xs
xsm
sm
md
lg

“วรรณรัตน์”เปิดทางเพิ่มส่วนต่าง เงินนำเข้าแอลพีจีเกิน500ล./เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-  วรรณรัตน์ส่งสัญญาณไฟเขียวให้กบง.อนุมัติเพิ่มส่วนต่างวงเงินชดเชยแอลพีจีนำเข้าให้กองทุนน้ำมันฯ เกินเดือนละ 500 ล้านบาทได้หลังการนำเข้าพุ่งกระฉูดเฉลี่ย 8.7-8.9 หมื่นตันต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนฯต้องจ่ายส่วนต่างราคานำเข้าพุ่งเป็นเดือนละ 700 ล้านบาท
 
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  การนำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีของไทยในช่วง 2-3 เดือนนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 8.7-8.9 หมื่นตันต่อเดือนส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยเพิ่มขึ้นซึ่งเกินกว่าที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.)กำหนดไว้ที่ไม่เกินเดือนละ 500ล้านบาทอย่างไรก็ตามมติกบง.ได้เปิดทางแล้วว่าหากนำเข้าเพิ่มขึ้นทางสำนักงานบริหารกองทุนพลังงาน(สบพ.)สามารถเสนอกบง.ให้เพิ่มวงเงินได้

“ ยอมรับว่าการนำเข้าแอลพีจีนั้นเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหันมาใช้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสาขาอื่นๆ ก็ใช้เพิ่มเช่นกันเนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง และที่สำคัญแอลพีจีราคาตลาดโลกเดือนต.ค.ขยับมาอยู่ที่ 583 เหรียญสหรัฐต่อตันทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องเข้าไปชดเชยราคาการนำเข้ามากขึ้น”รมว.พลังงานกล่าว  

ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้แอลพีจีและลดปัญหาขยะของประเทศ ทางกระทรวงพลังงาน ได้รณรงค์ให้ชาวบ้านจัดทำโครงการหมักก๊าซชีวภาพจากขยะ โดยขยะทั่วประเทศมีประมาณ 40,000 ตัน/วัน หากมีการนำขยะอินทรีย์ที่มีประมาณ 1 ใน 4 มาทำก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม ก็คาดว่าจะทดแทนได้ครึ่งหนึ่งของก๊าซหุงต้มหรือจะทดแทนได้ประมาณ 100,000 ตัน/เดือน

ดังนั้นกระทรวงพลังงานจับมือ กทม.ส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม. 40 แห่ง เร่งกำจัดขยะเศษอาหารในโรงเรียน ลดปัญหาขยะล้นเมือง แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการกำจัดขยะอินทรีย์ในโรงเรียนลงสู่แหล่งฝังกลบ ได้ 320 ตัน/ปี การนำก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ทดแทนก๊าซ LPG ได้ 9.2 ตันต่อปี ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 32 ตันต่อปี  โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ20,000 ลูกบาศก์เมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงานคาดว่าการนำเข้าแอลพีจีจะอยู่ในระดับ 8.7-8.9 หมื่นตัน/เดือน โดยหากคำนวณราคาต่างประเทศที่ระดับ 580-600 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ราคาในประเทศอยู่ที่ประมาณ 320-330 ดอลลาร์/ตันแล้ว ส่วนต่างนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท/เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น