่องนี้ต่อสังคมด้วย

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการปลุกผีไม่คัดค้านแผนที่ภาคผนวกของกัมพูชาจนส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอัปยศให้กัมพูชามีสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง ในสมัยของ นายนพดล ปัทมะ อีกครั้ง แต่อยากไรก็ตาม ตนเห็นแนวโน้มในอนาคตที่ดีขึ้น เพราะขณะนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเคลื่อนไหว จึงส่งผลให้รัฐบาลไทยเริ่มตระหนัก ซึ่งเชื่อว่า รัฐบาลคงจะซื้อเวลาต่อไป และยื้อไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน

ขณะที่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวตอบโต้สมเด็จฮุนเซน ที่ประกาศจะไม่ยอมรับและจะฉีกแผนที่ การปักปันเขตแดนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ที่ประเทศไทยเตรียมจะเสนอต่อกัมพูชา ซึ่งตนเห็นว่า สมเด็จฮุนเซน จะทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะแผนที่ของไทยผ่านการลงพระปรมาภิไธย แต่ ฮุนเซน เป็นเพียงแค่ไพร่ ที่โชคดีได้ขึ้นมาเป็นเจ้าเท่านั้น ซึ่งเมื่อกล่าวจบ นายเทพมนตรี ได้ฉีกแผนที่แสดงอัตราส่วน 1:200,000 บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร พร้อมประกาศว่า ถ้าคนไทยคนไหนนำแผนที่นี้มาใช้ ถือเป็นคนที่ทรยศต่อชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเสวนา มีการล่ารายชื่อประชาชนโดยการนำของ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อทำหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การยูเนสโก ประธานคณะกรรมการมรดกโลกและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบองค์กรและบุคคล

โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า การขึ้นทะเบียนที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศทุกข์ทรมานจากข้อขัดแย้ง คือ 1.เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีการใช้กำลังทางทหาร จนมีทหารเสียชีวิตถึง 6 นาย ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการมรดกควรรับผิดชอบในฐานะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง เพราะมีกระบวนการการขึ้นทะเบียนและมีข้อมติของการขึ้นทะเบียนที่ผิดข้อบัญญัติอย่างชัดเจน 2.คณะกรรมการมรดกโลก ฉ้อฉล และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยกระทำการที่อาศัยอำนาจและบทบัญญัติในหมวดเรื่องการคุ้มครองป้องกันมรดกทางวัฒนธรรมในระดับชาติและนานาชาติ และในหมวดเรื่องคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการคุ้มคอรองปัองกันมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ มาปกป้องคุ้มครองสิ่งที่อ้างว่าเป็น “สิทธิ” ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐภาคี ในขณะที่อีกฝ่ายมีข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เปิดเผย และต่อเนื่องมาตลอดมา และการกระทำดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าไม่มีประโยชน์ต่อวิถีของประชาชน

และ 3.การปฏิบัติขององค์กรยูเนสโก โดย นางฟรังซัวส์ ริวิเยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก กระทำการแทรกแซกกระบวนการความตกลงระหว่าไทยกัมพูชา โดยจัดทำแถลงการร่วมฉบับวันที่ 22 พ.ย.2551 และฉบับลงนามโดยคณะรัฐมนตรี 18 มิ.ย.2551 รวมทั้งกระทำการเร่งรัด ให้ไทยและกัมพูชาเร่งทำตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งอยู่นอกเหนือระเบียบขององค์การยูเนสโก จงใจกระทำการอันเป็นอธรรมเบียดเบียนอธิปไตยขอไทย ทำการนอกหน้าที่ ไร้ธรรมาภิบาล เอื้อประโยชน์แก่กัมพูชาอย่างชัดเจน

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติตรวจสอบการกระทำขององค์การยูเนสโก ที่ขาดหลักธรรมาภิบาล และปรากฏเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งตรวจสอบพฤติกรรมของนางฟรังซัวส์ และตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการมรดกโลก พร้อมกันนี้ให้รับผิดชอบต่อความขัดแย้งครั้งนี้จนมีการสูญเสีย ตลอดจนสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น