xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อบารัค โอบามา กลายเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ชาวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตเกียว – ช่วงหลังๆ มานี้ เมื่อ ยูทาโกะ ซากาอิ เลือกเพลงเปิดให้ลูกค้าในร้านเสริมสวยของเธอฟัง เธอไม่ได้หยิบซีดีเพลงบรรเลงเปียโนคลาสสิกเหมือนอย่างเคย ทว่ากลับเลือกซีดีชุดโปรดล่าสุดที่ชื่อ “สุนทรพจน์ของบารัค โอบามา ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ซึ่งสำนักพิมพ์อาซาฮี ผู้ผลิตสื่อด้านการเรียนภาษารายใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นผู้จัดทำและวางจำหน่าย

ซากาอิบอกว่าสุนทรพจน์ของโอบามาช่วยยกจิตวิญญาณของเธอให้สูงขึ้นและช่วยให้เธอได้เรียนภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว

“ลูกค้าเองก็ชอบซีดีชึดีชุดนี้มาก” ซากาอิซึ่งเปิดร้านในเมืองอายาเซ เขตคานางาวะ นอกกรุงโตเกียวเล่า

ไม่เฉพาะแต่ซากาอิและลูกค้าของเธอที่ชื่นชอบ ซีดีสุนทรพจน์และหนังสือคู่มือประกอบซีดีชุดนี้ขายดิบขายดีมาก มียอดขายสูงถึงราว 200,000 ชุด หลังจากเริ่มวางตลาดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้น ซีดีชุดรวมสุนทรพจน์ของโอบามาที่วางตลาดเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็ขายดียิ่งกว่านี้อีกโดยทะลุหลักห้าแสนไปแล้ว

ทั้งหมดนี้ช่วยยืนยันชัดเจนถึงบทบาทของโอบามาในการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับชาวญี่ปุ่น และแน่นอนว่าสำนักพิมพ์อื่น ๆ ต่างก็รีบเข็นซีดีเรียนภาษาแนวนี้กันออกมาอีกนับสิบชุด เช่น “คู่มือฝึกกล่าวสุนทรพจน์: เรียนรู้วิธีกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษสไตล์โอบามา” “เรียนไวยากรณ์อังกฤษจากโอบามา” และ “ ‘ใช่ เราทำได้’ กับโอบามา: 40 วรรคทองภาษาอังกฤษจากอีเมลของประธานาธิบดี” นอกจากนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพิมพ์อาซาฮีก็เปิดตัวซีดีสุนทรพจน์ของโอบามาชุดต่อมาคือ “โลกไร้อาวุธนิวเคลียร์” เป็นสุนทรพจน์ที่กรุงปรากเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

ขณะนี้พวกสำนักพิมพ์ต่างเร่งจับธุรกิจสอนภาษาต่างประเทศกันขนานใหญ่ สถาบันยาโน เซอร์จในโตเกียวระบุว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าถึง 767,000 ล้านเยน หรือ 8,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 โดยครอบคลุมทั้งหนังสือ พจนานุกรม ค่าสมัครโครงการอี-เลิร์นนิง การทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษมาตรฐาน และค่าเรียนภาษาแบบรายบุคคล

อันที่จริงแล้วชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้กำลังเรียนภาษาอังกฤษ มักรู้สึกว่ามีปัญหาในการฟังและทำความเข้าใจสุนทรพจน์ของเจ้าของภาษา แต่ศาสตราจารย์ทาดาฮารุ นิกาอิโด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร บอกว่า “ภาษาอังกฤษของโอบามาฟังเข้าใจง่ายเพาะเขาออกเสียงคำต่างๆ ชัดเจน และพูดค่อนข้างช้า … แต่ถ้าเป็นภาษาในภาพยนตร์ก็จะยากที่สุดสำหรับคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะตอนที่นักแสดงบ่นพึมพำเบาๆ”

ศาสตราจารย์นิกาอิโดอธิบายอีกว่า โอบามารู้จักเลือกใช้วงศัพท์ที่กว้าง ไม่ว่าคนมีการศึกษาสูงหรือการศึกษาต่ำก็สามารถเข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้ แถมบางครั้งยังครอบคลุมคำศัพท์ที่คนไม่ใช้เจ้าของภาษาก็ยังเข้าใจได้ด้วย

กระนั้นก็ตาม มีผู้ซื้อซีดีอีกกลุ่มใหญ่ที่ซื้อซีดีสุนทรพจน์ของโอบามาโดยไม่ได้มุ่งฝึกทักษะภาษาอังกฤษอย่างจริงจังเท่าไรนัก ดังที่ยูโซ ยามาโมโต บรรณาธิการคนหนึ่งของอาซาฮี ตั้งข้อสังเกตว่านับแต่วางตลาดซีดีชุดนี้ เขาได้รับไปรษณียบัตรจากลูกค้าที่เขียนมาเล่าว่ารู้สึกประทับใจสุนทรพจน์ของโอบามาอย่างยิ่ง

