xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ชงกขช.แก้เกมราคาข้าวร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์” ชงกขช. วันนี้ เสนอให้ตั้งโต๊ะซื้อข้าว ในราคาใกล้เคียงกับราคาประกัน เพื่อดึงราคาข้าวขึ้น หลังดิ่งเหวไม่เป็นท่า หลังพ่อค้าได้ทีกดราคารับซื้อ จากความไม่พร้อมของระบบประกัน แถมแบงก์ในแอฟริกาล้ม ทำให้การส่งออกข้าวนึ่งมีปัญหา จนผู้ส่งออกต้องชะลอซื้อข้าว
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ต.ค.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2552/53 หลังจากที่ขณะนี้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดเริ่มมีราคาตกต่ำ และเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับเกษตรกร จึงต้องมีการนำมาตรการเร่งด่วนมาใช้ทันที ซึ่งแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าเหมาะสม จะเป็นการเข้าไปแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก โดยขอความร่วมมือจากโรงสี ผู้ส่งออก รวมไปถึงการมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เข้าไปรับซื้อ
“วิธีการที่จะเสนอ เป็น 1 ใน 6 มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมที่จะเสนอกขช.อยู่แล้ว แต่เห็นว่า บางมาตรการควรจะเร่งดำเนินการทันที โดยเฉพาะการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ในราคานำตลาด ที่ใกล้เคียงกับราคาประกัน เพื่อพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งก็แล้วแต่กขช. ว่าจะให้ตั้งโต๊ะรับซื้อทันทีหรือไม่ และปริมาณเท่าไร เพราะกระทวงพาณิชย์เห็นว่าเป็นมาตรการที่สามารถดึงราคาได้ทันที”นางพรทิวากล่าว
ทั้งนี้ 6 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2552/53 ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โดยรัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% การแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก โดยอคส. และอ.ต.ก. การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายข้าว การผลักดันการส่งออกในช่วงต้นฤดู ผ่านการขายในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) การจำนำข้าวในยุ้งฉางเกษตรกร และการสร้างยุ้งฉางกลางประจำหมู่บ้าน เพื่อเก็บข้าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้น หลังจากเริ่มโครงการประกันราคาของรัฐบาล ได้ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง พ่อค้า ทั้งโรงสี และผู้ส่งออก ได้มีการประเมินว่า แนวโน้มราคาข้าวจะตกต่ำลงอีก จึงได้พยายามที่จะกดราคารับซื้อข้าว เพราะดูจากราคาอ้างอิงในช่วง 16-31 ต.ค. ที่ลดลงจากช่วงวันที่ 1-15 ต.ค.
ทั้งนี้ การประกันรายได้ให้กับเกษตรกร รัฐบาลได้กำหนดราคาประกันข้าวเปลือก ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,300 บาท ราคาอ้างอิง 1-15 ต.ค. 14,986 บาท รัฐบาลจ่ายชดเชย 314 บาท ราคาอ้างอิง 16-31 ต.ค. 14,940 บาท จ่ายชดเชย 360 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ราคาอ้างอิง 1-15 ต.ค. 13,899 บาท จ่ายชดเชย 401 บาท 16-31 ต.ค. 13,860 บาท จ่ายชดเชย 440 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ราคาอ้างอิง 1-15 ต.ค. 9,896 บาท จ่ายชดเชย 104 บาท ราคาอ้างอิง 16-31 ต.ค. 8,940 บาท ชดเชย 1,060 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกัน 10,000 บาท ราคาอ้างอิง 1-15 ต.ค. 8,806 บาท จ่ายชดเชย 1,194 บาท 16-31 ต.ค. 8,466 บาท จ่ายชดเชย 1,534 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกัน 9,500 บาท ราคาอ้างอิง 1-16 ต.ค. 7,523 บาท จ่ายชดเชย 1,977 บาท ราคาอ้างอิง 16-31 ต.ค. 7,470 บาท จ่ายชดเชย 2,030 บาท
นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำอย่างต่อเนื่อง มีผลมาจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ยังไม่เรียบร้อย โดยมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน 2.83 ล้านครัวเรือ คิดเป็น 76% ของเกษตรกรทั้งหมด ผลผลิต 26.48 ล้านตัน โดยผ่านประชาคมแล้ว 57% หรือ 1.63 ล้านครัวเรือน แต่มีการมาทำสัญญาเพียง 2,960 สัญญา ทำให้มีเกษตรกรจำนวนน้อยที่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการชดเชย และไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมโครงการกับรัฐอย่างไร จึงทำให้มีปัญหาถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อ และยังมีปัญหากรณีที่ธนาคารในแอฟริกาล้ม ทำให้การส่งออกข้าวนึ่งไปแอฟริกามีปัญหา และผู้ส่งออกไม่มีการซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อไปทำข้าวนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น