ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร เดินเทางเข้ายื่นหนังสือร้องสหประชาชาติ เรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนองค์กรและบุคคล ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา โดยเฉพาะ “ฟรองซัวส์ ริวิเยร์”
วันนี้ (22 ต.ค.) เวลาประมาณ เวลา 13.30 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 40 สว.ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ณ สำนักงาน UN กรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนองค์กรและบุคคล ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางฟรังซัวส์ ริวิเยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายวัฒนธรรมของยูเนสโก ซี่งเป็นต้นเหตุ แห่งความขัดแย้งและความสูญเสีย ระหว่างไทย-กัมพูชา
โดยในหนังสือร้องเรียนมีใจความว่า “...พวกเราประชาชนชาวไทยผู้มีรายชื่อและที่อยู่ท้ายหนังสือฉบับนี้ ซึ่งเคยได้แสดงความเห็นคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชามาแล้ว 2 ครั้ง โดยส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก และองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปีที่แล้ว (2551) ครั้งหนึ่ง และส่งหนังสือถึงองค์การยูเนสโก (สำนักงานประเทศไทย) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 อีกครั้งหนึ่ง
เวลาผ่านมา 15 เดือน ปรากฏว่า การขึ้นทะเบียนได้สร้างปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสองประเทศทั้งไทยและกัมพูชา ประชาชนของทั้งสองประเทศมีแต่ความทุกข์ทรมาน จากข้อขัดแย้งของรัฐภาคีทั้งสอง และจากองค์กรทั้งสอง ไม่ได้มีความสุข สงบ และสันติ เหมือนดังหลักการขององค์การยูเนสโก และข้อบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ของคณะกรรมการมรดกโลกเลย
สาระสำคัญที่ควรต้องกล่าวไว้ คือ
1.เกิดความขัดแย้งขั้นรุนแรงถึงขั้นการใช้กำลังทางทหาร ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บ และถึงขั้นเสียชีวิตถึง 6 นาย คณะกรรมการมรดกโลกควรจะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งดังกล่าว เพราะมีกระบวนการการขึ้นทะเบียน และข้อมติของการขึ้นทะเบียนที่ผิดข้อบัญญัติหลายข้ออย่างชัดแจ้ง
การทำไม่รับรู้และเร่งดำเนินการต่อไป ยิ่งเป็นการยั่วยุและส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าการขึ้นทะเบียนที่สมบูรณ์ ในไม่อีกกี่วันข้างหน้า จะนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายของทหารและอาจจะรวมถึงพลเรือนในพื้นที่ชายแดนอีกกี่ร้อยกี่พันคน
2.คณะกรรมการมรดกโลก ฉ้อกฎหมายและไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล โดยกระทำการที่อาศัยอำนาจและบทบัญญัติในหมวดเรื่องการคุ้มครองป้องกันมรดกทางวัฒนธรรมในระดับชาติและนานาชาติ และในหมวดเรื่องคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการคุ้มครองป้องกันมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ มาปกป้องคุ้มครองสิ่งที่อ้างว่าเป็น “สิทธิ” ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐภาคีอนุสัญญาผู้เสนอการขึ้นทะเบียน (กัมพูชา) ในขณะที่มีข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล เปิดเผย และต่อเนื่องตลอดมา ของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง (ไทย) รวมทั้งองค์กรอิสระ และประชาชน ของรัฐภาคีนั้น จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของประชาชน และไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการคุ้มครองป้องกันและการส่งเสริมศักยภาพของรัฐภาคีให้มีความพร้อมในการดำเนินงานแต่อย่างใดเลย นอกจากจะเพื่อสิ่งที่อาจเป็นวาระซ้อนเร้นที่ควรได้รับการตรวจสอบ และเปิดเผยเท่านั้น
3.การปฏิบัติขององค์การยูเนสโก ทางด้านวัฒนธรรมในการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดย นางฟรังซัวส์ ริวิเยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก กระทำการแทรกแซงกระบวนการตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา โดยการจัดทำแถลงการณ์ร่วมฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และฉบับลงนามโดยรัฐมนตรี 18 มิถุนายน 2551 รวมทั้งกระทำการเร่งรัด กะเกณฑ์ให้ไทย และกัมพูชา เร่งปฏิบัติตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีข้อตกลงหลังจากมาตรวจพื้นที่ในเดือนเมษายน 2552 พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา วันที่ 6เมษายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ ทั้งหมดนี้เป็นการแทรกแซงที่อยู่นอกเหนือระเบียบปฏิบัติขององค์การยูเนสโก และเป็นการตอกย้ำให้เห็นความกระตือรือร้นที่แสวงหาผลประโยชน์จนนำมาซึ่งเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลผู้นี้ และมีผลกระทบให้องค์การยูเนสโก จงใจกระทำการอันเป็นอธรรม เบียดเบียนอธิปไตยของไทย ทำการนอกหน้าที่ ไร้ธรรมาภิบาล จงใจเอื้อประโยชน์แก่กัมพูชาโดยชัดเจนตลอดมา
พวกเราจึงขอร้องเรียนให้
1.องค์การสหประชาชาติตรวจสอบการกระทำขององค์การยูเนสโก ที่ขาดหลักธรรมาภิบาล และปรากฏเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในกรณีนี้
2.ตรวจสอบพฤติกรรมของนางฟรังซัวส์ ริวิเยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก
3.ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งให้รับผิดชอบต่อความขัดแย้งจนมีการใช้กำลังอันเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของทหาร 6 นาย ตลอดจนสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้หากยังไม่มีการยุติการดำเนินการ”