“ลูกค้ากลุ่มนี้บอกว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าใจภาษาอังกฤษทั้งหมดตาม บางคนถึงกับท่องจำถ้อยคำที่ประทับใจ เช่น ‘Yes, we can.’ เป็นต้น พวกเขาบอกว่าแค่ได้ฟังก็น้ำตาไหลแล้ว”

ยามาโมโตบอกว่าสไตล์การพูดของโอบามาแสดงความจริงใจอยู่ในน้ำเสียงซึ่งผู้ฟังรับรู้ได้ แถมเขายังมีท่วงทำนองการพูดที่เกือบจะคล้ายเสียงเพลงอีกด้วย ... สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกจับใจ เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับเมื่อได้ฟังบทเพลงไพเราะนั่นเอง”

นอกจากนั้น การทำความเข้าใจสุนทรพจน์ของโอบามายังมีตัวช่วยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คำพูดของเขาโดยตรงด้วย ซึ่งได้แก่ เสียงตอบรับจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันกล่าวสุนทรพจน์ของโอบามา อันเป็นเสียงฉากหลังอยู่ในซีดี ศาสตราจารย์นิกาอิโออธิบายว่า “เสียงของผู้ฟังที่ร่วมเหตุการณ์ ก็เหมือนเสียงแบ็กกราวด์ที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มักแทรกเข้าไปเพื่อสื่ออารมณ์ของเรื่องราวให้ชัดขึ้น”

ทั้งหมดนี้น่าจะอธิบายได้ว่าทำไมเจ้าของร้านเสริมสวยอย่างซากาอิรวมทั้งลูกค้าของเธอจึงติดอกติดใจโอบามากันนัก ซากาอิบอกว่าภาษาอังกฤษของเธอยังไม่อยู่ในระดับใช้การได้ เวลาเดินทางไปต่างประเทศเธอจึงต้องพึ่งพาผู้อื่นช่วยแปล แต่พอได้ฟังโอบามาพูด เธอรู้สึกว่าเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ได้ง่ายมาก จนกระทั่ง “ดิฉันรู้สึกยังกับว่าไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่นเลยทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม บางคนก็มีความเห็นว่าการเกิดกระแสศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อคำพูดต่างๆ ของโอบามาในญี่ปุ่นนั้น อาจสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมญี่ปุ่นด้วย โดยเฉพาะในหมู่ประชาชนทั่วไปซึ่งกำลังต้องการผู้นำที่มีทักษะด้านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีพลวัต และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทบไม่เคยมีอยู่ในวัฒนธรรมทางการเมืองของญี่ปุ่นเลย

ยามาโมโตกล่าวว่าเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ผู้คนรู้สึกหมดหวังและมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า จนกระทั่งพวกเขา “เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ทำไมถึงไม่มีคนอย่างโอบามาในญี่ปุ่นบ้าง จะได้มาสร้างความหวังและกำลังใจให้พวกเรา”

ซ้ำร้ายเมื่อตอนนี้หนังสือต่าง ๆ ของโอบามาวางตลาดในปีนี้ กลับเป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้นคือทาโร อาโซะ กำลังทำเรื่องขายหน้าต่อสาธารณชนหลายครั้งด้วยกัน แต่ที่แย่หนักก็คืออาโซะถึงกับอ่านอักษรคันจิของญี่ปุ่นเองผิดไป

คงด้วยเหตุนี้เอง ในเวลาต่อมาหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการนำเอาทักษะการสื่อสารของโอบามามาปรับใช้กับแวดวงธุรกิจและการเมืองของญี่ปุ่น แม้แต่ศาสตราจารย์นิกาอิโดก็เพิ่งจัดพิมพ์หนังสือของเขาเองเล่มหนึ่งชื่อ วิธีสร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ฟัง: บทเรียนจากสุนทรพจน์เชิงยุทธศาสตร์ของโอบามา และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็มีหนังสือแนวนี้วางจำหน่ายอีกเกือบสิบเล่มทีเดียว

จอห์น อาร์ แฮร์ริส นักเขียนสุนทรพจน์ชาวแคนาดาซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในเขตชิบะ ย่านชานเมืองของโตเกียว และทำงานใกล้ชิดกับนักการเมืองญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง กล่าวว่า เขารู้ดีว่าการสื่อสารทางการเมืองในญี่ปุ่นนั้นแห้งแล้งขนาดไหน “คนญี่ปุ่นไม่มีศิลปะในเรื่องนี้มาก่อนเลย และเพิ่งกำลังแสวงหามันอยู่”

แฮร์ริสอธิบายเหตุผลอีกว่า “ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่น พรรคการเมือง หรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีคนญี่ปุ่นมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กระบวนการอยู่ร่วมกันที่สำคัญของพวกเขาคือการสร้างความเป็นเอกภาพ และผลลัพธ์ก็จะต้องมีเอกภาพ แต่ทว่าเอกภาพนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มไม่ใช่สิ่งที่ออกมาข้างนอก จึงไม่แปลกที่พวกเขามักจะละเลยผู้ฟังภายนอกไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น