xs
xsm
sm
md
lg

“ปณิธาน”ยันฝรั่งเศสไม่มีสิทธิ ขุดน้ำมันเขตทับซ้อนไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ปณิธาน” แจงฝรั่งเศสหมดสิทธิขุดเจาะน้ำมันเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หากไทยไม่เห็นด้วย ยกกรณี “จีน-รัสเซีย” ถึงขั้นยกเลิกสัมปทานเหตุตกลงกันไม่ได้ ลั่นแถลงการณ์ร่วมอัปยศไม่มีผลบังคับใช้หลังจากศาล รธน.วินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วานนี้ (28 ก.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา และไทยกับมาเลเซีย ในกรอบการหารือเรื่องชายแดน การค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงเห็นชอบแนวทางการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้การเจรจาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังมีปัญหาว่าทั้งสองฝ่ายยังคงกำลังทหารบริเวณพื้นที่เขาพระวิหาร ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังกังวลว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ และจะทำให้เกิดความตรึงเครียดมากขึ้น ดังนั้นเมื่อ ครม.เห็นชอบในกรอบเจรจาดังกล่าวจะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงไปได้

นายปณิธาน กล่าวว่า รัฐบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชา หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องหารือกันในรูปแบบทวิภาคี และยืนยันว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไปหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นกัมพูชาจะนำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปใช้ไม่ได้ และเรื่องนี้ไทยได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีทางรัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานธุรกิจน้ำมัน กับประเทศฝรั่งเศสในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล นายปณิธาน กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของกัมพูชาที่สามารถทำได้ แต่ฝรั่งเศสไม่สามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจ ทำได้แค่การส่งเจ้าหน้าเข้าไปสำรวจ แต่ขุดเจาะไม่ได้จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบของทั้งสองประเทศที่เป็นคู่ภาคี ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นที่ละเทจีนใต้ ที่มีประเทศจีนและ รัสเซีย เคยได้รับสัมปทานแต่ประเทศคู่เจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จึงต้องถอนสัมปทานออกไปในที่สุด

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า ครม.รับทราบรายงานผลการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา อย่างเป็นทางการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เช่น การแก้ไขปัญหาชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร โดยกัมพูชาเห็นพ้องกับข้อเสนอของไทยที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธีโดยใช้ประโยชน์จากกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ อดทนอดกลั่น ไม่ขยายความขัดแย้ง และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองอย่างจริงจัง รวมทั้งมิให้ความขัดแย้งบริเวณชายแดนกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ

ขณะที่ฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งต่อไปโดยเร็ว เพื่อผลักดันการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในระหว่างการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร

แหล่งข่าว ระบุว่า ขณะที่การเจรจาเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันให้การเจรจาเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาร่วมในพื้นที่ไหล่ทวีปที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันมีความคืบหน้าโดยเร็ว โดยฝ่ายไทยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นประธานในการเจรจาฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายกัมพูชา โดยนายสุเทพได้เดินทางไปเจรจาเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย.52 แล้ว

**"กษิต"แจงครม. สถานการณ์ไทย-เขมร เริ่มเป็นบวก
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ ( 28 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ออกมาวิจารณ์ว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศผิดพลาด ว่า หลายคนคงเป็นกังวลปัญหาชายแทนไทย-กัมพูชา หลังเกิดข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร

แต่นายกษิต ภิรมย์ รมว. ต่างประเทศ ได้รายงานในครม. ว่าขณะนี้สถานการณ์เริ่มเป็นบวกขึ้น โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนหลายเรื่อง อาทิ กรณีที่ครม. อนุมติงบประมาณ 1.4 พันล้านบาท ให้ทางการกัมพูชาใช้ก่อสร้างถนนสาย 68 กรณีที่ไทย-กัมพูชา ทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ฯลฯ โดยหลังจากนี้ทั้ง 2 ประเทศ ก็ต้องมาหารือแนวทางในการปฏิบัติตามกรอบความร่วมมือทวิภาคีต่อไป

ส่วนการที่กัมพูชาไปพูดคุยกับภาคีอื่นๆ น่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ มากกว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องดินแดน ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรี รับความถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ โดยนำแผนที่มากางให้ดู และชี้ให้เห็นว่า มีสัมปทานใดบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น